วันนี้ (24 พฤษภาคม 2567) สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทหาร ขึ้นเสวนาในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เชื่อมโยงกับความท้าทายของประเทศไทย ในงาน Thailand 2024: Surviving Geopolitics ของ Matichon Forum 

สุรชาติเริ่มอธิบายว่า หากพิจารณาจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หรือการมองภูมิศาสตร์ผ่านแว่นทางการเมือง ขณะนี้โลกกำลังเผชิญ 3 โจทย์ใหญ่สำคัญ ได้แก่ สงครามความขัดแย้ง เชื้อโรค และภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) 

ทั้งหมดนี้สะท้อนจากเหตุการณ์ทั่วโลกในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา นับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11, โรคโควิด-19, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามในกาซา (Gaza), ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้, สงครามกลางเมืองในพื้นที่รัฐชายขอบ เช่น ซูดาน, มาลี, เฮติ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดไข้หวัดนกในมนุษย์ ที่กำลังเกิดขึ้นในบางส่วนของโลกก็ตาม ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันหมด

ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มยกตัวอย่างว่า ผลลัพธ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดความปั่นป่วน (Disruption) ขนานใหญ่ เริ่มจากราคาขนมปังขึ้น เพราะยูเครนคือแหล่งธัญพืชใหญ่ของโลกและแอฟริกา ซึ่งนำไปสู่วิกฤตทางอาหารและพลังงาน จนกระทบกับค่าครองชีพ ตลาดการเงิน และราคาทองคำโลก ขณะที่ภาวะโลกรวนก็เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของโลกอีกด้วย

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ คนจำนวนไม่น้อยรู้สึก ‘ชินชา’ กับสถานการณ์ ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา ขณะที่รัฐไทยก็เล็งเห็นถึงปัญหา แต่ยังไม่สามารถหาวิธีตั้งหลักรับมือได้ ซึ่งต่างกับชาติยุโรปที่มีความรู้สึกตื่นกลัวและกังวลถึงสงครามขนานใหญ่ในระดับ ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’

แน่นอนว่าประเทศไทยมีการปรับตัว โดยแบ่งเป็น 2 มิติ คือภาครัฐและภาคสังคม ในส่วนของภาคสังคม กลุ่มเอกชนปรับตัวรับมือกับวิกฤตเหล่านี้เหมือนในระดับโลก เพราะเขารู้ดีว่าไม่เปลี่ยนแปลงย่อมเท่ากับตาย แต่ปัญหาในระดับภาครัฐคือระบบราชการ โดยต้องยอมรับตามตรงว่า กระแสขับเคลื่อนของไทยล่าช้า ไม่รวดเร็วอย่างที่คิด ซึ่งส่งผลต่อการรับมือและการจัดการทางทหารอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นหากจะหาทางออกที่ทำได้จริง ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเห็นว่า กองทัพและรัฐไทยควรเปลี่ยนวิธีคิดและการแก้ไขปัญหาแบบ VUCA (Vision, Understanding, Certainty, Agility) ซึ่งยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เป็น UAV (Understanding, Awareness, Vision) ที่มีความสั้นกระชับ เรียบง่าย และไม่ผูกอยู่กับอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องเริ่มจากการนิยามความแข็งแกร่งในโลกสมัยใหม่ เพราะคนรุ่นเก่ามักผูกโยงกับพลังอำนาจทางทหาร คำตอบจึงมักออกมาในรูปแบบการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เห็นอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ เครื่องตรวจระเบิด GT200 ที่ถูกเรียกว่า ‘ไม้หาหลุมศพ’ รถถังจากยูเครนที่ยังไม่ทราบจำนวน และเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์จากจีน

สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร การรัฐประหารในปี 2557 มีความน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งเป็นสมัยที่มีการซื้อขายอาวุธมากที่สุด และหันเหจากค่ายสหรัฐฯ มายังจีน โดยเฉพาะการซื้อขายเรือดำน้ำจีนที่กลายเป็นมหากาพย์ ‘ฉาวโฉ่’ เพราะทั่วโลกต่างจับตามองว่า ไทยจะแก้ปัญหาที่ไม่ได้เครื่องยนต์จากเยอรมนีอย่างไร แต่ท้ายที่สุด เรากลับแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าหาจีน

นอกจากนี้ การมีอยู่ของ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ที่เริ่มต้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะนั่นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่แท้จริง โดยสุรชาติเห็นว่า มีผู้อ่านและเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก แต่กลับมีคนได้รับประโยชน์มหาศาล ซึ่งตนพยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตลอด

ขณะเดียวกัน หากมองในมิตินโยบายต่างประเทศ มักมีข้อเรียกร้องจากฝ่ายขวาจัดว่า ประเทศไทยจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเวทีโลก ทุกอย่างต้องอยู่ในบ้าน หรือกล่าวง่ายๆ ว่า นโยบายต่างประเทศของไทยต้องเป็นกลาง แต่กลับสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยม เช่นรัฐบาลทหารในเมียนมา 

“ตกลงความเป็นกลางที่ไทยพูดคืออะไร หรือมีความหมายเดียวว่า ไทยจะไม่มีบทบาท หรือประโยคหนึ่งที่นักรัฐศาสตร์ชอบพูดว่า ไทยจะเป็นสนลู่ลม คำถามคือ ถ้าลมแรงสองด้าน สนจะลู่หมดไหม หรือต้นสนหักไปตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 แล้ว”

หรือแม้แต่กระแสเสรีนิยมที่เรียกว่า Globalist กลุ่มที่เชื่อว่า ไทยควรไปกับกระแสโลก แต่สุรชาติตั้งคำถามต่อว่า เราจะเดินอย่างไรในโลกตามข้อเรียกร้อง สมมติหากมีมติรัสเซีย-ยูเครนเข้าสู่ในเวทีองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ไทยจะงดออกเสียงอีกต่อไปหรือไม่ หรือจัดการต่อเวทีการเจรจาในสงครามกลางเมืองเมียนมาอย่างไร

ก่อนจะปิดท้ายเสวนาในช่วงแรก มีคำถามถึงกระแสรัฐประหารในประเทศไทย สุรชาติเชื่อว่า การรัฐประหารยังคงเป็นปัญหาในสังคมไทยเหมือนเดิม และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่า รัฐไทยฝ่าฝืนระเบียบโลกแบบเสรีนิยม สะท้อนจากปรากฏการณ์ในปี 2567 ที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้ง

และหากเทียบกับบริบทขวาในทั่วโลก สังคมไทยควรเรียนรู้จากขวาในยุโรป เพราะไม่จำเป็นที่กระแสขวาต้องผูกโยงกับการรัฐประหารเพียงอย่างเดียว เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และแคนดิเดตตัวเต็งในการเลือกตั้งปลายปี 2567, มารี เลอ เปน (Marine Le Pen) นักการเมืองหญิงฝ่ายขวาจัดในฝรั่งเศส หรือแม้แต่ จอร์จา เมโลนี (Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีอิตาลี ต่างผูกโยงอุดมการณ์เข้ากับกระแสประชานิยม (Populism) เป็นสำคัญ

“ขวาจัดไทยคือขวาที่ล้าหลังที่สุด เพราะคิดแต่เรื่องรัฐประหาร” สุรชาติแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่า การที่ไทยทำตัวเป็นมนุษย์ล่องหน หรือดำเนินนโยบายตามแนวทางโดดเดี่ยวนิยม (Isolationism) ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และสังคมไทยต้องการเวทีทางความคิด แสดงความคิดเห็นหรือถกเถียงเพื่อมองอนาคตร่วมกัน

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,