วันนี้ (28 เมษายน 2568) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2568 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติและการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนมีแนวโน้มชะลอตัวลง อีกทั้งยังต้องติดตามนโยบายจากประเทศคู่ค้ารายสำคัญ อย่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป
พรชัยแถลงในรายละเอียดถึงตัวเลขการส่งออกไว้ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 17.8 หากจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักจะพบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 34.3 และจีนเติบโตร้อยละ 22.2
โดยมีกลุ่มสินค้าที่ได้รับการเติบโต ได้แก่ สินค้าหมวดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา ผลไม้แปรรูป และอาหารสัตว์ ขณะที่สินค้าจำพวกข้าว น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปรับตัวลดลง
ในด้านการท่องเที่ยว ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่า ในเดือนมีนาคม 2568 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 2.72 ล้านราย ถือว่าลดลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.8
ขณะที่ดัชนีผลผลิตทางการเกษตรในเดือนมีนาคม 2568 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.1 เช่น ข้าวและยางพารา อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 91.8 จาก 93.4 เพราะได้รับปัจจัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว รวมถึงการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
พรชัยแถลงต่อว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากเดิมที่ 57.8 มาอยู่ที่ 56.7 เป็นเพราะจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง รวมถึงสงครามการค้าที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้พรชัยมองว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับ ‘ดี’ สะท้อนให้เห็นจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2568 ที่ร้อยละ 0.84 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 0.86 ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 64.2 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก พรชัยมองว่ายังคงขยายตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั่วโลก (Global Composite Purchasing Managers’ Index) ในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 52.1 สูงกว่าระดับ 50.0 ซึ่งเป็นจุดบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีทิศทางขยายตัว
“นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง รวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง” พรชัยทิ้งท้าย
Tags: ส่งออก, ท่องเที่ยว, เศรษฐกิจ