สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานผลสำรวจจาก Credit Karma แอปพลิเคชันทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ใช้งานกว่า 60 ล้านคน ว่าจากการสอบถามผู้ใช้วัยมิลเลนเนียลส์ (Millennials) 1,045 คน หรือผู้ที่อายุระหว่าง 23-38 ปี (ระบุโดย Pew Research Center) พบว่า 40% ของคนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเยอะจนเป็นหนี้จากการออกไปพบปะสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน

27% จากกลุ่มผู้ร่วมตอบแบบสอบถามไม่กล้าปฏิเสธเวลาเพื่อนชวนทำกิจกรรมที่พวกเขาจ่ายไม่ไหว เพียงเพราะต้องการรักษามิตรภาพ, 36% รู้สึกเสียดายกับการใช้จ่ายจากนัดที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าและตั้งเป้าว่าจะต้องควบคุมการใช้เงินได้ดีขึ้นในปีหน้า, กว่า 75% ปกปิดปัญหาทางการเงินและหนี้สินจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีข้อมูลว่าชาวมิลเลนเนียลส์ในอเมริกามีหนี้สินโดยเฉลี่ยถึง 4.6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) ที่มาจากความกลัวจะไม่เข้าพวกหรือตามกระแสสังคมไม่ทัน (Fear Of Missing Out: FOMO)

จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมามีเทรนด์การพูดถึง ‘Low-Maintenance Friendship’ อย่างแพร่หลายบนโลกโชเชียลมีเดียในกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ไปจนถึง Gen Z ว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เพราะให้ความสบายใจ และส่งผลดีต่อกระเป๋าสตางค์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคำนี้ไม่ใช่คำใหม่

นิตยสารคอสโมโพลิแทน (Cosmopolitan) เคยอธิบายมิตรภาพประเภทนี้ไว้ในบทความตั้งแต่ปี 2016 ว่า ‘Low-Maintenance Friendship’ ถ้าแปลแบบตรงตัวคือมิตรภาพที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเยอะ โดย ‘ค่าใช้จ่าย’ นั้นหมายถึงการใช้เวลานัดเจอหรือพูดคุยกันตลอดเวลา

เพื่อนประเภทนี้จะต่างคนต่างใช้ชีวิตตามเป้าหมายของตัวเอง แล้วกลับมาอัพเดตความเป็นไปกันแค่เวลามีเรื่องสำคัญเท่านั้น และทุกครั้งที่ได้เจอกันพวกเขาจะใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรภาพแบบที่มีความสนิทมาก ดราม่าน้อย พวกเขาอาจไม่สามารถตอบได้ว่าสามวันก่อนอีกฝ่ายไปเที่ยวที่ไหนมา โพสต์รูปอะไร แต่หากถามว่าปัญหาข่วงนี้ของอีกฝ่ายคืออะไร พวกเขาไปได้ดีกับชีวิตการทำงานแค่ไหน สภาพจิตใจปกติดีหรือไม่ เพื่อนประเภทนี้จะตอบได้ จากระดับความรู้จักกันที่ลึกซึ้ง

เมลานี รอส มิลส์ (Melanie Ross Mills) นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านมิตรภาพกล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Vox ว่า ความสัมพันธ์กับเสถียรภาพทางการเงินเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่นการที่เพื่อนสองคนมีรายได้ไม่เท่ากันก็สามารถสร้างปัญหาได้ หากพวกเขาไม่เปิดใจคุยกันมากพอเวลาจะนัดกันไปทำกิจกรรม มิลส์ยกตัวอย่างในกรณีที่ต้องไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน แล้วเพื่อนที่รวยกว่าอยากซื้อบัตรหน้าสุดที่แพงจนเพื่อนรายได้น้อยไม่สามารถซื้อได้ แต่อาจจะต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้ เพราะไม่อยากผิดใจกัน ซึ่งปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น หากพวกเขาอยู่ในความสัมพันธ์ที่สนิทใจและตกลงกันได้ เพื่อนที่มีรายได้สูงสามารถแสดงความใส่ใจได้จากการประเมินมาก่อนว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเบียดเบียนเงินในกระเป๋าของอีกฝ่ายหรือไม่ และเพื่อนที่มีรายได้น้อยก็สะดวกใจที่จะปรับเปลี่ยนแผนใหม่ หรือแม้แต่การปฏิเสธนัดไปตามตรง

ผลสืบเนื่องจาก Low-Maintainace Friendships ต่อการควบคุมการใช้จ่ายของคนรุ่นใหม่ คือความถี่ที่ลดลงจากการเจอกัน พวกเขาไม่จำเป็นต้องนัดปาร์ตี้กันทุกวันศุกร์ หรือไปดูภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าใหม่ และการเจอกันแต่ละครั้งจะต้องวางแผนอย่างละเอียด ว่าไปที่ไหน ทำอะไรบ้าง ใช้เวลานานเท่าไร โดยทุกฝ่ายต้องเห็นร่วมกันว่าการนัดพบครั้งนี้เกิดจากความสบายใจจริงๆ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเข้าใจและรู้ใจเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ที่มา

https://www.creditkarma.com/insights/i/fomo-spending-affects-one-in-four-millennials

https://www.cnbc.com/2018/04/20/a-shocking-number-of-millennials-are-going-into-debt-just-to-keep-up-with-their-friends.html

https://www.cosmopolitanme.com/life/224-11-reasons-why-low-maintenance-friendships-are-the-best

https://www.refinery29.com/en-gb/low-maintenance-friendships 

 

ภาพ: IMDb ซีรีส์เรื่อง Stranger Things

Tags: , ,