วันนี้ (19 มกราคม 2567) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจงกรณีพบแหล่งลิเทียมจำนวนมากในประเทศไทย พร้อมกับชี้แจงว่า มีการพบแหล่ง 14.8 ล้านตันที่เป็นแร่ลิเธียม (Lithium Resource) จริง แต่เป็นส่วนที่หมายถึง Mineral Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมที่โลกใช้เทียบกัน จึงอาจเข้าใจคาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

“สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (Pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า”

อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ระบุว่า แร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกสำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติม หากมีการสำรวจในอนาคต

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียม 3 แปลงในจังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในจังหวัดอื่น เช่น จังหวัดราชบุรี จังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้สำรวจแร่พื้นฐานและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม

สำหรับข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งแถลงข่าวว่า ไทยค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมกว่า 14.8 ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินา

อย่างไรก็ตาม จากคำแถลงของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่ได้ระบุถึงตัวเลขแร่ลิเทียมว่าเป็นอันดับ 3 ของโลกแต่อย่างใด

Tags: ,