หลังเยอรมนีจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เกิดการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศที่เรียกได้ว่า ‘ก้าวกระโดด’ เมื่อพรรคกรีน หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลได้แต่งตั้ง กรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในเยอรมนี เพื่อดูแลเรื่องสิทธิความเท่าเทียม วางกลยุทธ์ต่อสู้กับความคิดเห็นเชิงเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และตอนนี้ประเด็นเรื่อง LGBTQ+ ในประเทศพุ่งทะยานขึ้นอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักบวช ครูสอนศาสนา เจ้าหน้าที่ธุรกิจของคริสตจักรคาทอลิก ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองมีความรู้สึกชอบพอต่อเพศเดียวกัน และความรู้สึกหรือตัวตนของพวกเขาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย
สิ่งที่ชาว LGBTQ+ ในคริสตจักรต้องการบอกกับผู้คน หลังจากออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศ ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการเป็นอันดับต้นๆ คือเรื่องพื้นฐานอย่าง ‘การใช้ชีวิตปกติโดยไม่ต้องปกปิดและไม่ต้องหวาดกลัวอะไร’ โดยพวกเขาจะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศผ่านโครงการ #OutInChurch เพื่อทำให้คริสตจักรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากความรู้สึกหวาดกลัว และขอให้คริสตจักรเลิกทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมขอให้ยอมรับว่า LGBTQ+ มีตัวตนอยู่จริง
การที่ทำให้คนในคริสตจักรออกมาเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งมาจากเอกสารความยาวสองย่อหน้าของสมณกระทรวงแห่งพระสัจธรรมหรือสมณกระทรวงว่าด้วยคำสอนแห่งความเชื่อ (Congregation for the Doctrine of the Faith) แห่งวาติกัน ที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ระบุว่า คริสตจักรจะไม่ให้พรแก่คู่รักเพศเดียวกัน เนื่องจากการแต่งงานของเพศเดียวกันถือเป็นบาป จึงไม่สามารถให้พรที่เป็นบาปได้ เอกสารดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า ได้รับการอนุมัติจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิกแล้ว
‘ไม่มีหลักคำสอนพื้นฐานใดที่เขียนว่าการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันจะเป็นไปไม่ได้ และไม่ถูกต้องตามกฎที่จะให้พรแก่ความสัมพันธ์ที่อยู่นอกเหนือการสมรสแบบชายหญิงที่จะนำไปสู่การก่อเกิดชีวิตใหม่ ถึงอย่างนั้น การให้พรแก่กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศที่อยู่ในรีตยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ เท่ากับเป็นการยืนยันว่าโบสถ์คาทอลิกและนักบวชคริสต์จะไม่สามารถให้พรกับคู่รักได้ แม้พวกเขาจะอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างความรู้สึกผิดหวังกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกทั่วโลก’ – ตอนหนึ่งของเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
ในช่วงแรกที่วาติกันปล่อยเอกสารดังกล่าว เสียงวิจารณ์แตกออกเป็นสองฝ่ายทันที ทั้งสร้างความพึงพอใจต่อกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มต่อต้านความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และเรียกร้องให้ปฏิรูปและอภิปรายคำสอนทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเพศเสียใหม่
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่ต่อยอดให้กลุ่มคนในคริสตจักรที่เยอรมนี เริ่มคิดกันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถทำงานร่วมกับคริสตจักรได้ เพราะหากยังคงมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าใกล้ศาสนา นั่นเท่ากับว่ากำลังเกิดการเลือกปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อยู่หรือไม่ และเรียกร้องให้อธิการแถลงการณ์สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า “LGBTQ+ ไม่ควรต้องเดียวดาย พวกเขาควรได้รับพรจากพระเจ้าเช่นกัน”
ในแฮชแท็ก #OutInChurch ยังมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับบางประการในกฎหมายแรงงานของคริสตจักร โดยขอให้อย่าเอาชีวิต รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ มากีดกันการเข้าทำงานหรือนำมาเป็นเหตุผลในการเลิกจ้าง รวมถึงพูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนโดยบาทหลวงอีกด้วย
อาเคน บิชอป เฮลมุท ดีเซอร์ (Aachen Bishop Helmut Dieser) ระบุว่า จะรับฟังประเด็นดังกล่าว ไม่มีใครควรถูกเลือกปฏิบัติ ถูกลดค่า หรือทำให้เป็นอาชญากรเพียงเพราะรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศไม่ถูกใจใคร โดยจะนำเรื่องเข้าไปยังการประชุมบิชอปแห่งเยอรมนี เพื่อทำให้แน่ใจว่าคริสตจักรเต็มไปด้วยบรรยากาศแหงอิสรภาพ ปราศจากความหวาดกลัว และหากทำได้จะถือเป็นชัยชนะของตัวคริสตจักรเอง เพราะ “พระเจ้ารักทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข”
อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางเพศกับศาสนายังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ยังมีผู้คนอีกมากที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เวลาเดียวกัน ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ผลักดันให้ LGBTQ+ กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะพวกเขาถูกคนในสังคมบางกลุ่มตัดสินว่าไม่ปกติ แต่ในกรณีของศาสนา อาจใช้เวลาในการปรับตัว มากกว่าสังคมทั่วไปมากพอดู
อ้างอิง
https://www.dw.com/en/lgbtq-rights-germany-appoints-first-commissioner-for-queer-affairs/a-60351173
https://www.thelocal.de/20220124/lgbt-catholic-officials-stage-mass-coming-out-in-germany/
Tags: LGBT, Global Affairs, คาทอลิก, LGBTQ, ความหลากหลายทางเพศ, ศาสนาคริสต์, ความเท่าเทียมทางเพศ, The Momemtum, เพศกับศาสนา, Report, เยอรมนี