วันนี้ (15 เมษายน 2024) สำนักข่าวแชนเนลนิวส์เอเชีย (Channel News Asia) สื่อสิงคโปร์รายงานว่า ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) กำลังจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันพรุ่งนี้ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังวัย 51 ปีต่อไป
ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ในช่วงบ่ายว่า การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเริ่มขึ้นในเวลา 08.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ที่ทำเนียบอิสตานา (Istana) หลัง ลอว์เรนซ์ หว่องได้รับแรงสนับสนุนอย่างล้นหลามภายในพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party: PAP)
ทั้งนี้ ลี เซียนลุงแสดงความคิดเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งนี้เปรียบเสมือนช่วงเวลาสำคัญของประเทศ ก่อนย้ำว่า หว่องพร้อมด้วยกลุ่ม ‘4G’ หรือผู้นำรุ่นที่ 4 (Fourth-Generation) ของพรรค ทำให้ประชาชนไว้วางใจจากศักยภาพการทำงานในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้นำสิงคโปร์ยังประกาศต่อด้วยว่า หากทุกอย่างไปเป็นด้วยดีและราบรื่น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในพรรค PAP จะเกิดขึ้นภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นวันก่อตั้งพรรคปีที่ 70
ก่อนหน้านี้ ลี เซียนลุงมั่นหมายว่า เขาจะลงจากตำแหน่งผู้นำก่อนอายุ 70 ปี ทว่าแผนการดังกล่าวถูกสกัดกั้นด้วยวิกฤตโควิด-19 ท่ามกลางกระแสจับตามองว่า เขาจะส่งไม้ต่อให้กับ เฮง สวีเคียต (Heng Swee Keat) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
อย่างไรก็ตาม เฮง สวีเคียตถอนตัวในปี 2021 ด้วยเหตุผลด้านความเหมาะสมและอายุของเขาในวัย 60 ปี นั่นจึงทำให้ หว่อง ตัวเต็งอายุน้อยที่สุดในวัย 49 ปีขณะนั้น ได้รับความไว้วางใจภายในพรรคให้ดำรงสำคัญต่อจากลี เซียนลุง ซึ่งผู้นำสิงคโปร์เองก็เอ่ยปากตั้งแต่ปลายปี 2023 ว่า เขาจะมอบตำแหน่งให้กับหว่อง ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 2025
หากย้อนกลับไป เส้นทางชีวิตของหว่องน่าสนใจเป็นพิเศษ เริ่มจากการที่เขาเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล เรียนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ในสหรัฐอเมริกา ก่อนเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)
ลักษณะเหล่านี้ต่างจากนักการเมืองรุ่นใหญ่รวมถึงลี เซียนลุง ที่จบการศึกษาด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ประเทศอังกฤษ ขณะที่ชีวิตในวัยเด็กของเขายังไม่ได้เลือกเรียนโรงเรียนผู้ดี หากแต่เลือกเรียน ‘โรงเรียนใกล้บ้าน’ เพราะไม่อยากเดินทางไกล พร้อมกับเติบโตไปกับเพื่อนๆ ในวัยเด็ก
นอกจากนี้ หว่องยังไม่ได้มีรากเหง้าจากครอบครัวนักการเมืองหรือผู้นำระดับประเทศ พ่อของเขาเกิดในมณฑลไหหนาน (Hainan) ประเทศจีน ก่อนย้ายไปอยู่ที่มาเลเซียและเดินทางมาทำงานที่สิงคโปร์ในฐานะพนักงานขาย ขณะที่แม่ของเขาเป็นชาวสิงคโปร์โดยกำเนิด ประกอบอาชีพครูโรงเรียนประถมฯ ที่ Haig Boys’ Primary ซึ่งหว่องและพี่ชายคนโตของเขาก็เป็นศิษย์เก่าเช่นเดียวกัน
ในด้านชีวิตส่วนตัว หว่องยังเป็นนักกีตาร์ตัวยง ว่ากันว่าเขาหัดเล่นกีตาร์มาตั้งแต่อายุ 8 ปี นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเลือกเรียนที่สหรัฐฯ เนื่องจากมีนักดนตรีที่เขาชื่นชอบ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาชื่นชอบดนตรีแนวร็อก บลูส์ และโซล
หว่องแต่งงานใหม่กับ ลู เจ๋อลุย (Loo Tze Lui) ที่มีดีกรีระดับรองประธานสมาคมคริสเตียนเยาวชน (Young Men’s Christian Association: YMCA) หลังจากหย่าร้างกับภรรยาคนก่อนหน้าด้วยสาเหตุเข้ากันไม่ได้ ทว่าก็จบลงด้วยดีและไม่มีลูกด้วยกัน
สำหรับเส้นทางการเมือง หว่องเริ่มจากการเป็นข้าราชการ โดยมีประสบการณ์ใน ‘งานใหญ่’ หลายครั้ง รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (Principal Private Secretary to the Prime Minister) ระหว่างปี 2005-2008
กระทั่งปี 2010 หว่องมีโอกาสร่วมทำงานในคณะรัฐมนตรีของลี เซียนลุง ด้วยการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สังคม และเยาวชน ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติตั้งแต่ปี 2012-2020
ต่อมาในปี 2020 เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทั่ง เฮง สวีเคียตตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นนายกฯ เขาจึงได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเปรียบดังธรรมเนียมสำคัญของการเป็นผู้นำสิงคโปร์ เพื่อสะสม ‘ผลงาน’ ในด้านการบริหารเศรษฐกิจ ไม่ต่างจากลี เซียนลุง หรือแม้แต่ โก๊ะ จ๊กตง (Goh Chok Tong) อดีตนายกรัฐมนตรีที่ก็เคยเลือกเส้นทางนี้
แต่ผลงานอันโดดเด่นจนทำให้ลี เซียนลุง จับตามองเขาเป็นพิเศษ คือการจัดการโควิด-19 ทั้งการ ‘ล็อกดาวน์’ และการผ่อนปรนมาตรการอย่างถูกจังหวะ ทำให้สิงคโปร์ควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่นในโลก
แม้จะคว้าใจลี เซียนลุง และประชาชนจำนวนไม่น้อย ทว่าความท้าทายสำคัญของหว่องก็คือการหนีจาก ‘เงา’ ของผู้นำสิงคโปร์รายนี้ ไปพร้อมกับรักษาความนิยมของพรรค PAP ในฐานะพรรครัฐบาลเดียวที่ครองอำนาจของสิงคโปร์มานับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ท่ามกลางความท้าทายครั้งสำคัญ สะท้อนจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลังคะแนนเสียงของพรรค PAP ลดลงถึง 61.2% และพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงานสิงคโปร์ (Worker’s Party) เริ่มมีคะแนนมากขึ้น
หว่องเคยให้สัมภาษณ์อย่างน่าสนใจว่า จากนี้ต่อไปสิงคโปร์จะมีความท้าทายมากขึ้น สืบเนื่องจากการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้น และความต้องการความหลากหลายในรัฐสภาจากประชาชนสิงคโปร์ ดังที่ลี เซียนลุงกล่าวในรัฐสภาเมื่อในปี 2022 ว่า พรรค PAP อาจจะไม่ได้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ได้
ทั้งนี้ หว่องจะเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์คนที่ 4 และมีอายุมากเป็นอันดับ 2 ขณะดำรงตำแหน่ง รองจากลี เซียนลุง ที่นั่งเก้าอี้ผู้นำสิงคโปร์ในวัย 52 ปีเมื่อปี 2004 ขณะที่นายกฯ อายุน้อยที่สุดหนีไม่พ้น ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่อายุ 35 ปีเมื่อปี 1959
อ้างอิง
https://www.channelnewsasia.com/singapore/pm-lee-hsien-loong-lawrence-wong-handover-3898156
https://themomentum.co/politicianincrime-singapore/
Tags: พรรคกิจสังคม, สิงคโปร์, 4G, อาเซียน, ลี กวนยู, ลี เซียนลุง, ลอว์เรนซ์ หว่อง, การเมืองสิงคโปร์, พรรค PAP