1

สำนักข่าวนิกเคอิได้วิเคราะห์ว่า การปรับตำแหน่งคณะรัฐมนตรีของสิงคโปร์ครั้งต่อไป ให้จับตาว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะนี่คือการวางตัวทายาททางการเมือง ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศ พูดภาษาบ้านๆ ว่า นี่คือว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 4 ของเกาะเล็กๆ ที่เปี่ยมประสิทธิภาพที่สุดในโลก

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ดัชนีประชาธิปไตยนั้น พวกเขากลับอยู่อันดับที่ 66 จาก 167 ประเทศทั่วโลก มีอันดับแย่กว่ามาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 39 อินโดนีเซีย อันดับ 52 และฟิลิปปินส์ อันดับ 54 เสียอีก (แต่ดีกว่าประเทศไทยที่อยู่ในอันดับที่ 72)

ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสิงคโปร์ในปี 2020 พรรครัฐบาลได้เห็นว่าพลังของการต่อต้านเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่อยากให้ตัวเลือกในทางการเมืองมีหลากหลายกว่านี้

ชนชั้นนำสิงคโปร์ต่างรู้ดีว่า บางทีความหลากหลายทางการเมืองก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อประเทศ หลังจาก พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party: PAP) ครองอำนาจมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชมาเมื่อปี 1963 และผูกขาดตำแหน่งรัฐบาลอย่างยาวนาน

แต่โลกได้หมุนไปในจุดที่สิงคโปร์รู้ดีว่า หากพรรคกิจประชาชนอยากรักษาความสำเร็จเป็นรัฐบาลได้นั้น จำต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และนี่คือโจทย์สำคัญของผู้นำรุ่นที่ 4 หลังจากประเทศนี้มี ‘ลี กวนยู’ บิดาประเทศเป็นผู้นำรุ่นแรก ส่งต่อผ่านมายัง ‘โก๊ะ จกตง’ ผู้นำรุ่น 2 และปัจจุบันคือ ‘ลี เซียนลุง’ ลูกชายของ ลี กวนยู เป็นผู้นำรุ่นที่ 3

อนาคตแห่งผู้นำรุ่นที่ 4 มีโจทย์ท้าทายมากมาย และสิงคโปร์จะขยับไปทิศทางไหน นี่คือเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่โหมพัดกระหน่ำกันทั้งโลก

 

2

ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะมีอายุครบ 70 ปีแล้ว ด้วยอายุอานามที่เยอะมาก ทำให้หลายฝ่ายมองว่า คงจะถึงเวลาที่เขาต้องลงจากบัลลังก์นายกรัฐมนตรี และส่งผ่านให้กับผู้นำคนอื่นแทน

เดิมนั้นนักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ‘เฮง สวีเคียต’ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมนั้นเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลังมาก่อน น่าจะมีโอกาสได้เป็นผู้นำรุ่น 4 แต่เมื่อปีก่อนเฮงประกาศถอนตัว ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะอายุของเจ้าตัวที่แตะหลัก 6 แล้ว หากขึ้นดำรงตำแหน่งก็ถือว่าอายุเยอะเกินไป และคงทำอะไรไม่ได้มาก เป็นไม่ทันไร ก็คงต้องส่งต่อตำแหน่งให้กับผู้นำรุ่นที่ 5 ดังนั้นจึงควรมองหาคนรุ่นหนุ่มแทนจะดีกว่า

อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าที่เฮงถอนตัวนั้น มีผลจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขตที่เฮงลงสมัคร ส.ส. คะแนนที่เทให้เฮงสูสีกับคะแนนที่ไปเลือกคู่แข่งมาก เรียกได้ว่ากว่าจะชนะมาได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น จุดนี้เองอาจเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของเขาที่จะถอนตัว และยังไม่นับปัญหาเรื่องสุขภาพ

เมื่อคนอายุหลัก 6 ถอนตัว ทาง ลี เซียนลุง คนอายุหลัก 7 พร้อมชนชั้นนำในพรรคก็ได้หันไปมองคนหนุ่ม อายุหลัก 5 ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พารัฐนาวาสิงคโปร์โลดแล่นต่อไปในอนาคต

คาดว่า ผู้นำรุ่นที่ 4 ของสิงคโปร์ น่าจะหลีกหนีไม่พ้น และไม่หลงทางไปจาก 3 คนนี้อย่างแน่นอน ดีกรีแต่ละคนไม่ธรรมดา และจะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่จะได้ก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความฝัน เป็นผู้นำรุ่นที่ 4 ของประเทศนี้

 

3

ตัวเก็งคนแรก ลอเรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) อายุ 50 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัวหว่องเองเป็นคนที่อายุน้อยสุด ในบรรดาผู้ท้าชิงติดโผผู้นำรุ่นที่ 4 ตัวเขาสืบทอดตำแหน่งคุมการคลังต่อจากเฮง ผลงานลือลั่นคือการคุมโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญเขาเคยเป็นหนึ่งในทีมงานใกล้ชิดกับลี เซียนลุงอีกด้วย

หว่องมีเส้นทางการเมืองน่าสนใจ คือเริ่มต้นจากการทำงานเป็นข้ารัฐการ ก่อนจะไต่เต้าตัวเองก้าวหน้ามาเรื่อย จนเข้าสู่เวทีการเมืองเมื่อปี 2011 เท่านั้นเอง โดยช่วงทำงานเป็นข้ารัฐการนั้น เขายังเป็นอาสาสมัครดูแลเยาวชนให้กับโบสถ์ ส่วนประวัติการศึกษานั้น หว่องคือดีกรีเด็กนอกของแท้ เพราะจบมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือการจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกอย่าง ฮาร์วาร์ด

หว่องมีเส้นทางการเมืองคล้ายกับเฮง จบฮาร์วาร์ดที่เดียวกัน ทำงานมาอย่างโชกโชนหลายกระทรวง ผลักดันผลงานหลายด้าน ถือเป็นนักการเมืองคุณภาพในประเทศทรงประสิทธิภาพอย่างแท้จริง หนึ่งในนั้นคือการผลักดันสิงคโปร์กับบทบาทเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ปี 2015 ซึ่งสิงคโปร์คว้าเหรียญรางวัลมากที่สุดนับตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันมา

ทั้งนี้หว่องต้องการให้สิงคโปร์มีบทบาทในวงการกีฬามากกว่านี้ จึงจัดสรรงบประมาณสร้างศูนย์กีฬาแห่งชาติให้กับประเทศ โดยมีการอัดฉีดเงินให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านกีฬา เพราะหากพูดถึงเรื่องการศึกษา สิงคโปร์ถือว่าสุดยอดอยู่แล้ว และการให้เด็กยุคใหม่สนใจและมีโอกาสด้านกีฬา ถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการสร้างชาติให้ทรงอิทธิพลในเวทีโลก

ด้านชีวิตส่วนตัว หว่องมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง แม่เป็นครูประถม พ่อเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย แต่สิ่งที่คนสิงคโปร์สนใจมากสุดคือชีวิตแต่งงาน หว่องแต่งงานตอนอายุ 28 ปี เขามีโอกาสใช้ชีวิตคู่เพียง 3 ปี ก็ต้องจบลงที่การหย่าร้าง ถึงวันนี้ก็ยังยากจะหาว่าอดีตภรรยาของเขานั้นเป็นใคร

เพราะสำหรับหว่องนั้น เขามีชีวิตการเมืองที่ทรงผลงาน แต่มีชีวิตส่วนตัวที่ปิดลับ และไม่อยากให้ใครรับรู้ด้านนี้ จึงมีเพียงผลงานทางการเมืองที่ชี้ให้เห็นความสามารถ ว่ากันว่าที่เขาปกปิดตัวตนอดีตภรรยาและเรื่องราวส่วนตัวของตัวเองนั้น ก็เพราะต้องการให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองของตัวเองดูคลีนที่สุดเท่าที่จะทำได้

หว่องให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถึงการรับมือโควิด-19 ว่า “ผมรับมือกับมันได้โอเคนะ คือทำสุดความสามารถ ตอนนี้ก็ต้องจัดการหลายอย่าง ทั้งการต่อสู้กับโควิด การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน แต่ทั้งหมดนี้ ผมถือว่าตัวเองรับมือได้ดีเลยล่ะ”

 

4

ผู้ท้าชิงรายที่ 2 ออง เยคุง (Ong Ye Kung) ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อายุ 53 ปี ผลงานคุมโควิด-19 ได้อยู่หมัด เคยทำงานใกล้ชิดกับ ลี เซียนลุง เช่นเดียวกับหว่อง สำหรับอองนั้น เริ่มเข้าสู่เวทีการเมืองในปี 2015 จบการศึกษาจากอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ แต่งงานแล้วมีลูก 2 คน

ตัวอองนั้นเริ่มทำงานในกระทรวงข้อมูลข่าวสาร ก่อนจะไต่เต้าเรื่อยมา จนลงสมัครเลือกตั้งในปี 2011 แต่ปรากฏว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น ทีมพรรคกิจประชาชน 5 คน ซึ่งมีอองรวมอยู่ด้วย แพ้ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีแนวคิดเอียงซ้ายไป โดยได้รับคะแนนนิยมมาได้เพียง 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต้องรอจนถึงการเลือกตั้งในปี 2015 อองจึงมีโอกาสได้เป็น ส.ส. หลังย้ายไปลงแข่งในอีกเขต ก่อนกวาดชัยชนะ คนเลือกกว่า 73 เปอร์เซ็นต์ จนได้เข้าไปทำงานในรัฐสภาอันทรงเกียรติสำเร็จ

ตอนที่เขาแพ้เลือกตั้ง อองให้สัมภาษณ์ว่า “มันไม่ใช่ความล้มเหลวหรอกครับ มันก็แค่แพ้เท่านั้นเอง”

และเมื่อเขาชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. สมัยแรก อองได้ให้สัมภาษณ์ว่า “อย่าปล่อยให้ความพ่ายแพ้กลายเป็นความล้มเหลว ทำมันให้ดีที่สุด แล้วผลลัพธ์จะตามมาเอง”

อองย้ำว่า การเตรียมตัวเข้าสู่เวทีการเมืองนั้น เราต้องเข้าใจสถานการณ์ ทำมันด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ ที่สำคัญต้องเปิดตาให้กว้าง เขาบอกว่าความคิดคนเปลี่ยนแปลงเสมอ พวกเขามีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างจากอดีต ดังนั้นเป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ต้องเข้าใจประชาชน

ที่จริงแล้วอองนั้นมีพ่อเป็นนักการเมืองคู่แข่งพรรคกิจประชาชน ที่เคยได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรหลายครั้งในอดีต โดยพ่อของเขาเคยลาออกประท้วงการกระทำของรัฐบาลพรรคกิจประชาชนที่แสดงถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอองย้ำว่าพ่อไม่เคยวิจารณ์อะไรที่เขาลงสมัครให้กับพรรคคู่แค้นคู่แข่งของพ่อ

อองแต่งงานกับลูกสาวนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีลูกสาว 2 คน จะว่าไปผลงานด้านสาธารณสุขของเขาก็เป็นเลิศ โดยการทำงานร่วมกับหว่องทำให้สิงคโปร์คุมโรคระบาดนี้ได้ดี อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าหากเทียบอองกับหว่องแล้ว ภาษีดูจะเป็นหว่องมากกว่า เพราะแม้จะคุมกระทรวงสาธารณสุข แต่บทบาทของหว่องกลับชัดเจน และมีผลงานเป็นที่รับรู้มากกว่า

แม้ทั้งสองคนมีโอกาสได้รับการสืบทอดเป็นผู้นำรุ่นที่ 4 ทั้งคู่ แต่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จาก ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และเผลอๆ ทั้งคู่อาจจะยังไม่ได้สืบทอด เพราะมีโอกาสที่จะต้องหลีกทางให้กับตัวเลือกรายที่ 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ที่เป็นอดีตนายพล อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งอาจคว้าตำแหน่งผู้นำรุ่นที่ 4 ไปครองแทน โดยเรื่องนี้มาจากการวิเคราะห์ของสื่อสิงคโปร์เอง

ความน่าสนใจของคู่แข่งรายที่ 3 จึงชัดเจนมีภาษีดีกว่าทั้งสอง และนี่คือเรื่องราวผลงานของ ชาน ชุงซิง (Chan Chun Sing) อายุ 53 ปี

 

5

แม้หว่องและออง จะมีผลงานการรับมือโควิด-19 ทำงานหลายกระทรวง แต่อดีตนายพลชาน ชุงซิงนี้ มีตำแหน่งในพรรคกิจประชาชนสูงกว่าทั้งคู่อย่างเห็นได้ชัด โดยหากเทียบลำดับแล้ว เขาเป็นรองเพียง ลี เซียนลุง กับ เฮง สวีเคียต เท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าเขาอยู่ในลำดับ 3 ของผู้อาวุโสในพรรคนั่นเอง

ดังนั้น หากจะกาชื่อเขาทิ้งไป ก็ถือว่าประมาทมาก

ชานเป็นนายพลตรีแห่งกองทัพบกสิงคโปร์มาก่อน เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หากดูประวัติการศึกษา ตัวเต็งผู้นำรุ่นที่ 4 อย่างเขา ก็มีผลงานเป็นเลิศสุดๆ ระหว่างเป็นทหารก็ได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ แถมยังได้เรียนหลักสูตรนายพลที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้นก็ได้ทุน ลี กวนยู จนจบมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีสุดโด่งดังของโลกด้วย

ภูมิหลังของชานน่าสนใจ ขณะที่หว่องและอองมาจากครอบครัวชนชั้นกลางกึ่งรวย แต่ชานมาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับค่อนไปทางล่างของสิงคโปร์ แม่เลี้ยงเขามาคนเดียว อาศัยอยู่ในแฟลตเคหะ ร่วมกับปู่ ย่า ป้า และน้องสาว ชานเป็นคนเรียนเก่ง มีผลงานโดดเด่น จนหนังสือพิมพ์สิงคโปร์เคยตีพิมพ์ความสามารถของเขาช่วงวัยเด็กที่เรียนดีมาก โดยเขาย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพราะแม่ที่แม้จะทำงานในโรงงาน แต่ก็สนับสนุนลูกเสมอ

ชานเผยว่าพ่อกับแม่เขาหย่ากัน แม่เลี้ยงเขาตลอด เพราะความลำบากและชีวิตครอบครัวที่ยากจนนี้เอง จึงผลักดันให้เขามุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต

ชายหนุ่มไม่เพียงเรียนเก่งเท่านั้น แต่ยังพูดได้หลายภาษา โดยเขาจะเจียดเงินเดือนตัวเองส่วนหนึ่งไปลงเรียนภาษาเพิ่มเติมเสมอ

ชีวิตการเมืองของเขาเริ่มต้นในปี 2011 หลังลาออกจากตำแหน่งในกองทัพเมื่อปี 2010 การหาเสียงของชานน่าสนใจมาก เขาได้รับความนิยมในโลกออนไลน์จากการปราศรัยที่มีความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดีขึ้น ชานเน้นย้ำว่าเขาเป็นคนธรรมดา ใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่งงานมีลูกชาย 2 คน

สื่อนำเสนอภาพชานดูสมถะ เขาใส่นาฬิกาคาสิโอเก่าๆ ใช้รถญี่ปุ่นมือสองธรรมดา โดยความฝันวัยเด็กคือการเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด เพื่อหาเงินไปเรียนหนังสือ สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านี้คือเขาเป็นแฟนบอลสโมสรเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ โดยเขาย้ำว่าเอฟเวอร์ตันไม่ใช่สโมสรที่รวยที่สุด แต่ก็ต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ เราก็ควรต้องทำให้ดีสุด สู้สุดใจ เพราะเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะร้องขออะไรก็ได้

ชานย้ำว่าการมาจากกองทัพไม่ทำให้เขาไร้ความสามารถในการเล่นการเมือง เพราะกองทัพสิงคโปร์ไม่ได้มีระบบอาวุโสเข้มข้นแบบนั้น และคุณค่าบางอย่างก็เอามาปรับใช้ได้ และชีวิตไม่ใช่ว่าเราจะได้อะไรมาเลยง่ายๆ แต่เราต้องพยายามเพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น

สำหรับเขาแล้ว การถอดดาวนายพลลงเล่นการเมืองไม่ใช่ข้อจำกัด นั่นคือคำพูดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และผลงานก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาทำได้จริง 

นี่จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของผู้นำรุ่นที่ 4 ชายที่ย้ำว่าสิงคโปร์เป็นประเทศสังคมนิยมเห็นใจประชาชนโดยห่มคลุมด้วยระบบทุนนิยม

 

6

จากบิดาประเทศ สู่ผู้นำ สู่ลูกบิดาประเทศ ส่งต่อให้ทายาทรุ่นที่ 4 คนรุ่นต่อไปที่จะนำพาประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม หากมองตัวเต็ง 3 คนนี้ ก็คาดได้ว่าสิงคโปร์คงจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าที่คนรุ่นเก่าเคยทำมา เพราะมันเป็นเวลาของพวกเขาแล้ว ดังที่เฮงเคยยอมรับกับสื่อตอนถอนตัวจากการชิงตำแหน่งผู้นำรุ่นที่ 4 ว่า

“คนรุ่นใหม่ควรได้บริหารประเทศมากกว่า”

 

อ้างอิง

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/Singapore-s-succession-COVID-and-war-raise-stakes-in-PM-search

https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2262059/thailands-flawed-democracy-ranks-72-out-of-167-countries-index

https://web.archive.org/web/20110513155116/http://www.elections.gov.sg/elections_results2011.html

https://tnp.straitstimes.com/news/singapore-news/paps-ong-ye-kung-makes-comeback-sembawang-grc

https://www.cnbc.com/2022/02/22/cnbc-first-on-lawrence-wong-minister-of-finance-singapore.html

https://the-singapore-lgbt-encyclopaedia.fandom.com/wiki/Lawrence_Wong

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2066945

https://www.pmo.gov.sg/cabinet/mr-heng-swee-keat

https://thenewageparents.com/10-things-you-probably-didnt-know-about-minister-chan-chun-sing/

https://mothership.sg/2017/07/chan-chun-sing-doesnt-think-his-military-background-is-a-limitation-leadership-style-is-to-value-add/

https://www.straitstimes.com/singapore/chan-chun-sing-im-a-very-simple-person

Tags: , ,