วันที่ 9 สิงหาคม 2567 สำนักพิมพ์บุ๊กสเคป (Bookscape) จัดงานเสวนา ‘ภูมิรัฐศาสตร์โลก’ จากอดีตสู่อนาคต ผ่าน ‘แผนที่’ ชี้ชะตาโลก ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ผู้แปลหนังสือ Prisoners of Geography ของ ทิม มาร์แชลล์ (Tim Marshall), กรุณา บัวคำศรี นักข่าวและเจ้าของช่อง ‘รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี’, ศุภมิตร ปิติพัฒน์ และธีวินท์ สุพุทธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักจัดรายการวิทยุ ‘เช้าทันโลก FM 96.5’ เป็นผู้ดำเนินรายการ

กรุณาหนึ่งในวิทยากรเริ่มต้นบทสนทนาว่า เธอรู้จัก Prisoner of Geography ในปี 2020 ซึ่งตรงกับช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังต้องการความเข้าใจกับบริบทของเหตุการณ์มากขึ้น โดยหนังสือเล่มนี้ทำให้เธอเข้าใจว่า นโยบายต่างประเทศหรือพฤติกรรมของผู้นำโลก มักถูกครอบงำด้วยพื้นที่หรือภูมิรัฐศาสตร์ จากก่อนหน้านี้ที่เชื่อว่า วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ก่อสงครามเพราะต้องการสถาปนาจักรวรรดิรัสเซียยุคใหม่

กรุณาขยายความว่า ภูมิศาสตร์เป็นตัวกระตุ้นให้ปูติน ผู้ที่เชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Soviet Union) คือหายนะของศตวรรษที่ 21 ต้องการพื้นที่เดิมในยุครุ่งโรจน์กลับคืนมา ซึ่งส่วนหนึ่งคือ ยูเครนที่มีพื้นที่ราบและไร้ภูเขาคั่นกลาง โดยจากลักษณะภูมิศาสตร์ข้างต้น ทำให้ปูตินเกิดความกลัวชาติยุโรปตะวันตก เพราะหากคีฟเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) รัสเซียที่มีชายแดนติดกับพื้นที่ราบในยูเครน อาจไม่รอดพ้นจากอิทธิพลของ NATO ได้

นอกจากนี้นักข่าวชื่อดังยังมองว่า การที่รัสเซียพยายามขยายอาณาเขต ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากภูมิศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์​ ทรัพยากร ผลประโยชน์ รวมถึงบุคลิกและนิสัยของผู้นำประเทศ โดยเธอเจาะจงไปที่ตัวตนของปูติน

“ปูตินหมกมุ่นกับความยิ่งใหญ่ในอดีต ไม่แน่ใจว่าถ้าไม่ใช่ปูติน สงครามรัสเซียยูเครนจะเกิดหรือไม่ นี่คือการมองต่างออกจากแค่การตั้งแง่ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ก่อให้เกิดสงคราม” เธอย้ำ ก่อนจะวิเคราะห์ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่มีท่าทีจบลงอย่างสันติ เว้นเสียแต่ยูเครนจะยอมยกดินแดนใน 4 ภูมิภาคทางตะวันออกและทางตอนใต้ของประเทศที่ติดกับไครเมียให้กับรัสเซีย 

อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง กรุณาก็ยังเชื่อว่าเป็นเพียงความสงบชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่อาจการันตีได้ว่า กลุ่มกองกำลังต่อต้านรัสเซียในยูเครนจะตอบโต้เรียกร้องดินแดนคืนหรือไม่ ขณะที่ผลลัพธ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในระยะยาวขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้นำประเทศเป็นสำคัญ เช่น แนวโน้มการยุติสงครามอาจเพิ่มมากขึ้น หากผู้นำรัสเซียหยุดหวาดระแวง NATO เหมือนกับสถานการณ์ของผู้นำในประเทศตะวันออกกลางและจีน

นอกจากนี้ กรุณายกตัวอย่างถึงความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในนโยบายต่างประเทศคือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังมีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า หากตะวันออกกลางจะสงบ ปาเลสไตน์ต้องมีรัฐเป็นของตนเอง คู่กับรัฐอิสราเอล (Two-state solution) ทว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้และศึกษาเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ กรุณาเห็นต่างและย้ำว่า ความขัดแย้งตะวันออกจะดำเนินต่อไปและไม่มีวันยุติ และรัฐปาเลสไตน์จะไม่มีวันเกิดขึ้น ไม่ว่าอิสราเอลจะยังคงมี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม

กรุณาให้เหตุผลข้อโต้แย้งข้างต้น ด้วยการอธิบายถึงลักษณะภูมิศาสตร์ของอิสราเอล ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. เมืองหลวงของประเทศ กรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) หัวใจของอิสราเอล (Heartland) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่ง

2. ทะเลสาบกาลิลี (Galilee) พื้นที่ทางตอนบน

3. ทะเลทรายเนเกฟ (Negev) พื้นที่ทางตอนใต้

ขณะเดียวกัน พื้นที่รัฐในอนาคตของปาเลสไตน์คือ เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งอยู่บริเวณจุดตั้งแต่ทะเลสาบกาลิลี จนถึงทะเลทรายเนเกฟ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง 

จากภูมิศาสตร์ข้างต้น หากปาเลสไตน์ครอบครองเขตเวสต์แบงก์ที่เป็นพื้นที่ราบสูง อิสราเอลจะขาดยุทธศาสตร์เชิงลึก (Strategic Depth) เนื่องจากเทลอาวีฟเป็นที่ตั้งชายฝั่งขนาดแคบราว 14 กิโลเมตร ไร้หนทางป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในกรณีร้ายแรงที่สุด คือ กลุ่มผู้ปกครองปาเลสไตน์ยิงขีปนาวุธมาที่เทลอาวีฟ ศูนย์รวมทุกอย่างของอิสราเอล ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุสำคัญว่า ทำไมอิสราเอลจึงไม่ยอมให้มีรัฐเกิดใหม่ที่ชื่อ ปาเลสไตน์

สำหรับคำถามถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน 2024 กรุณาตอบในประเด็นนี้ว่า ในมุมของจีนเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อครั้งทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ก็เกิดสงครามการค้าผ่านนโยบายตั้งกำแพงภาษี ขณะที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็มีนโยบายคล้ายคลึงกัน

กรุณายังมองถึงประเด็นด้านความมั่นคง โดยเชื่อว่า สหรัฐฯ ยังคงเน้นการรักษาอิทธิพลทางทหารในมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific) เพราะไม่ว่าพรรคเดโมแครต (Democrat Party) และพรรครีพับลิกัน (Republican Party) จะเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ในมุมมองเรื่องความมั่นคงก็เห็นพ้องต้องกันว่า สหรัฐฯ ต้องมีบทบาทในพื้นที่นี้ ทั้งในมิติการครอบครองทรัพยากรและการลดทอนอำนาจจีน ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับจีน มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

ขณะที่กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน กรุณาไม่แน่ใจว่า หากทรัมป์เป็นผู้นำประเทศ ท่าทีของสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร เพราะ เจ. ดี. แวนซ์ (J.D. Vance) แคนดิเดตท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันเล็งเห็นว่า ทำไมวอชิงตันต้องสนใจยูเครน ประเทศที่อยู่ห่างจากสหรัฐฯ ถึง 5,000 กิโลเมตร 

นอกจากนี้ กรุณายังยกตัวอย่างกรณียุโรปที่จับตามองท่าทีของสหรัฐฯ เมื่อทรัมป์อาจมีโอกาสนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยุโรปเพิ่มงบประมาณทหารเป็น 2% ของ GDP ขณะที่วันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศในที่ประชุม NATO ว่า จะเริ่มวางแผนติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลในเยอรมนีในปี 2026 เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียที่เพิ่มขึ้น นับเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ต่อให้ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ ยุโรปก็มีกลไกป้องกันตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) แคนดิเดตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรองประธานาธิบดีหญิง จะชนะการเลือกตั้งในปลายปี 2024 กรุณาก็ยังเชื่อว่า แนวทางความมั่นคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามที่พรรคเดโมแครตกำหนดไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินของสภาคองเกรส

ส่วนสถานการณ์ในตะวันออกกลาง กรุณามองว่า สหรัฐฯ ต้องการออกจากภูมิภาคนี้มานานสักระยะหนึ่ง เพราะปัจจุบันวอชิงตันสามารถผลิตน้ำมันได้ จากเดิมที่ต้องพึ่งพาตะวันออกกลางมาตลอด

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนจากท่าทีของ บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดี ที่พยายามออกจากหล่มความขัดแย้งในตะวันออกกลางมาตลอด ทว่าก็หนีไม่พ้นการเข้าไปข้องเกี่ยว ลงลึก พัวพัน ตั้งแต่ความขัดแย้งของซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน จนถึงสงครามอิสราเอล-กาซาในปัจจุบัน

“ไม่ว่าอย่างไร สหรัฐฯ ก็ยังอยู่ต่อในตะวันออกกลาง” กรุณากล่าวปิดท้าย

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,