1

หากทุกสิ่งเป็นไปตามปกติสำหรับสโมสรฟุตบอลเชลซี แห่งเกาะอังกฤษ วันที่ 10 มีนาคม เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายรวมถึงแฟนบอลควรได้เปิดขวดแชมเปญและเป่าเค้กเฉลิมฉลอง ให้กับวันคล้ายวันก่อตั้งสโมสร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1905 

ทว่าในขวบปีที่ 117 นี้ บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความหม่นหมอง เมื่อเจ้าของสโมสรอย่าง โรมัน อับราโมวิช ถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศคว่ำบาตร และสั่งยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ในลอนดอนทั้งหมด ฐานเข้าข่ายท่อน้ำเลี้ยงและมีส่วนใกล้ชิดกับ วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผู้เป็นตัวการจุดชนวนสงครามบนแผ่นดินยูเครน ทำให้สโมสรสิงโตน้ำเงินครามต้องถูกร่างแหรับกรรมตามไปด้วย จากที่จะรอดหากพวกเขาสามารถหาเจ้าของใหม่ได้ทันก่อนวันที่ 15 มีนาคม ตามกำหนดการเดดไลน์คว่ำบาตร

คำถามสำคัญ คือ ทำไมรัฐบาลสหราชอาณาจักรถึงเปลี่ยนใจ และเร่งรีบใช้มาตรการคว่ำบาตรใส่อับราโมวิชเร็วกว่าเดิม แล้วทำไมจงใจมาเลือกวันก่อตั้งสโมสรเชลซี?

ถ้าใครติดตามข่าวสารคงทราบดีว่า เป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว ที่กองทัพรัสเซียพยายามเข้าโจมตีมาตุภูมิยูเครน และมีประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตด้วยคมกระสุน ทำให้นานาประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกและกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) พยายามตอบโต้ความโหดร้ายดังกล่าวด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย ทั้งงดรับซื้อเชื้อเพลิง งดส่งออกสินค้าให้ทุกประเภท และตัดช่องทางการเงิน 

ถึงกระนั้นใช่ว่าสงครามจะจบลงได้ด้วยดี ซ้ำร้ายวันที่ 10 มีนาคม 2022 วันเดียวกับที่ครบรอบก่อตั้งสโมสรเชลซี ฟากกองทัพรัสเซียได้ทิ้งระเบิดใส่เมืองมาริอูโปล บริเวณจุดตั้งโรงพยาบาลแม่และเด็กในยูเครน นั่นจึงเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีความชอบธรรมต่อการใช้มาตรการคว่ำบาตรทันที  รวมถึงบ่งบอกว่าเชลซีเป็นมรดกส่วนหนึ่งของประเทศอังกฤษ ขณะเดียวกันในแง่ของการเมือง การกระทำเช่นนี้ยังเป็นการประกาศว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ไม่ได้ไร้น้ำยาดั่งที่ฝ่ายค้านพรรคแรงงานออกมากล่าวโจมตี 

2

ว่ากันตามตรง ประเด็นการเปลี่ยนเจ้าของสโมสรเป็นสิ่งที่แฟนบอลเชลซีหลายคนอาจเคยจินตนาการมาบ้างแล้ว เพียงแต่ไม่คิดว่าจะมาลงเอยในสถานการณ์แบบนี้ เพราะหากย้อนกลับไปยังปี 2018 โรมัน อับราโมวิช เคยตกเป็นเป้าเพ่งเล็ง และถูกทางการอังกฤษสั่งยึดวีซ่าห้ามเข้าประเทศ จากปมเหตุการณ์ที่ เซอเกย์ สกรีปอล อดีตสายลับรัสเซีย โดนลอบวางยาพิษชนิด โนวิช็อก (Novichock) พร้อมครอบครัวในบ้านพักย่านเมืองซาลิสบิวรี จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งยาพิษดังกล่าวมีใช้เฉพาะในกองทัพรัสเซีย มีหรือที่ฝั่งรัฐบาลเครมลินจะไม่มีส่วนรู้เห็น ถึงแม้จะกัดฟันปฏิเสธเสียงแข็งก็ตาม ซึ่งการเชือด อับราโมวิช ซึ่งมีระดับฐานะเป็นกลุ่ม Oligarchy ของปูติน ย่อมเป็นการเตือนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรว่า คุณไม่มีสิทธิมาทำการอุกอาจในบ้านคนอื่น ผลสุดท้ายจึงกลายเป็นข้อพิพาทระดับประเทศที่ทำให้อังกฤษกับรัสเซียมองหน้ากันไม่ติดมาถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม อับราโมวิชยังยินดีควักกระเป๋าเงินทุ่มให้กับเชลซีได้ใช้จ่ายเพื่อไล่ล่าคว้าแชมป์ต่อ แม้ตนเองจะไม่สามารถเข้ามาชมเกมได้เหมือนก่อน เป็นเช่นนั้นมาเรื่อยๆ แต่ใช่ว่าจะไม่กระทบอะไรเลย เพราะเมื่อสถานะเจ้าของทีมไม่มั่นคง ก็ส่งผลให้แผนการสร้างสนามใหม่ความจุ 6 หมื่นที่นั่ง แทนสนามสนามเดิมอย่าง สแตมฟอร์ด บริดจ์ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกล้าสมัย และจุคนดูได้แค่ 41,6311 ที่นั่ง ต้องพับเก็บไปชั่วคราว และกว่าตัวอับราโมวิชจะได้วีซ่าคืนต้องลากยาวมาถึงปี 2021 ด้วยการใช้สิทธิ์พลเมืองอิสราเอลตามเชื้อสายบนหน้าบัตรประชาชน

3

ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเรียบเรียงบทความชิ้นนี้ บทสรุปของสถานการณ์วิกฤตของทีมสิงโตน้ำเงินคราม หลังจาก โรมัน อับราโมวิช ถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรยึดสิทธิดูแลทีม ยังคงดิ่งเหวลงต่อเนื่อง โดยเรียงเป็นไทม์ไลน์ให้เข้าใจง่าย คือ  

  •  แข่งขันได้ตามปกติ แม้ตามกฏข้อบังคับที่หากเจ้าของสโมสรถือสิทธิดูแลทีม 100 เปอร์เซ็นต์ จะถูกห้ามลงแข่งทุกรายการ
  • ต่อสัญญา หรือ ซื้อ-ขาย นักเตะและโค้ชไม่ได้ทุกกรณี (แต่ยังต้องจ่ายค่าเหนื่อยตามเดิม)
  • เมกาสโตร์ไม่สามารถขายสินค้าของสโมสรได้ รวมถึงตั๋วเข้าชมทั้งเหย้าและเยือน (อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร กรณีกลับมาขายได้เงินกำไรต้องเข้ากองกลางเพื่อช่วยเหลือยูเครน)
  • Three บริษัทโทรคมนาคม สปอนเซอร์คาดหน้าอกหลักประกาศงดสนับสนุนชั่วคราว ตามสัญญาสนับสนุน 40 ล้านปอนด์ต่อปี  และข้อให้ถอดโลโก้บริษัทออกจากเสื้อแข่ง ส่วนสปอนเซอร์รายอื่น เช่น  Hyundai และ Hublot กำลังเร่งพิจารณาขอถอนสปอนเซอร์ชั่วคราวด้วยเช่นกัน ยกเว้น Nike และ Trivago ที่ออกมายืนยันแล้วว่าจะยังให้การสนับสนุนต่อ
  • บัญชีบัตรเครดิตของเชลซีที่ผูกอยู่กับธนาคาร Barclays ถูกระงับบัญชี
  • เชลซีจะถูกจำกัดงบที่ 2 หมื่นปอนด์ ต่อการเดินทางเล่นเกมเยือน ส่วนเกมในบ้านจะถูกจำกัดอยู่ที่ 5 แสนปอนด์ สำหรับจ่ายค่าบำรุงต่างๆ รวมถึงค่ารักษาความปลอดภัย (ตามหลักความจริงอยู่ที่ 8 แสน – 1 ล้านปอนด์)
  • ยังได้รายรับจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอยู่
  • การเจรจาหาเจ้าของใหม่ยังทำได้ โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรมอบหมายให้ Raine Grup ธนาคารจากนิวยอร์กเป็นผู้เดินเรื่องต่อ ทั้งนี้เจ้าของรายใหม่จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองใดๆ และรายได้สุทธิจากการขายสโมสร โรมัน อับราโมวิช จะไม่มีส่วนได้แม้แต่แดงเดียว เพื่อนำเงินไปเข้ากองกลางเป็นเงินทุนช่วยเหลือยูเครน

นี่เป็นเพียงสถานการณ์ล่าสุด และระหว่างที่บทความชิ้นนี้เผยแพร่ คงไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าพวกเขาจะโดนมาตรการลงโทษใดเพิ่มเติมอีก ตราบที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปตัวเจ้าของรายใหม่ได้ และจากรายงานของสำนักข่าว Daily Mail คาดว่าทีมสิงโตน้ำเงินครามจะเหลือเงินคลังใช้จ่ายพยุงสโมสรต่ออีกเพียง 17 วันเท่านั้นหากสถานการณ์ยังคงเดิม หรือมากสุด 3-4 เดือน ซึ่งเชลซีมีค่าเฉลี่ยใช้จ่ายสโมสรตกเดือนละ 50 ล้านปอนด์ หรือพูดง่ายๆ ว่า แค่จะเติมน้ำมันรถบัสยังลำบาก

เมกาสโตร์เชลซีไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ หลังโรมัน อับราโมวิช ถูกคว่ำบาตร

4

จากสถานการณ์ตอนนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าเจ้าของทีมเชลซีรายใหม่คงหนีไม่พ้นแคนดิเดต 2 ราย คือ 1. นิค แคนดี้ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และ 2. ฮันส์ยอร์ก วิสส์ เศรษฐีชาวสวิตเซอร์แลนด์ กับ ทอดด์ โบลี ซีอีโอแห่งบริษัท Eldridge Industries ที่รวมกลุ่มกับเศรษฐีนิรนามอีก 1 ราย เพื่อเข้ายื่นซื้ออย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขจำนวนเงิน 3 พันล้านปอนด์ แบ่งเป็น 2 พันล้านปอนด์ ค่าซื้อสโมสร กับอีก 1 พันล้านปอนด์ สำหรับค่าทำสนามเหย้าใหม่ อาจไม่เป็นไปตามเดิม และอาจลดลงมาเหลือที่ 2-2.5 พันล้านปอนด์ เพื่อเร่งกระบวนการให้ทุกอย่างจบสิ้นโดยเร็วที่สุด ก่อนเชลซีจะกลายเป็นทีมถังแตกขั้นสมบูรณ์  

นอกจากเรื่องความพร้อมของสถานะทางการเงิน สิ่งที่แฟนเชลซีทั่วโลกต้องการจากเจ้าของใหม่ที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นความจริงใจในการเข้ามาทำทีมให้เดินหน้าต่อได้ แบบไม่หวังเข้ามาหาผลกำไรสูบเลือดสูบเนื้อเพียงอย่างเดียว รวมถึงยินดีพัฒนาทีมอคาเดมี และทีมฟุตบอลหญิง เพราะปัจจุบันมูลค่าการตลาดของเชลซีสูงถึงอันดับ 7 ของโลก (1.5-2.4 พันล้านปอนด์) จึงไม่แปลกหากใครจะคิดว่าการเข้ามาเทกโอเวอร์ย่อมหมายถึงการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทว่าเมื่ออำนาจตัดสินใจอยู่กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าเจ้าของใหม่จะมีสเป็กตามนั้นหรือไม่ 

ทอดด์ โบลี หนึ่งในแคนดิเดตตัวเต็งเจ้าของใหม่เชลซี

5

‘Europe is Funding The War Not CFC Leave Our Club Alone’ (ยุโรปเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดสงครามไม่ใช่เชลซี โปรดอย่ามายุ่งกับสโมสรของเรา)

ประโยคดังกล่าวถูกพ่นบนกำแพงห่างจากสนามสแตมฟอร์ดไปไม่กี่เมตร ในค่ำคืนหลังการประกาศคว่ำบาตร โรมัน อับราโมวิช ซึ่งหนีไม่พ้นฝีมือของแฟนบอลเชลซี และแน่นอนว่าประโยคดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ณ ขณะที่ประชาชนชาวยูเครนต้องเสียชีวิตลงเพราะสงครามทุกวัน ทว่าในแง่ของคนดูกีฬามีคำถามตามมาว่า เมื่อสงครามยุติลงใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อความเสียหาย เพราะนักฟุตบอล โค้ช หรือสตาฟบางส่วนที่ถูกเลิกจ้าง ล้วนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามสักนิดเดียว

แม้ใครหลายคนจะบอกว่า ‘กีฬาไม่เคยเกี่ยวข้องกับสงครามและการเมือง’ แต่จากกรณีของเชลซี คล้ายเป็นกระจกสะท้อนได้กลายๆ ว่า เหตุผลดังกล่าวอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคราวกลุ่มทุน Public Investment Fund (PIF) ของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย เข้าเทกโอเวอร์ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรกลับปล่อยผ่านด้วยดี แม้จะเคยมีประวัติด่างพร้อยจากข้อหาคดีอุ้มฆ่า จามาล คาช็อกกี นักข่าวผู้เป็นหอกข้างแคร่

ด้วยมาตรฐานดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแฟนบอลเชลซีบางกลุ่มถึงมองว่า สิ่งที่ทีมรักถูกกระทำเป็นสิ่งที่ควรได้รับจริงๆ แล้วใช่หรือไม่ เพราะตามหลักการคว่ำบาตร โรมัน อับราโมวิช ควรลงเอยจบที่ตัวบุคคลและไม่ควรส่งผลกระทบมาถึงผู้บริสุทธิ์ที่เป็นบุคลากรในทีมเชลซี นี่จึงถือเป็นกรณีตัวอย่างชั้นดีว่า อนาคตผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในวงการกีฬาควรมีประวัติใสสะอาดมากแค่ไหน และใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน

เชื่อเหลือเกินว่าไม่มีแฟนเชลซีคนไหนอยากเห็นผู้บริสุทธิ์ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับสงคราม เพราะหากคุณรักทีมจริง ไม่ว่าจะตกต่ำขนาดไหนนั่นไม่ใช่ปัญหา หากแลกกับการช่วยให้สงครามหยุดลงและรักษาชีวิตคนได้อีกนับล้าน ถึงกระนั้นสิ่งที่เชลซีกำลังโดนลงโทษอยู่นั้น ‘ยุติธรรม’ จริงๆ หรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘เหยื่อสงคราม’ สักนิด

อ้างอิง:

Tags: , , , ,