วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2567) ที่ห้องประชุมฮิลล์เครสท์ (Hill Crest) ชั้น 5 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ ลาดพร้าว บาย ยูเอชจี สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดงานแถลงข่าวและโครงการรณรงค์หัวข้อ ‘แรงงานแพลตฟอร์ม & แรงงานข้ามชาติ: หนทางสู่การจัดตั้งและการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33’ ร่วมกันหาทางออกเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ จากกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 และกฎหมายเงินทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

สุรสิทธิ์ ศรีแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ว่าด้วยความสำคัญของความคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ โดยชี้ให้เห็นว่า แรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทว่าพวกเขาเหล่านั้นกลับเป็นผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการคุ้มครองทางสังคม ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม

“ประเทศไทยมีสัดส่วนการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการสูงกว่าแรงงานในระบบ โดยพบว่า จากการที่มีคนทำงานประมาณ 40 ล้านคน แรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการมีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งคือ 21 ล้านคน หรือ 52.3% ซึ่งเป็นผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน”

ในงานยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันแรงงานฯ กับ 7 องค์กรแรงงาน ทั้งกลุ่มไรเดอร์จังหวัดสระบุรี กลุ่มไรเดอร์เซ็นเตอร์ กลุ่มไรเดอร์ก้าวไกลจังหวัดชลบุรี สมาคมไรเดอร์ภาคใต้ กลุ่มสหกรณ์คนทำงานด้านการดูแล กลุ่มกิจการเพื่อสังคมคนทำงานนวดบำบัด และกลุ่มแรงงานข้ามชาติมอญแสงเทียน ในหัวข้อ ‘การส่งเสริมเสรีภาพการรวมกลุ่มและเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ’

ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอกล่องเครื่องมือ (Toolbox) เช่น คู่มือการจัดตั้งแรงงาน รวมทั้งแอปพลิเคชัน Connect App ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมเสรีภาพการรวมกลุ่ม และเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ โดยมีวิทยากรจากสถาบันแรงงานฯ เป็นผู้ให้ความรู้ ตลอดจนสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนโครงการรณรงค์การเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 ของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคม

“คนที่สร้างมูลค่าให้กับบริษัทแพลตฟอร์มมหาศาล แต่พวกเรากลับไม่ได้อะไรเลย เราได้เพียงเศษเงินที่บริษัทโยนให้เราแค่เล็กน้อย ซึ่งมันไม่พอต่อการเยียวยาของพวกเรา ไม่พอต่อคนข้างหลังของพวกเรา” สุภาภรณ์ พันธ์ประสิทธิ์ ผู้แทนกลุ่มไรเดอร์เซ็นเตอร์

“พวกเรามีนายจ้างอย่างชัดเจน แต่ทำไมเราถึงถูกมองว่า เราไม่ใช่ลูกจ้างของเขา ทั้ง ๆ ที่เราก็ทำงาน เราไม่มีประกันสังคม ไม่มีเงินทดแทน เวลาเจ็บป่วย เราก็ไม่มีเงินเยียวยา” รุ่งนิรันดร์ คำพิทูย์ ผู้แทนกลุ่มสหกรณ์คนทำงานด้านการดูแล

“แรงงานข้ามชาติที่เขามาประเทศไทยมีจำนวนมาก และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองทางสังคม” อลงกรณ์ สุนทรชื่น ผู้แทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติมอญแสงเทียน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการภาพถ่ายจากผู้แทนไรเดอร์ พนักงานทำความสะอาดแพลตฟอร์ม พนักงานนวดแพลตฟอร์ม และแรงงานข้ามชาติ โดยนำเสนอคุณภาพชีวิตความเป็นแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ สะท้อนปัญหาจากมุมมองแรงงาน ผู้ซึ่งมีสถานะ ‘ไม่เป็นแรงงาน’ ตามกฎหมายแรงงานไทย

Tags: , , , ,