กลุ่มประเทศ G7 คือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่เป็นสมาชิก และตอนนี้ก็ยังคงเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่ยังไม่มีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นมีสิทธิเหมือนกับเพศชายและหญิง

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2022 ศาลแขวงจังหวัดโอซาก้ามีคำวินิจฉัยยกฟ้องคดีหนึ่ง โจทก์คือคู่รัก LGBTQ+ สามคู่ร่วมกันยื่นฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลคู่ละ 1 ล้านเยน (ประมาณ 2.6 แสนบาท) เพราะรัฐบาลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศจากการไม่รับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยให้ศาลพิจารณาว่ากฎหมายที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน รวมถึงการกระทำของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ระบุว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่

คำตัดสินศาลแขวงโอซาก้าระบุว่า รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นกำหนดให้การแต่งงานหรือการสมรสต้องมีพื้นฐานจาก ‘ความยินยอมร่วมกันของทั้งสองเพศ’ จึงไม่ได้ควบรวมถึงกรณีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน กฎหมายที่ใช้อยู่จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลจะเรียกร้องค่าเสียหายกลับจากโจทก์อีกคู่ละ 1 ล้านเยน และส่งต่อเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติเพื่อดำเนินคดีต่อไป

การยกฟ้องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นอย่างมาก ซากาตะ มาชิ (Sakata Machi) หนึ่งในโจทก์ที่ยื่นฟ้องรัฐบาล แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาครั้งนี้ว่า “ฉันสงสัยมากว่ากฎหมายประเทศนี้ยังใช้การได้จริงๆ หรือ” ปัจจุบันเธอได้แต่งงานกับคู่สมรสที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และมีกำหนดจะคลอดบุตรในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่ที่ตัดสินใจมาร่วมเป็นโจทก์เพราะคิดว่ายังมีความหวังสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่น แต่สุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้รู้สึกว่าญี่ปุ่นยังคงเหมือนเดิม

ส่วนทานากะ อากิโยชิ (Tanaka Akiyoshi) และคาวาตะ ยูกิ (Kawata Yuki) อีกหนึ่งคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นโจทก์ฟ้องระบุว่า การต่อสู้ของ LGBTQ+ ในญี่ปุ่นยังคงอีกยาวไกล การตัดสินครั้งนี้ทำให้พวกเขารู้สึกเข่าอ่อน ทั้งผิดหวังและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

คำตัดสินของศาลแขวงโอซาก้าขัดกับคำตัดสินของศาลแขวงจังหวัดฮอกไกโดที่เคยระบุไว้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นบกพร่องในการดูแลพลเมือง เพราะการห้ามคนเพศเดียวกันสมรสกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็จบลงด้วยประโยคปิดท้ายปลายเปิดว่า ตอนนี้สังคมญี่ปุ่นยังไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากพอ และคงต้องหาระบบหรือตัวบทกฎหมายที่เหมาะสมต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนทุกเพศ

ตอนนี้หลายพื้นที่ในญี่ปุ่นพยายามผลักดันความเท่าเทียมทางเพศด้วยการออก ‘ใบรับรองการถือครองคู่ชีวิต’ ที่รับรองว่าคนสองคนที่เป็นเพศเดียวกันและเป็นคู่รักกันจะถือเป็น ‘หุ้นส่วนชีวิต’ ของกันและกัน เช่น รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดโตเกียวเพิ่งผ่านร่างกฎหมายใบรองรับการถือครองคู่ชีวิตไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ศาลแขวงพิพากษาว่ากฎหมายสมรสของญี่ปุ่นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยโตเกียวจะเริ่มออกใบรับรองให้กับคู่รัก LGBTQ+ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นต้นไป

ใบรับรองดังกล่าวออกโดยหน่วยงานท้องถิ่น จะทำให้คู่รัก LGBTQ+ ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่นั้นๆ สามารถใช้สิทธิ์ในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันในสถานพยาบาล สิทธิ์ในการเช่าหรือเข้าถึงที่พักอาศัยของรัฐในจังหวัดนั้นร่วมกัน แต่สิทธิ์ที่ว่ามายังคงห่างไกลจากทะเบียนสมรสของชายหญิงมากพอดู เพราะใบรับรองการถือครองคู่ชีวิตยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องมรดก การร่วมกันซื้อทรัพย์สิน การลงทุน การรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม หรือรายละเอียดยิบย่อยอื่นๆ ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumoi Kishida) กล่าวว่า ประเด็นนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ

เมื่อโลกได้เห็นคำพิพากษาของศาลแขวงโอซาก้า จึงเกิดคำถามตามมาว่าคนญี่ปุ่นคิดเห็นแบบเดียวกับคำตัดสินของศาลหรือไม่ รัฐบาลท้องถิ่นโตเกียวได้ทำแบบสำรวจในช่วงปลายปี 2021 ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน ผู้ทำแบบสำรวจกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าเห็นด้วย เช่นเดียวกับผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ อาซาฮี (Asahi) ระบุว่า ประชาชนกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ความคิดเห็นของผู้คนก็ไม่สามารถสั่นคลอนต่อแนวคิดของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) พรรคอนุรักษนิยมที่ครองอำนาจในสภาฯ มาอย่างยาวนานได้ เห็นได้จากการที่ไม่เคยออกนโยบายหรือจัดการประชุมเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า การที่แต่ละจังหวัดทยอยอนุมัติใบรับรองการถือครองคู่ชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับโตเกียวที่เป็นเมืองหลวง สามารถสร้างแรงกดดันที่สุดท้ายพรรค LDP ก็ต้องหยิบประเด็นดังกล่าวมาพิจารณา แม้ว่าพวกเขาจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจทำก็ตาม

มีนักวิชาการอีกกลุ่มที่เห็นต่างกับการวิเคราะห์ดังกล่าว พวกเขาคิดว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พรรค LDP ก็ยังคงเมินเฉยต่อสถานการณ์เหล่านี้ได้อยู่ดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เจฟฟ์ คิงส์ตัน (Jeff Kingston) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเปิล (Temple University of Japan) ที่มักแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเถรตรงเสมอมา

“น่าทึ่งมากที่เหล่าไดโนเสาร์อนุรักษนิยมในพรรค LPD ยังคงมองผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเย็นชา ลอยแพปล่อยให้พวกเขาโดดเดี่ยว ยังไม่รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างการต่อต้านสิทธิสตรีที่บังคับให้พวกเธอต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามีเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล”

มาสะ ยานากิซาวะ (Masa Yanagisawa) หัวหน้าฝ่ายบริการของ Goldman Sachs และสมาชิกคณะกรรมการกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อการแต่งงานของประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงทิศทางการลงทุนหลังศาลแขวงโอซาก้าเผยแพร่คำพิพากษาว่า “หากญี่ปุ่นยังอยากที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำเอเชียอีกครั้ง คุณก็ต้องคิดถึงประเด็นนี้ให้มากขึ้น บริษัทต่างชาติหลายแห่งกำลังทบทวนกลยุทธ์ในเอเชีย ถึงจะทำใจให้เชื่อยาก แต่ประเด็น LGBTQ+ ก็กลายเป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกพูดถึงว่าควรหรือไม่ควรลงทุนในดินแดนที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

แม้นักวิชาการทั้งสองกลุ่มจะมองทิศทางนโยบายรัฐต่างกัน แต่พวกเขาคิดเห็นตรงกันถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นหากญี่ปุ่นมีสมรสเท่าเทียม เมื่อการแต่งงานของคนเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โอกาสในการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพราะ LGBTQ+ มีสิทธิและอัตลักษณ์เท่าเทียมกับชายหญิงตามกฎหมาย และการเปิดกว้างทางเพศจะมีส่วนดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้นกว่าเดิม

ที่มา

https://www.aljazeera.com/…/japan-court-upholds-ban-on…

https://time.com/6189291/japan-court-gay-marriage-ban/

https://www.dw.com/en/japan-ban-samesex-marriage/a-62192542

https://www.japantimes.co.jp/…/national/tokyo-ordinance/

Tags: , , , , , ,