วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2024) ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า โจโค วิโดโด (Joko Widodo) หรือโจโควี (Jokowi) ผู้นำอินโดนีเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีประจำปี 2024 หลังมีสารคดีเปิดเผยความเชื่อมโยงกับ ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) แคนดิเดตประธานาธิบดีสายทหาร ตัวเต็งคนสำคัญที่ถูกจับตามองในฐานะผู้นำคนต่อไป

แม้โจโควีไม่สามารถท้าชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศเป็นครั้งที่ 3 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 เนื่องจากรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย ทว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแทรกแซงเลือกตั้งปรากฏอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสารคดี Dirty Vote ผลงานของ ดานดี ลักโซโน (Dandhy Laksono) นักข่าวสืบสวนชาวอินโดนีเซียเปิดโปงว่า โจโควีใช้กลไกของรัฐและเงินทุนช่วยเหลือซูเบียนโตในแคมเปญหาเสียง 

ภาพ: AFP

‘แทรกแซงเลือกตั้งเพื่อดันลูกชาย’: Dirty Vote กับอีกแง่มุมในการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย

รายงานจากจาร์กาตาโพสต์ (Jakarta Post) เปิดเผยส่วนหนึ่งของสารคดีว่า โจโควีสนับสนุนซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแลกกับการผลักดันให้ อิบราน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) บุตรชายคนโตของโจโควีวัย 36 ปี และนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา (Surakarta) ขึ้นดำรงตำแหน่ง ‘รองประธานาธิบดี’ ภายใต้ร่มเงาของซูเบียนโต

ก่อนหน้านี้ สังคมกังขารากาถึงคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพราะเขาอายุไม่ถึง 40 ปีตามกฎหมายเลือกตั้งของประเทศในปี 2017 แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินรับรองเขา โดยให้เหตุผลว่า เป็น ‘ความอยุติธรรม’ ต่อคนอินโดนีเซียรุ่นใหม่ 

“การกำหนดอายุขั้นต่ำในวัย 40 ปีเป็นอุปสรรคและขัดขวางการพัฒนาของคนรุ่นใหม่” กุนตาร์ แฮมซาห์ (Guntar Hamzah) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุโดยยกตัวอย่างกรณีผู้นำฝรั่งเศสและนิวซีแลนด์ประกอบ

ทว่ามีการตั้งข้อสงสัยว่า การตัดสินดังกล่าวอาจได้รับความช่วยเหลือ อันวาร์ อุสมาน (Anwar Usman) ลุงของรากาและพี่เขยของโจโควีที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการปิดปากนิ่งเงียบจากทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยระบุว่า โจโควีไม่ได้แทรกแซงการเลือกตั้งและรับรองซูเบียนโต ขณะที่ ฮาบิบูโรกมัน (Habiburokhman) รองหัวหน้าทีมหาเสียงของซูเบียนโตตอบโต้การมีอยู่ของสารคดีดังกล่าว

“สิ่งที่เกิดขึ้นในสารคดีส่วนใหญ่คือการใส่ร้ายป้ายสี คือเรื่องราวเต็มไปด้วยความเกลียดชังที่เกิดจากการสันนิษฐานอย่างไร้เหตุผล” ฮาบิบูโรกมันกล่าว

ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งออกโรงชื่นชมสารคดีดังกล่าว ที่มียอดรับชมถึง 8 ล้านครั้งในยูทูบและติดเทรนด์โลกในแอปพลิเคชัน X ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ก่อนหน้านี้

“ขอบคุณทีมงาน Dirty Vote ที่ทำให้ฉันตาสว่างเห็นการเมืองปัจจุบันในประเทศนี้” คอมเมนต์หนึ่งบนยูทูบ ขณะที่ชาวอินโดนีเซียโพสต์เรื่องราวดังกล่าวบน X มากกว่า 5 แสนครั้ง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการสำรวจเผยว่า ซูเบียนโตมีคะแนนความนิยมถึง 50% ทิ้งห่างกับสองคู่แข่งคนสำคัญอย่าง อานีส บัสวีดัน (Anies Baswedan) และกันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) ด้วยคะแนน 27% และ 31% ตามลำดับ

แรงตอบโต้จากภาคประชาชน

ไม่ใช่แค่เสียงก่นด่าในโลกออนไลน์ แต่เยาวชนจำนวนหนึ่งยังออกมาแสดงความไม่พอใจบนท้องถนนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รอยเตอร์ (Reuters) เผยว่า นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวนับร้อยชีวิตในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) เกาะชวา (Java) แห่ประท้วงโจโควี ถึงการใช้อำนาจไม่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนซูเบียนโต

“เอาตัวโจโควีและพรรคพวกสู่กระบวนการยุติธรรม” ข้อความในป้ายประท้วงของกลุ่มเคลื่อนไหว 

ภาพ: AFP

แม้การที่ประธานาธิบดีสนับสนุนแคนดิเดตไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย แต่ประชาชนบางส่วนรู้สึกไร้ความเชื่อมั่นต่อความเป็นกลางของโจโควี และกลัวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะมีบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียที่กำลังก้าวหน้า หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ ‘การเมืองเรื่องสืบทอดอำนาจ’ ภายในครอบครัวและเครือข่ายของเขา

มูฮัมหมัด วาฟฟา คาริสมา (Muhammad Waffaa Kharisma) นักวิจัยประจำสถาบัน Jakarta-based Center for Strategic and International Studies ระบุผ่านเดอะการ์เดียนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือบททดสอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย 

เขาอธิบายว่า โจโควีได้รับความนิยมจากประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นอย่างมาก หากเทียบกับรัฐบาลอื่นๆ ในโลกที่มักโดนกดดันและสูญเสียบารมีจากวิกฤตดังกล่าว ดังนั้น การที่ผู้นำที่มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนแสดงตัวสนับสนุนแคนดิเดตคนใดคนหนึ่ง ย่อมมีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะการฟอกขาว ‘ตราบาป’ ของซูเบียนโต

ในอดีต ซูเบียนโตมีชื่อเสียงย่ำแย่จากอารมณ์รุนแรง และข้อกล่าวหา ‘ลักพาตัว’ และ ‘ทรมาน’ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คนในปาปัว (Papua) และติมอร์ตะวันออก (East Timor) ทว่าเขาปฏิเสธและไม่ได้รับโทษทางอาญา ก่อนที่เขาจะปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้นุ่มนวลเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ด้วย ‘แมว’ และ ‘TikTok’

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2024/feb/13/indonesia-election-2024-president-joko-widodo-prabowo-subianto-interference-allegation

https://www.thejakartapost.com/indonesia/2024/02/12/dirty-vote-documentary-claims-jokowi-improperly-backed-election-frontrunner.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/indonesia-students-plan-protest-alleged-poll-interference-2024-02-12/

https://www.theguardian.com/world/2024/feb/05/2024-indonesia-general-election-everything-you-need-to-know

https://www.theguardian.com/australia-news/2023/oct/17/joko-widodos-son-can-run-for-indonesian-vice-president-after-controversial-court-ruling

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,