คำกล่าวที่ว่า “เกิดเป็นวัว ยังเป็นปลอดภัยกว่าการเป็นผู้หญิงในอินเดีย” คงไม่เกินความจริง หากพิจารณาสถิติคดีอาชญากรรม คือ ‘การข่มขืน’
มีรายงานเปิดเผยว่า ในปี 2021 อินเดียได้รับร้องเรียนคดีดังกล่าวถึง 31,167 กรณี ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ย 86 กรณีต่อวัน ยังไม่รวมอาชญากรรมอื่นๆ ต่อผู้หญิงอีกนับ 428,278 กรณี เช่น การข่มขืนและฆาตกรรม การใช้น้ำกรดสาดใส่ การลักพาตัว การบังคับแต่งงาน หรือการคุกคามทางออนไลน์ ฯลฯ
ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น กระบวนการยุติธรรมและสังคมยังจ้องทำร้ายพวกเธอซ้ำสอง เมื่อมีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความอับอายให้กับเหยื่อ หรือการเตะถ่วงการดำเนินคดีให้ล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเหยื่อเป็นผู้หญิงจาก ‘ชนกลุ่มน้อย’ ในสังคม เรื่องราวจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก จนอาจกล่าวได้ว่า ต่อให้พวกเธอรอดพ้นจากฝันร้ายที่ไม่มีวันลืมเลือนได้แล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันของสังคมต่อ พวกเธอแทบไม่มีทางจะอยู่อย่างมีความสุขในชีวิตที่เหลืออีกเลย
เช่นเดียวกับประสบการณ์ของ อาฟรีน (Aafreen) นามสมมติของเหยื่อรายหนึ่ง เมื่อเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงชาวมุสลิม 7 คน ที่ถูกการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ปี 2013 ในเหตุการณ์การจลาจลในเมืองมุซาฟฟาร์นาการ์ (Muzaffarnagar) ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh)
***Trigger Warning บทความนี้มีเรื่องราวสะเทือนใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การเหยียดย้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
วันที่เธอไม่ลืมเลือน 8 กันยายน 2013 อาฟรีนอยู่ในบ้านกับลูกชาย หลังจากสามีของเธอพาลูกชายอีก 2 คนไปหาหมอ จู่ๆ ชายนิรนามคนหนึ่งบุกเข้ามาที่บ้าน
“ผู้ชายพวกนั้นบอกว่า ถ้าฉันหนี เขาจะฆ่าลูกชายฉัน พวกเขาข่มขืนฉันทีละคน ฉันได้แต่ขอร้องให้หยุด แต่พวกเขายังคงทำร้ายฉันแบบนั้นอยู่” เธออธิบายเหตุการณ์กับอัลจาซีรา (Al Jazeera) ที่มีโอกาสสอบถามเรื่องราวและความรู้สึกของเธอ
หลังจากบ้านของเธอถูกเผาและปล้นสะดมด้วยในเหตุการจลาจลครั้งนั้น อาฟรีนและครอบครัวย้ายไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 8 เดือน เมื่อเธออยู่ในที่ตรงนั้น เธอก็รวบรวมความกล้าเพื่อบอกกับสามีว่า เธอถูกข่มขืนโดยผู้ชาย 3 คน
นับว่าเป็นความโชคดีในฝันร้าย สามีของอาฟรีนตัดสินใจจะสู้ไปกับเธอด้วยการฟ้องร้องในศาล กลับกัน ตำรวจในรัฐอุตตรประเทศปฏิเสธคำร้องของเธอ
“เจ้าหน้าที่บอกฉันว่า ฉันมาช้าไปแล้วหนึ่งเดือน คดีของฉันจึงเป็นการแจ้งความเท็จ ในเวลานั้นฉันรู้สึกท้อแท้มาก” อาฟรีนเปิดเผยว่าตำรวจปฏิเสธอย่างไร
จนกระทั่ง เรื่องราวดำเนินไปถึงศาลฎีกาในปี 2014 เธอและสามีพยายามฟ้องร้องให้ผู้ชาย 3 คนต้องได้รับโทษทัณฑ์จากความผิดในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า คดีความของอาฟรีนและผู้หญิงอีก 6 คนที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศในเหตุการณ์จลาจล ถูกแช่แข็งเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเนื้อหาการยื่นคำร้องที่แตกต่างกัน
มีรายงานว่า เหยื่อผู้หญิงคนหนึ่งถอนตัวการฟ้องร้อง หลังจากลูกชายของเธอถูกข่มขู่จากผู้กระทำความผิด ในขณะที่ อีก 6 คดีได้รับมอบหมายให้ขึ้นศาลแบบกระบวนการพิเศษที่เรียกว่า ‘Fast-Track’ แต่นั่นก็เกิดความล่าช้าอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โศกนาฏกรรมของพวกเธอดันเกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม เรื่องราวจึงบานปลายไม่รู้จบสิ้นอีก
“ฉันอยากบอกผู้หญิงที่เหลือว่า คุณต้องสู้ต่อไป มันเป็นหนทางเดียว ฉันมีความต้องการจะสู้ ความดื้อดึงที่จะเห็นคดีลุล่วงไปได้ด้วยดี ผู้หญิงไม่ควรให้ปล่อยสังคมทำให้เราอับอายขายหน้า” อาฟรีนกล่าว
ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมที่นำมาสู่บาดแผลของผู้หญิง: การซ้ำเติมของสังคมและผู้มีอำนาจ
สาเหตุที่เรื่องราวนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมือง ต้องย้อนไปถึงพื้นที่ของเหตุการณ์ คือรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นภูมิภาคขนาดใหญ่ มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย รวมถึงมีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากเช่นกัน
เหตุการณ์จลาจลในมุซาฟฟาร์นาการ์ ปี 2013 ก็เป็นหนึ่งในการปะทะกันระหว่าง ‘ชุมชนมุสลิม’ กับ ‘ชาวจัต’ (Jat) กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมทางตอนเหนือของอินเดีย หลังจากสมาชิกของพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janta Party: BJP) พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) กล่าวปราศรัยปลุกระดม และเผยแพร่วิดีโอปลอมของเด็กผู้ชายฮินดูคนหนึ่งที่ถูกชาวมุสลิมทำร้าย
ด้วยความโกรธแค้นของชาวฮินดู ความรุนแรงดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปราว 60 ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงชาวมุสลิมตกเป็นเป้าหมายการสร้างความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆ เท่าที่หลายคนจะนึกออก จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกเปลี่ยนศาสนาเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม
สำหรับเหยื่อในเหตุปะทะ ตามรายงานที่เป็นทางการ ผู้หญิงที่รอดชีวิตจากการข่มขืน รวมถึงอาฟรีน เป็นชาวมุสลิมทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้ก่อเหตุอยู่ในกลุ่มชาวจัต
แม้จะมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่มีเพียงอาฟรีนและผู้หญิงอีก 7 คน ออกมายื่นฟ้องอย่างเป็นทางการกลุ่มแรก มีการจัดทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทุกคนล้วนให้การเหมือนกันว่า เธอถูกขืนใจโดยผู้ชาย 3 คนขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาจากฝันร้ายของพวกเธอ คือการคุกคามและการข่มขู่จากผู้คนในสังคมและผู้มีอำนาจ
“เขาข่มขู่ฉันว่า พวกเขาจะทำร้ายลูกชายฉัน ฉันจึงกลัวและเปลี่ยนคำร้องในเวลาต่อมา โดยบอกว่ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฉันไม่ได้บอกใครเลย แต่เมื่อเหยื่อคนอื่นๆ รู้เข้า จึงให้กำลังใจฉัน แล้วบอกว่าให้เชื่อในความจริง” หนึ่งในเหยื่อ 7 คน บอกเล่าผ่านแอมเนสตีอินเดียตามรายงานของอัลจาซีรา พวกเธอยังเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่พยายามข่มขู่ว่าจะส่งคำร้องเรียนคืน และทำให้เป็นที่ขายหน้าของสังคม
เหยื่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้ง 7 คนยังถูกมองจากสังคมว่าเป็น ‘อุปสรรคสำคัญ’ ที่ขัดขวางการสงบศึกระหว่างกลุ่มมุสลิมกับฮินดู หลายคนตำหนิพวกเธอ และบางคนถึงกับขอให้พวกเธอประนีประนอมกับผู้ต้องหาเพื่อ ‘รักษาความสงบสุขในสังคม’
สามีของอาฟรีนก็ตกเป็นประเด็นไม่ต่างจากเธอเช่นกัน เมื่อครั้งเธอต้องกลับมาในอุตตรประเทศอีกครั้ง หลังจากค่าใช้จ่ายในเมืองนิวเดลี (New Delhi) สูงมากจนไม่เพียงพอที่จะดำรงอยู่พร้อมกับลูก 3 คน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านไม่พูดกับเธอ อีกทั้งสามียังถูกทำร้ายร่างกายจากชายนิรนาม
“ในปี 2017 มันแย่มากเลย เมื่อเราพบว่ามีคนตามเราไปที่ใดบ้าง สามีของฉันไปศาล ผู้ชายที่ไหนไม่รู้โผล่มา และตีเขาอย่างรุนแรง ฉันคิดว่าเขาน่าจะตายไปแล้ว
“ฉันจำได้ สามีเคยบอกฉันว่า เขาเบื่อกับการถูกคุกคามและเยาะเย้ย ฉันจึงบอกว่าคุณสามารถไปจากฉันได้เลย ถ้าคุณต้องการ เราก็หย่ากัน แต่ฉันจะไม่หยุดต่อสู้” อาฟรีนอธิบายเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตแต่งงานโดยตรง แต่เธอจะไม่ยอมแพ้ที่จะได้รับความยุติธรรม
ปัจจุบัน แม้ว่าผู้ต้องหา 2 คนได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปีแล้ว เมื่อ 3 อาทิตย์ที่ผ่านมาอย่างสดๆ ร้อนๆ แต่อาฟรีนก็ยังไม่สามารถหลับตาลงอย่างสบายใจ เพราะความเจ็บปวดที่เคยปกปิดมาตลอด กลายเป็นที่รับรู้ของคนในสังคมขึ้นมา
“ใครไม่รู้เผยแพร่ชื่อที่แท้จริงของฉันออกมาระหว่างคุยกับฉันในมุซาฟฟาร์นาการ์ ผู้คนจึงรู้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นกับฉันเอง
“ผู้คนจากย่านนี้ และส่วนอื่นๆ ในมุซาฟฟาร์นาการ์ เอาแต่เรียกสามีของฉัน และถามเขาว่า ทำไมถึงไม่บอกพวกเขาว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับฉัน” เธออธิบายกับอัลจาซีราว่า การเปิดเผยตัวตนยิ่งทำให้เธออ่อนแอลงยิ่งขึ้นอีก สามีของเธอถึงกับปิดโทรศัพท์ในโหมดเงียบเป็นเวลาหลายวัน
จาก ‘เหตุการณ์ของอาฟรีน’ สู่ ‘ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศชนกลุ่มน้อย’ ทั่วโลก: เมื่อผู้หญิงตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายขวาในการสร้างความรุนแรง
“พูดให้กระจ่างขึ้น ในอินเดีย หรือแม้แต่ในโลกนี้ ผู้หญิงในชนกลุ่มน้อยมักตกเป็นเป้าของการสร้างความเกลียดกลัวต่างชาติพันธุ์ (Xenophobia) และกลุ่มฝ่ายขวา
“ดังนั้น การใช้ความรุนแรงทางเพศต่อพวกเธอเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากจินตนาการอันร้ายแรงและถูกทำให้มีค่าขึ้นมา โดยเฉพาะภายใต้เรือนร่างของชาวมุสลิม ผู้กระทำต้องการจะลบหลู่ สร้างความอับอาย และเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์” ฟาราห์ นักวี (Farah Naqvi) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิสตรี ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา ซึ่งเน้นย้ำไปที่การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเรือนร่างสตรีชาวมุสลิมที่ต้องปกปิดและสงวนเป็นพิเศษ
นอกจากนั้น เธอยังให้ความเห็นว่า การข่มขืนเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของระบอบชายเป็นใหญ่ที่ส่งสัญญาณให้ผู้ชายคนอื่นๆ ในชุมชนรับรู้ว่า พวกเขาจะสามารถใช้กำลังบังคับและครอบครองสิ่งที่ต้องการได้ ซึ่งฟาราห์อธิบายว่า เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์อินเดียมาตลอด เพราะนี่คือวิธีการอันประจักษ์ที่จะเห็นผลลัพธ์ว่า พวกเขาสร้างความเสียหายหรือทำร้ายชุมชนอื่นได้อย่างไรบ้าง
“เพื่อที่จะเข้าใจการส่งมอบความยุติธรรมให้เหยื่อ อย่างแรก คุณต้องเข้าใจว่าความรุนแรงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากการสมรู้ร่วมคิดและการเอนเอียงของรัฐ” ฟาราห์ยังโจมตีถึงบทบาทของรัฐที่ไม่ได้เอื้ออำนวยความยุติธรรมในคดีดังกล่าว เมื่อต้องใช้เวลากว่าหนึ่งทศวรรษเต็มๆ ถึงจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้
หากพิจารณาความคิดของนักกิจกรรมในข้างต้น จะพบว่ายังมีเหยื่อผู้หญิงชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในโลกที่ต้องพบกับประสบการณ์อันเลวร้ายข้างต้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ผู้หญิงและเด็กชาว ‘โรฮีนจา’ (Rohingya) จำนวนมาก เป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากกลุ่มทหารเมียนมา ตามรายงานของฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) และสื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก
แต่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธและกล่าวโทษเหยื่อว่า “ผู้หญิงเหล่านี้ที่อ้างว่าถูกข่มขืน แต่ดูรูปร่างหน้าตาของพวกเขาสิ คุณคิดว่ามันเป็นแบบนั้นเหรอ หน้าตาของพวกเขาน่าโดนข่มขืน?” รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชายแดนของรัฐยะไข่ตอบคำถามกับสื่อมวลชนเสมือนคำพูดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
หรือแม้แต่รัฐบาลของอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ที่หลายคนมองว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ยังออกมาปฏิเสธว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องโกหก ด้วยการออกข่าวประชาสัมพันธ์เพื่อโต้แย้งรายงานการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิงโรฮีนจา พร้อมกับภาพที่ระบุว่านี่คือ ‘การข่มขืนปลอม’ ในเดือนธันวาคม 2016
เรื่องราวของอาฟรีนและผู้หญิงโรฮีนจาหลายคนจึงเป็นแค่ ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ของกลุ่มชายขอบในปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศ ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ไม่ได้เป็นที่รับรู้ของสังคมเป็นวงกว้าง
เพราะลำพังการเป็นผู้หญิงชายขอบในสังคมที่ไม่ได้รับการปกป้อง ก็นับว่าเลวร้ายแล้ว มิหนำซ้ำ รัฐและผู้มีอำนาจกลับปกป้องผู้กระทำความผิด เพียงเพราะตอบสนองต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ หรือ ‘ความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นแนวคิดความมั่นคงที่มีกรอบความเป็นชายครอบงำอยู่สูง โดยไม่สนใจ ‘ความยุติธรรม’ ในฐานะสิ่งที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ควรได้รับ ไม่ว่าจะเพศ ชาติพันธุ์ หรือสีผิวใดๆ ก็ตาม
อ้างอิง
https://www.britannica.com/topic/Jat
https://www.aljazeera.com/opinions/2017/2/10/women-in-uttar-pradesh-are-still-waiting-for-justice
https://www.hrw.org/news/2019/02/07/myanmars-hollow-denial-rape-rohingya
Tags: พรรค BJP, ความขัดแย้งทางศาสนา, การล่วงละเมิดทางเพศ, อินเดีย, ชนกลุ่มน้อย, มุสลิม, มุซาฟฟาร์นาการ์