สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานตรงกันในช่วงสัปดาห์นี้ว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลก คาดการณ์จากนักประชากรศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ จนถึงกรกฎาคม อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนยังไม่เห็นด้วย เพราะตัวเลขไม่มีความชัดเจนมากพอ แม้ว่าบางส่วนถึงกับออกความเห็นว่า ประชากรของอินเดียอาจทำลายสถิติแซงหน้าจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“อันที่จริง เราไม่มีทางทราบอย่างแน่นอนว่า ประชากรของจีนและอินเดียจะแซงหน้ากันและกันตอนไหน…มันมีปัจจัยอย่างความไม่แน่นอนบางอย่าง ไม่เพียงแต่ประชากรของอินเดีย แต่ประชากรของจีนก็สำคัญเช่นกัน” บรูโน ชูเมกเกอร์ (Bruno Choumaker) นักประชากรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในเบลเยี่ยม Université catholique de Louvain in Belgium ให้เหตุผล
สำหรับปัจจุบัน จีนยังคงถูกบันทึกว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากร 1,462 ล้านคน ซึ่งถูกบันทึกนับตั้งแต่ปี 1950 โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในขณะที่อินเดียมีประชากรน้อยกว่าจีนเพียงเล็กน้อย แต่ก็นับว่าเยอะเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยจำนวน 1,412 ล้านคน
นอกเหนือจากนั้น มีการวิเคราะห์ว่า ภายในปี 2050 ประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1,668 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม ประชากรจีนจะลดลงมาเหลือเพียง 1,317 ล้านคน ท่ามกลางการคาดการณ์จำนวนประชากรทั้งโลกในเวลาดังกล่าวถึง 9,700 พันล้านคน
อะไรเป็นมูลเหตุการลดลงประชากรของจีน?
แม้ว่า ‘นโยบายลูกคนเดียว’ (One Child Policy) โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Communist Party: CCP) นับตั้งแต่ปี 1980 ถูกกำจัดโดยรัฐบาลจีนนับตั้งแต่ปี 2016 และอนุญาตให้ครอบครัวหนึ่ง มีลูกถึง 3 คน เพราะจีนกำลังเข้าสู่ยุค ‘สังคมผู้สูงอายุ’ จนทำให้ประชากรลดลงมากที่สุดในรอบ 6 ทศวรรษนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ล้มตายของผู้คน เพราะนโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward)
แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาสภาวะขาดแคลนประชากรของจีนเลย แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง อัตรากำเนิดของประชากรเพิ่มขึ้น 8% ตามความต้องการของผู้นำ แต่กลับลดลง 3.5% ในปีถัดไป แนวโน้มนี้เริ่มทวีคูณความรุนแรง เพราะเกิด ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ หรือสภาวะการพัฒนาเศรษฐกิจหยุดชะงักงัน ชนชั้นกลางหลายครอบครัว เริ่มให้กำเนิดบุตรน้อยลง เพราะมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าเลี้ยงดูราคาแพง
นอกเหนือจากปัญหาทางการเศรษฐกิจอย่างค่าครองชีพราคาแพง ความยากจนในครัวเรือนที่ทำให้หลายคนไม่อยากมีลูก แรงกดดันมหาศาลภายใต้โครงสร้างสังคม ‘ปิตาธิปไตย’ แต่เดิม ถูกทำให้เข้มข้นขึ้นภายใต้ผู้นำเผด็จการ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) เช่น นโยบายการเพิ่มอัตราการกำเนิดหรือการแต่งงานอย่างกิจกรรมรณรงค์ การกระตุ้นคู่รัก ‘มีลูกเพื่อชาติ’
กระแสนี้ถูกตีกลับอย่างรุนแรงในหมู่ผู้หญิง เมื่อมีผู้คนในโลกโซเซียลใช้คำว่า ‘Sheng Nu’ หรือ ‘ผู้หญิงที่ไม่มีใครเอา’ สำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 27 ปี ที่ยังไม่แต่งงาน ยังไม่รวมนโยบายอื่นๆ อย่าง ‘การควบคุมการทำแท้ง’ หรือ การเสนอ ‘กองทุนให้กำเนิด’ โดยให้ประชากรผู้มีลูกน้อยกว่า 2 คนต้องจ่ายให้เงินกับรัฐ
นโยบายการสนับสนุนการมีลูกดังกล่าวนี้จึงกดขี่และบั่นทอนเสรีภาพของผู้หญิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุด ผู้หญิงหลายคนในประเทศจีนจึงตัดสินใจไม่แต่งงาน อยู่เป็นโสด และอุทิศตนให้กับการทำงานเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเธอแทน
“[เราสามารถ] มีลูกได้ 3 คน แต่ปัญหาคือฉันไม่ต้องการมีลูกเลยแม้แต่คนเดียว…คุณรู้ไหมว่าหนุ่มสาวส่วนใหญ่รู้สึกว่าการดูแลตัวเองก็เป็นเรื่องหนักหน่วงอยู่แล้ว” บีบีซีไทย (BBC Thai) รายงานความคิดเห็นของผู้คนในโซเซียลมีเดียจีน เว่ยป๋อ (Weibo) ถึงนโยบายลูก 3 คนของรัฐบาลจีน
ทำไมประชากรของอินเดียจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ?
มูลเหตุสำคัญทำให้ประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจากการขาดมาตรการวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง อินเดียเคยมีแผนจัดการประชากรในแต่ละครัวเรือนก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1975 สังคมอินเดียประสบวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมซบเซา จนอดีตนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี (Indira Gandhi) จำกัดเสรีภาพของประชาชนด้วยสภาวการณ์ฉุกเฉิน เริ่มจากการบังคับให้ผู้ชายทำหมัน ซึ่งไม่ได้รับความนิยมมากนักในภายหลัง
จนกระทั่ง 2 ทศวรรษที่ผ่านไป รัฐบาลชุดต่อๆ มาจากอินทิรากลับไม่ได้มีแผนการกำหนดประชากรแต่ละครอบครัว อีกทั้งวิธีการควบคุมประชากรยังคงกลับไปมุ่งเน้นที่ผู้หญิง มีรายงานจากรัฐบาลว่าในระหว่างปี 2013-2014 ผู้หญิงอินเดียทำหมันเกือบ 4 ล้านคน สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินไปเรื่อยๆ จนปี 2017 จนถึงตอนนี้ อาจกล่าวได้ว่าระบบสาธารณสุขของอินเดียไม่มีตัวเลือกคุมกำเนิดมากมายนัก ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนอินเดียแล้วอาจคิดเห็นตรงกันข้ามกับคนทั้งโลก เพราะพวกเขายังมองว่า อัตราการเติบโตของประชากรในประเทศยังลดลงจาก 24.7% ในปี 1971 และ 1981 สู่ 17.7% ในระหว่างปี 2001 และ 2011 เพราะปัญหาความยากจนในประเทศ การเข้าไม่ถึงสิทธิได้รับการศึกษา และสวัสดิการทางสุขภาพ
เหตุผลข้างต้นนี้ มาจากทัศนคติของผู้คน สังคมอินเดียมองว่าการเพิ่มพูนประชากรในประเทศจะนำมาสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี “คนหนุ่มสาวอินเดียรุ่นนี้จะทั้งผู้บริโภคและแรงงานขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งมิติความรู้และระบบการค้าขายทั่วโลก” ชรูตี ราชโกปาลัน (Shruti Rajagopalan) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียอธิบาย
บทวิเคราะห์: อัตราประชากรที่สวนทางกันของสองประเทศจะส่งผลกระทบอย่างไร?
ผลกระทบที่ตามมาจากเรื่องอัตราการกำเนิดของประชากร คงหนีไม่พ้นประเด็นทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองที่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากการไหลเวียนของแรงงานหรือผู้คน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะและฝีมือสอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี Apple ซึ่งนำมาสู่การดึงดูดกลุ่มทุนต่างชาติ และเปลี่ยนเมืองเล็กๆ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำ ทั้งด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี อีกทั้งยกคุณภาพชีวิตประชากรดั่งที่จีนเคยเป็นมาแล้วในอดีต
ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนและชาติตะวันตก อาจเป็นใบเบิกทางสำคัญให้อินเดียขึ้นมามีอิทธิพลในโลกระหว่างประเทศ เริ่มจากบทบาทของอินเดียในการเป็นผู้นำใน G-20 ของปีนี้ และประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง UN รวมถึงเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS)
หากมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น ประกอบกับการมีเทคโนโลยีชั้นนำ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารให้ล้ำหน้ากว่าชาติอื่นๆ ในโลก อินเดียอาจพัฒนาจากสถานะมหาอำนาจกลาง (Middle Power) ขึ้นมาสู่มหาอำนาจประจำภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อแข่งขันกับจีน หรือมากกว่านั้น อินเดียอาจกลายเป็นมหาอำนาจใหญ่ (Great Power) และมีสิทธิจับจองที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) หากผลประโยชน์ต่างๆ ลงตัวมากพอที่จะทำให้ชาติสมาชิกถาวร ‘P5’ ยอมรับขึ้นมาก็เป็นได้
ในทางกลับกัน การลดลงของจำนวนประชากร เป็นสัญญาณเตือนอันหนักหน่วงของจีนในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสถานะยิ่งใหญ่ของปักกิ่งบนเวทีโลกปัจจุบัน มาจากการเพิ่มขึ้นของแรงงานและผู้คนนับตั้งแต่อดีต นั่นหมายความว่าหากรัฐบาลจีนไม่สามารถหาหนทางจัดการกับจำนวนอัตราประชากรที่ลดลงได้ในเร็ววันนี้ เป้าหมายของจีนที่ต้องการแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในปี 2035 ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางการทหาร อาจเป็นเพียงความฝันอันเลือนลางของผู้นำแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ก็เป็นได้
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-57306729
https://time.com/6248790/india-population-data-china/
https://time.com/5523805/china-aging-population-working-age/
Tags: อัตราการเกิด, BRICS, จีน, อินเดีย, สิทธิสตรี, เศรษฐกิจโลก