เมื่อวานนี้ (5 กันยายน 2023) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงแนวโน้มการเปลี่ยนชื่อประเทศอินเดีย หลัง นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรี ได้ใช้ชื่อ ‘ภารัต’ (Bharat) แทน ‘อินเดีย’ ในเอกสารคำเชิญงานเลี้ยงอาหารค่ำของการประชุมสุดยอด G20 (Group 20) ท่ามกลางกระแสบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย

แต่เดิม ภารัตเป็นคำศัพท์ในภาษาสันสกฤต (Sanskrit) มีรากเหง้าตั้งแต่ยุคโบราณในศาสนาฮินดู โดยปรากฏในคัมภีร์ปุราณะว่าด้วยพื้นดินแห่งหนึ่งที่มนุษย์อาศัยอยู่ที่มีชื่อเรียกว่า ‘ภารตวาส’ (Bharatavarsa) อีกทั้งยังเป็นชื่อเรียกที่สลับใช้กับคำว่าอินเดียและฮินดูสถาน (Hindustan) ในปัจจุบัน

โดยในเอกสารคำเชิญดังกล่าว ชื่อของ เทราปตี มุรมู (Droupadi Murmu) ได้รับการระบุว่าเป็น ‘ประธานาธิบดีแห่งภารัต’ แทนที่ชื่อตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอินเดีย 

(ที่มา: Al Jazeera)

แม้ช่วงแรกมีกระแสบนโลกออนไลน์ไม่เชื่อถือแหล่งข่าวนี้ แต่ภายหลังก็ได้รับการยืนยันโดย ไจรัม ราเมศ (Jairam Ramesh) เลขาธิการพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย (India National Congress: INC) ว่า อินเดียใช้ชื่อภารัตในการประชุม G20 จริง

“มูลข่าวดังกล่าวเป็นความจริง เทราปตี มุรมู ส่งคำเชิญในงานเลี้ยงอาหารค่ำของการประชุม G20 ในนามประธานาธิบดีแห่งภารัต แทนที่การใช้ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอินเดีย (…)” ราเมศโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์

(ที่มา: AFP)

ทว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอน เมื่อพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) พรรคการเมืองของโมดี พยายามเรียกร้องการเปลี่ยนชื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า ‘อินเดีย’ คือสัญลักษณ์ของความเป็นทาส เมื่อจุดกำเนิดของชื่อมาจากอังกฤษ เจ้าอาณานิคมที่ครอบครองดินแดนแห่งนี้เป็นระยะเวลา 200 ปี

“อังกฤษเปลี่ยนชื่อภารัตเป็นอินเดีย ตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่ว่า ‘อินเดียหรือภารัต’ ประเทศของเราเป็นที่รู้จักในชื่อภารัตมานานกว่าพันปี มันเป็นชื่อโบราณที่พบเจอในตำราภาษาสันสกฤต” นเรศ บันสัล (Naresh Bansal) สมาชิกรัฐสภาจากพรรค BJP เสนอความคิดเห็น โดยระบุว่า อินเดียคือมรดกในยุคอาณานิคม และควรกำจัดทิ้งออกจากรัฐธรรมนูญ

ย้อนประวัติศาสตร์ ‘อินเดีย’ ฉบับสรุป: ชื่อที่มาจากยุคอาณานิคม

จุดเริ่มต้นของชื่ออินเดียต้องย้อนกลับไปในยุคแห่งการล่าอาณานิคม ตั้งแต่ปี 1749-1947 เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเรียกชื่ออนุทวีปอินเดียว่า ‘อินเดีย’ โดยมีที่มาจากชื่อของแม่น้ำสินธุ (Indus, Sindhu) หรือบริเวณทางตะวันตกที่บริทิชอินเดีย (British India) ครอบครอง 

จนกระทั่งในปี 1947 อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ สังคมเริ่มตั้งคำถามว่า ประเทศยังสมควรใช้ชื่อเดิมจากเจ้าอาณานิคมอยู่หรือไม่ ทว่ามีการลงความเห็นในขั้นตอนยกร่างรัฐธรรมนูญว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม การใช้คำว่าภารัตหรืออินเดียจึงไม่ผิดแปลกอย่างใด ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของประเทศ

“อินเดียหรือภารัต เป็นดินแดนแห่งสหพันธรัฐ”

เมื่อเวลาผ่านไป คำว่าอินเดียกลับเป็นที่รู้จักในโลกระหว่างประเทศมากกว่า ขณะที่ภารัตมักเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้ภาษาฮินดีหรือผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม คำนี้ยังมีความลึกซึ้งในเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏในงานศิลปะ วรรณกรรม และคัมภีร์โบราณของฮินดู เช่น มหากาพย์มหาภารตะ (Mahabharata) ฯลฯ

‘ภารัต’ สำหรับกลุ่มฮินดู แต่ไม่ใช่สำหรับชนชาติอื่นๆ: เสียงของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

“ความเกลียดชังของพรรค BJP ต่อหลักการพื้นฐานของประเทศ ว่าด้วยความสามัคคีท่ามกลางความหลากหลายของอินเดีย มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว

“การลดชื่อของประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฮินดูสถานและอินเดียเหลือแค่เพียงภารัตเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความใจแคบและการไม่ยอมรับผู้อื่น” เมห์บูบา มุฟตี (Mehbooba Mufti) ประธานพรรคประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir Peoples Democratic Party: PDP) โพสต์ข้อความวิจารณ์โมดีลงในแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) โดยให้นัยสำคัญว่า ภารัตเป็นคำศัพท์ในกลุ่มฮินดู แต่ไม่รวมถึงชนชาติอื่นๆ ในประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็มีสมาชิกรัฐสภาแสดงความคิดเห็นว่า แม้ชื่ออินเดียจะมาจากยุคอาณานิคม แต่ทั่วโลกต่างรู้จักประเทศในชื่อนี้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

“รัฐธรรมนูญไม่มีข้อห้ามเรียกอินเดียว่าภารัต ซึ่งตามปกติพวกเราก็ใช้ทั้งสองคำ ผมหวังว่ารัฐบาลจะไม่โง่เขลาจนเกินไปกับคำว่า อินเดีย ในฐานะสิ่งที่สร้างมูลค่าอันประเมินไม่ได้ให้กับประเทศ ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา” ชาชิ ธารูร์ (Shashi Tharoor) สมาชิกรัฐสภากล่าว โดยสนับสนุนให้อินเดียใช้ชื่อเดิมต่อไป

นเรนทรา โมดีและฝ่ายขวาชาตินิยม กับความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมในนาม ‘ภารัต’

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข้อถกเถียงดังกล่าว ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามในหมู่ประชาชน ที่ส่งเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศขึ้นสู่ศาลสูงสุดของอินเดียเพื่อพิจารณาในปี 2016 และปี 2020 ทว่าไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด

 และหากย้อนกลับไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายขวาและพรรค BJP ในอดีต ก็มีความพยายามลบล้างสิ่งที่เรียกว่า ‘มรดกทางอาณานิคม’ นอกเหนือจากชื่อของประเทศ เดอะการ์เดียน (The Guardian) อธิบายว่า การขึ้นมาของพรรค BJP ในปี 2014 คือจุดเริ่มต้นของอินเดียในยุคหลังอาณานิคม (Post-Colonialism) ที่พยายามถอนรากประวัติศาสตร์ช่วงอาณานิคมอย่างแท้จริง 

“ชัยชนะของโมดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยุติโครงสร้างอำนาจที่ไม่แตกต่างจากช่วงอังกฤษยึดครองอินเดีย เมื่อพรรคคองเกรสแห่งชาติทิ้งวิถีทางที่สืบสานบริทิชอินเดีย” ส่วนหนึ่งจากบทความในเดอะการ์เดียน หลังพรรค BJP กวาดที่นั่งในสภาได้ 282 จาก 543 ที่ ในปี 2014

ทว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่โดยมี ‘ชนชาติอินเดีย’ เป็นศูนย์กลาง และละทิ้งประวัติศาสตร์ของกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ 

เริ่มตั้งแต่ท่าทีของโมดีช่วงต้นของการรับตำแหน่ง เขาทำลายธรรมเนียมเดิมของผู้นำอินเดีย ด้วยการพูดภาษาฮินดีบนเวทีโลก แม้จะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ก็ตาม

ขณะที่ในปี 2015 โมดีเปลี่ยนชื่อถนนออรังเซพ (Aurangzeb) นามของจักรพรรดิในราชวงศ์โมกุลเป็น ถนนอับดุล การัม (Abdul Kalam) ตามชื่อของอดีตประธานาธิบดีอินเดีย รวมถึงการ ‘ยกเลิกไฟไซเรน’ ที่ติดรถนักการเมืองและบุคคลสำคัญในปี 2017 ซึ่งได้รับการมองว่า เป็นวัฒนธรรมที่ได้รับจากอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม

ยังไม่รวมกรณี ‘แผนการเปิดใช้รัฐสภาใหม่’ ในปี 2023 โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ปราศจากมรดกในยุคอาณานิคม แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูและถูกบอยคอตจากพรรคฝ่ายค้านราว 20 พรรคว่า เป็นการทำลายหลักการรัฐโลกวิสัย (Secularism) ของอินเดีย เมื่อมีการประกอบพิธีทางศาสนาในรัฐสภา

 

(ที่มา: AFP)

(ที่มา: AFP)

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามบางส่วนของโมดี โดย ราเคษ บาทับยาล (Rakesh Batabyal) นักวิชาการประวัติศาสตร์ อธิบายกับด็อยต์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle: DW) สื่อข่าวสัญชาติเยอรมันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใส่ ‘สีขาว-ดำ’ ในประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยไม่พิจารณาถึงบริบทอื่นๆ แค่เพราะต้องการเรียกคะแนนเสียงของกลุ่มฝ่ายขวาฮินดู

อ้างอิง

https://time.com/6310821/bjp-rename-india-bharat/

https://www.aljazeera.com/news/2023/9/5/indias-modi-govt-replaces-countrys-name-with-bharat-in-g20-dinner-invite

https://apnews.com/article/india-sanskrit-name-bharat-modi-g20-72782ba81aa67dcf7e197a98fec9b5f5

https://economictimes.indiatimes.com/news/politics-and-nation/govt-likely-to-move-bill-to-rename-india-as-bharat-in-parliaments-special-session/articleshow/103381210.cms?from=mdr

https://www.dw.com/en/how-hindu-nationalists-are-dealing-with-indias-colonial-past/a-59125708

https://newlinesmag.com/argument/how-hindu-nationalists-redefined-decolonization-in-india/

https://www.reuters.com/world/india/modi-inaugurates-new-parliament-building-part-new-delhis-makeover-2023-05-28/

https://cdnbbsr.s3waas.gov.in/s380537a945c7aaa788ccfcdf1b99b5d8f/uploads/2023/05/2023050195.pdf

https://news.abplive.com/news/india/india-to-bharat-country-name-change-what-supreme-court-said-1627743

https://www.theguardian.com/global/2014/may/18/india-narendra-modi-election-destiny

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,