ความตึงเครียดทางการเมืองโลกมีทีท่าที่จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่วนใหญ่มาจากปัญหาเก่าคาราคาซัง ทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน สงครามในภูมิภาคทิเกรย์ ประเทศเอธิโอเปีย การทำสงครามระหว่างประชาชนกับรัฐบาลทหารในประเทศเมียนมา หรือการต่อสู้ในอัฟกานิสถานระหว่างกลุ่มตาลีบันกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ทำให้สถานการณ์โลกอยู่ในช่วงเฝ้าระวังอีกครั้ง และเกิดการประเมินความเสียหายจากการใช้อาวุธหนักโจมตีเมือง

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) เผยแพร่เอกสารหนึ่งชิ้นชื่อว่า Explosive Weapons with Wide Area Effects: A Deadly Choice in Populated Areas หรือ การใช้ระเบิดที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง: ทางเลือกที่อันตรายต่อพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ 

ข้อมูลในเอกสารมีทั้งการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศ การบุกโจมตีทางบก การปะทะและใช้ระเบิดตามพื้นที่ชุมชน เมื่อนำข้อมูลการโจมตีทั่วโลกมารวมกัน พบว่าการต่อสู้ในเขตเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

จากการเก็บสถิติหลายแห่ง อาทิ อัฟกานิสถาน อิรัก ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ยูเครน เยเมน เอธิโอเปีย ฯลฯ พบว่าการปล่อยจรวดพิสัยไกลแต่ละครั้งสร้างความรุนแรงเป็นวงกว้าง สงครามในเขตเมืองทำให้ประชากรกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ทำให้เกิดสงครามโดยตรงได้รับผลกระทบหนัก บ้านเรือนบางคนถูกทิ้งระเบิดจนเละ ประชาชนสูญเสียทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งสูญเสียชีวิตคนในครอบครัว

ย้อนกลับไปยังปี 2009 ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซา ปาเลสไตน์ ส่งผลให้ประชากร 1 ใน 3 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ที่บาดเจ็บล้วนเป็นเยาวชน และมีเด็ก 353 คนเสียชีวิตจากระเบิด 

ข้อมูลในเอกสารยังระบุอีกว่า ปี 2020 ประชาชนชาวอัฟกานิสถานราว 2,000 คน ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียทรัพย์สินจากสะเก็ดระเบิดปืนใหญ่ เครื่องยิงจรวด และปืนครก ที่กลุ่มตาลีบันยิงใส่กลุ่มต่อต้าน

จากข้อมูลที่รวบรวมมาหลายสิบปี ICRC ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทุกความขัดแย้งเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการโต้ตอบฝ่ายที่มีข้อพิพาทที่ส่วนใหญ่มักใช้การโจมตีทางอากาศ การทิ้งระเบิดลงพื้นที่ชุมชน เปลี่ยนเป็นผลักดันความสัมพันธ์ทางการทูตมากขึ้น ควบคู่กับการหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธระเบิดทำลายล้างสูงในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น 

แม้ข้อเรียกร้องนี้อาจยากที่จะปฏิบัติจริง และไม่มีข้อห้ามชัดเจนเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้ระเบิดและอาวุธหนักในพื้นที่ที่มีประชากร อย่างไรก็ตาม การคิดเรื่องการทูตมากขึ้นก็นับเป็นการพยายามที่ดีที่จะทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ปลอดภัย 

ปีเตอร์ เมาเรอ (Peter Maurer) ประธาน ICRC ระบุว่าหน้าที่ของ ICRC คือการรวบรวมข้อมูลผลกระทบที่พลเรือนได้รับ เผยแพร่ความเจ็บปวดของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สังคม และพยายามผลักดันทุกวิถีทางให้ความเสียหายทั่วโลกลดน้อยลง

 

 

ที่มา

https://www.icrc.org/en/document/civilians-protected-against-explosive-weapons

https://aoav.org.uk/2022/icrc-report-explosive-weapons-with-wide-area-effects-a-deadly-choice-in-populated-areas/ 

https://reliefweb.int/report/world/icrc-humanitarian-law-policy-blog-explosive-weapons-wide-area-effects-deadly-choice

 

Tags: , , , ,