ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากออสเตรเลียเปิดเผยว่า ความร้อนเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ถ้าหากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกยังคงเป็นเหมือนเดิม ภายในปี 2080 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า

อาร์นาเกร็ตต้า ฮันเตอร์ นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนคือเพชฌฆาต แต่เราไม่ได้ระบุมันไว้ในมรณบัตร” 

เรื่องที่ถูกมองข้ามอย่างร้ายแรงนี้ถูกเปิดเผยในรายงานการศึกษาชิ้นใหม่ของฮันเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอีกสี่คน ที่สำรวจสถิติการเสียชีวิตในประเทศออสเตรเลียและพบว่า รายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อย 50 เท่า ในขณะที่มรณบัตรในออสเตรเลียมีช่องให้กรอกสาเหตุการเสียชีวิตที่ระบุไว้แล้ว และสาเหตุอื่นๆ สาเหตุการเสียชีวิตจากอุณหภูมิภายนอกกลับถูกระบุว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตน้อยมาก

การวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปี 2006 ถึงปี 2017 พบว่า มีการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 0.1 จากรายงานการเสียชีวิต 1.7 ล้านราย ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือ โดยอ้อมจากความร้อนตามธรรมชาติที่สูงเกินไป แต่การวิเคราะห์ข้อมูลใหม่พบว่า การเสียชีวิตในออสเตรเลียเกี่ยวข้องกับความร้อนราวร้อยละ 2

ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลัง 11 ปี ของทางการออสเตรเลีย ระบุว่ามีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่สูงเกินไป 340 ราย อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์สถิติพบว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะสูงถึง 36,765 ราย

ฮันเตอร์กล่าวว่า “เราพบว่าไฟป่าในฤดูร้อนเป็นผลสืบเนื่องมาจากความร้อนที่สูงเกินไป และความแห้งแล้ง และคนที่เสียชีวิตระหว่างเกิดไฟป่าไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ที่ต่อสู้กับการดับไฟเท่านั้น ยังมีชาวออสเตรเลียอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตก่อนหน้านั้นเพราะสูดดมควันไฟ” เธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากคุณเป็นหอบหืด และเสียชีวิตเพราะการสูดควันจากไฟป่า มรณบัตรก็ควรจะระบุข้อมูลเหล่านี้ด้วย”

ผู้เผยแพร่รายงานเปรียบเทียบกับกรณีฟ้าผ่าที่เป็นสาเหตุให้กิ่งไม้ร่วงใส่คนจนเสียชีวิต ผลก็คือ สาเหตุการเสียชีวิตที่ระบุในมรณบัตรนั้นไม่ได้เอ่ยถึงฟ้าผ่า แต่ระบุถึงกิ่งไม้แต่เพียงอย่างเดียว

“หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แต่ถ้าไม่มีการบันทึกผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงเกินไป เราก็จะไม่สามารถเข้าใจผลกระทบทั้งหมดของมันได้” ผู้ศึกษากล่าว

“มรณบัตรจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม ควรมีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตทางอ้อมจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต และข้อมูลการเสียชีวิตเหล่านี้จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับชุดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบได้”

นักวิจัยยังกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนไม่เฉพาะในออสเตรเลียเท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย ในสหราชอาณาจักรก็พบปัญหาบางประการในการระบุสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเที่ยงตรง ขณะเดียวกันหลายเมืองในโลกก็มีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อนไปในทางเดียวกับออสเตรเลีย 

“ภาวะโลกร้อนเป็นภัยทางสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวที่คนทั้งโลกต้องเผชิญ แม้ว่าเราจะคลี่คลายจากโคโรนาไวรัสไปแล้ว เราประสบความสำเร็จในการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตจากโคโรนาไวรัส แต่เราต้องทำให้บุคลากรและระบบสาธารณสุขสามารถบรรลุถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพของเรากับสิ่งแวดล้อม” ฮันเตอร์กล่าว

ที่มา

https://www.sciencealert.com/official-death-records-are-terrible-at-showing-how-many-people-are-dying-from-the-climate-crisis

https://www.thesun.co.uk/tech/11702725/climate-change-deaths-higher-than-official-figures/ 

https://nypost.com/2020/05/25/climate-change-killing-far-more-people-than-we-record-experts-warn/ 

ภาพ: REUTERS/Tracey Nearmy