วันนี้ (15 สิงหาคม 2024) สื่อท้องถิ่นและองค์กร Watch Dog ในอิสราเอลเปิดเผยว่า กองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces: IDF) ใช้พลเรือนปาเลสติเนียนเป็น ‘โล่มนุษย์’ เพื่อเข้าไปจัดการพื้นที่ในกาซาที่คาดว่ามี ‘กับดัก’
นาดาฟ ไวแมน (Nadav Weiman) ผู้อำนวยการบริหารประจำ Breaking the Silence กลุ่มติดตามการละเมิดทหารอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการโล่มนุษย์แพร่หลายในหน่วยรบของกองทัพ จนกลายเป็น ‘ระบบ’ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกของสงครามในกาซา
ไวแมนเปิดเผยว่า Breaking the Silence เก็บข้อมูลจากทหารที่ประจำการในกาซาเป็นเวลา 10 เดือนเต็ม ซึ่งส่วนหนึ่งสอดคล้องกับรายงานของฮาเรตซ์ (Haaretz) ว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพก็ทราบว่า มีปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นจริง
“ชีวิตของพวกเราสำคัญกว่าชีวิตของพวกเขา” ส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์จากทหารอิสราเอลคนหนึ่งถึงปฏิบัติการโล่มนุษย์ ที่ถูกเผยแพร่โดยฮาเรตซ์
ทั้งนี้ปฏิบัติการโล่มนุษย์ของกองทัพอิสราเอลใช้ชื่อว่า ซาวิช (Shawish) เป็นศัพท์สแลงที่หมายถึงทหารชั้นล่าง โดยวิธีการทำงานคือ กองทัพจะคัดเลือกพลเรือนปาเลสติเนียนที่ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม ให้สวมใส่เครื่องแบบของ IDF และส่งลงไปตามอุโมงค์ หรือบ้านเรือนที่ถูกทำลายนำหน้ากองทัพ โดยมือของพวกเขาถูกมัดและมีกล้องติดอยู่กับร่างกาย
ครั้งหนึ่ง ทหารอิสราเอลใช้ชาวปาเลสติเนียนตรวจหาระเบิดแทนสุนัข โดยอ้างว่า เพราะสุนัขจำนวนมากเสียชีวิตจากปฏิบัติการดังกล่าว
นอกจากนี้ ทหารอิสราเอลยังสร้างข้อแลกเปลี่ยนกับพลเรือนปาเลสติเนียนว่า พวกเขาจะเป็นอิสระ หากทำปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งรายงานพบว่า ชายผู้รอดชีวิตเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามทางทหารแต่อย่างใด
รายงานพิเศษจากฮาเรตซ์ยังระบุว่า เกิดการโต้เถียงภายในกองทัพอิสราเอล เมื่อผู้บังคับบัญชากับนายทหาร ตะโกนด่าทอถึงปฏิบัติการโล่มนุษย์อย่างดุเดือด หลังทหารจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยมองว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นปัญหาอย่างมากและยากสำหรับพวกเขาที่จะลงมือทำ
ปัจจุบันกองทัพอิสราเอลอ้างว่า มีนโยบายแบนการใช้โล่มนุษย์ และจะตรวจสอบรายงานของฮาเรตซ์ ทว่าหากย้อนกลับไปในปี 2002 ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ หลังองค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่า กองทัพใช้ปฏิบัติการโล่มนุษย์กับพลเรือนปาเลสติเนียน โดยส่วนใหญ่มักบังคับให้เหยื่อเข้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง จนมีกรณีโด่งดังคือ การเสียชีวิต ของ ไนดาล ดารักห์เมห์ (Nidal Daraghmeh) นักศึกษาวัย 19 ปีที่ถูกยิง เพราะอิสราเอลบังคับให้เคาะประตูของกลุ่มฮามาสที่กำลังหลบหนี
ท้ายที่สุดในปี 2005 ศาลสูงของอิสราเอลสั่งห้ามการใช้โล่มนุษย์ โดยย้ำว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และข้ออ้างของกองทัพว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครและเต็มใจ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะหากอิงตามเหตุผลย่อมไม่มีใครอาสาจะเสี่ยงชีวิตเช่นนี้
โดยทั่วไป การใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ ทั้งสมัครใจและไม่เต็มใจ เป็นข้อห้ามตามอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) โดยเข้าข่ายฐานอาชญากรรมสงคราม (War Crimes) และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/world/2005/oct/07/israel
Tags: สงคราม, สิทธิมนุษยชน, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, ตะวันออกกลาง, กฎหมายระหว่างประเทศ, กาซา, Gaza, โล่มนุษย์