เมื่อวันที่ 18 เมษายน รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งกลุ่มประเทศชั้นนำทั้ง 7 (Group 7: G7) ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียเรื่องการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในพรมแดนเบลารุส และเรียกร้องการปรับปรุงพฤติกรรมของจีน ให้มีความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกจากการอ้างสิทธิครอบครองทะเลจีนใต้และการคุกคามไต้หวัน
การประชุมจัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศทั้ง 7 คน เข้าร่วม ได้แก่ เจมส์ เคลเวอร์ลี (James Cleverly) จากอังกฤษ, อันนาเลนา แบร์บ็อก จากเยอรมนี (Annalena Baerbock), แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) จากสหรัฐอเมริกา, โยชิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) จากญี่ปุ่น, เมลานี โจลี (Melanie Joly) จากแคนาดา, แคทเธอลีน โคลอนนา (Catherine Colonna) จากฝรั่งเศส, อันโตนิโอ ทาญานี (Antonio Tajani) จากอิตาลี และเอ็นริเก้ มอรา (Enrique Mora) รองเลขาธิการหน่วยปฏิบัติการนอกยุโรป (European External Action Service: EEAS) หรือฝ่ายการทูตแห่งสหภาพยุโรป (European Union: EU)
วาระการประชุมครั้งนี้ของ G7 มากมาย ประกอบด้วยการจัดทำแผนแม่แบบการประชุมที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) ประเทศญี่ปุ่นในเดือนหน้า การประณามเกาหลีเหนือถึงการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ การแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในซูดาน หลังจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)รายงานว่า มีผู้คนนับ 180 คนเสียชีวิตในการสู้รบ รวมถึงการกวาดล้างของประชาชนอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลทหารเมียนมา
นอกเหนือจากนั้น ยังมีการเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันยกเลิกการห้ามผู้หญิงทำงานกับกลุ่ม NGO และ UN รวมถึงระบุว่า การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านกำลังเป็นภัยอันร้ายแรงต่อโลก
อย่างไรก็ตาม วาระการประชุมหลักคงหนีไม่พ้น การแสดงความกังวลต่อพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศของจีน การประณามถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และแนวโน้มการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของมอสโก
“จะไม่มีการลบล้างความผิดในฐานอาชญากรรมสงคราม (War Crimes) หรือความโหดร้ายอย่างอื่นที่รัสเซียกระทำลงไปต่อพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญ
“เรามุ่งมั่นในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และจะยังบังคับใช้อย่างเต็มที่
“วาทกรรมอันไร้ความรับผิดชอบ และการข่มขู่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้…การใช้อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนจะต้องพบกับผลอันร้ายแรงที่ตามมา” รัฐมนตรีทั้ง 7 ออกแถลงการณ์ร่วมกัน หลังจากวลาดีมีร์ ปูติน (Vlademir Putin) ประกาศในเดือนมีนาคมว่า รัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศของพันธมิตร เบลารุส (Belarus) ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปขนาดใหญ่และร้ายแรง จนสามารถคร่าชีวิตคนทั้งโลกได้ กลยุทธ์นี้เป็นการเคลื่อนไหวของมอสโกครั้งแรก นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในฐานะสหภาพโซเวียต
กลุ่ม G7 ยังเรียกร้องต่อจีนให้มีความรับผิดชอบต่อโลกยิ่งขึ้น โดยขอให้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสถียรภาพให้กับช่องแคบไต้หวัน และหยุดกิจกรรมทางทหาร รวมถึงวิจารณ์การอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ โดยปราศฐานรองรับทางกฎหมายระหว่างประเทศ
“เราขอเตือนจีนให้ปฏิบัติตามจุดประสงค์และหลักการในกฎบัตรสหประชาชาติ และหยุดกระทำตนเป็นภัยคุกคาม การบังคับขู่เข็ญ รวมถึงการใช้กำลัง” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีทั้ง 7 ประเทศ
ปฏิกิริยาของสองประเทศ: ความโกรธของจีน และความนิ่งเฉยจากรัสเซียท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การรบ
หวัง เวินบิน (Wang Wenbin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมาตอบโต้ว่า การประชุม G7 เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ และใส่ร้ายป้ายสีอย่างหยาบคาย
“ถ้อยแถลงนั้นเต็มไปด้วยความอวดดี ความอคติ และเจตนาร้ายแรงที่จะปราบปรามจีน…เราควรละทิ้งแนวคิดแบบสงครามเย็น อคติทางอุดมการณ์ หยุดเหยียดหยามและชี้นิ้วไปทางประเทศอื่น ยุติการเผชิญหน้า ความแตกแยกในประชาคมโลกอย่างไร้เหตุผล” เขาแถลงในกรุงปักกิ่ง รวมถึงเรียกร้องต่อเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น
ท่ามกลางความโกรธแค้นของจีน ในทางตรงกันข้าม รัสเซียไม่ได้มีท่าทีอะไร นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ สืบเนื่องจากแถลงของโฆษกหญิงแห่งกองทัพยูเครน นาตาเลีย ฮามันยุก (Nataliya Gumenyuk) ในวันอังคารที่ผ่านมา โดยรายงานว่า มอสโกอาจถอยจากพื้นที่บางส่วนของเคอร์ซอน (Kherson) หลังจากทหารเก็บข้าวของอย่างเสื้อผ้าและทรัพย์สินออกไป
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะกระทรวงกลาโหมของอังกฤษรายงานว่ากองทัพรัสเซียลดจำนวนทหาร และปฏิบัติการเชิงรุกรอบเมืองโดเนตสค์ (Donesk) เพื่อเพิ่มทรัพยากรไปยังเขตบัคมุต (Bakhmut) ซึ่งก็ตรงกับรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) หลังจากมีการใช้ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศของพื้นที่
“ปัจจุบัน ศัตรูเพิ่มความถี่ของการใช้ปืนใหญ่และจำนวนการโจมตีทางอากาศ ตอนนี้เมืองของพวกเรา กลายเป็นซากปรักหักพัง” โอเล็กซานเดอร์ เซียร์สกี (Oleksandr Syrskyi) นายพลในปฏิบัติการกล่าว
เขายังเสริมว่ารัสเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะบุกเมืองบัคมุต ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม เพราะเมืองดังกล่าวเป็นกลยุทธ์สำคัญของการรบ ในฐานะจุดศูนย์กลางด้านการขนส่งขนาดใหญ่ของภูมิภาค หากรัสเซียชนะในพื้นที่ได้ จะชดเชยความล้มเหลวในปีที่แล้ว และสร้างขวัญกำลังให้กับกองทัพขนานใหญ่
ความร่วมมือของพันธมิตรมอสโก-ปักกิ่งที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความร่วมมือของกลุ่มประเทศ G7
ในวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ปูตินพบกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน หลี่ ชางฟู่ (Li Shangfu) และชื่นชมความร่วมมือทางทหารของสองประเทศ
“พวกเรากำลังทำงานผ่านหน่วยงานทางทหารของเรา การแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร รวมถึงจัดการฝึกซ้อมร่วมกันอย่างแข็งขัน” ปูตินกล่าวในการเปิดการประชุม
ในขณะที่หลี่เสริมว่า นี่เป็นยุคใหม่ของจีนและรัสเซีย “เป็นครั้งแรกของผมที่ได้มาต่างประเทศ นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนี้ ผมเลือกมาเยือนรัสเซียเพื่อเน้นความสัมพันธ์พิเศษ รวมถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ระดับทวิภาคี”
การประชุมนี้เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากสี จิ้นผิง (Xi Jinping) เยือนมอสโกเป็นเวลา 3 วันในเดือนมีนาคม และคาดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแผน ‘ความร่วมมือแบบไร้ขีดจำกัด’ หลังจากสองประเทศสร้างข้อตกลงดังกล่าว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้น นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของปี 2022
นัยสำคัญของการประชุม G7 ในครั้งนี้?
นอกเหนือจากการแสดงความกังวลถึงสถานการณ์โลก ซึ่งเน้นย้ำการกดดันรัสเซียและจีนอย่างตรงไปตรงมาถึงพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ การประชุม G7 ในครั้งนี้ยังแสดงความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศมหาอำนาจ หลังจากเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) จุดประเด็นใหญ่ใต จนกระทบต่อการเมืองทั้งยุโรป เพราะแสดงความคิดเห็นถึงการลดพึ่งพาสหรัฐฯ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับไต้หวันในการเมืองโลก
“ความแข็งแกร่งในการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งกลุ่ม G7 อยู่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” ฮายาชิกล่าวในการแถลงการณ์ประชุมในฐานะเจ้าภาพ
การประชุม G7 อย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2023 โดยใช้ชื่อว่า ‘การประชุมฮิโรชิมา’ (Hiroshima Summit) ซึ่งมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เพราะเป็นเมืองที่ฟื้นตัวจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงแสดงเจตจำนงของญี่ปุ่นและโลกระหว่างประเทศ ถึงการสร้างสันติภาพ และการละเว้นการใช้อาวุธนิวเคลียร์
อีกทั้งยังมีผู้เข้าร่วมด้วยการเชิญของนายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นอกเหนือจากผู้นำทั้ง 7 ประเทศ ได้แก่ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุม G20 ประจำปี 2023 และโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ผู้นำยูเครน ซึ่งจะเข้าร่วมประชุมทางออนไลน์แทน
อ้างอิง
https://indianexpress.com/article/world/russia-ukraine-war-significance-of-bakhmut-8498035/
https://www.aljazeera.com/news/2023/4/16/putin-meets-with-chinas-defense-minister-in-moscow
https://www.g7hiroshima.go.jp/en/summit/about/
https://japan.kantei.go.jp/ongoingtopics/g7hiroshima_summit2023/index.html
Tags: จีน, รัสเซีย, ยูเครน, ฮิโรชิมา, การประชุม G7, อาวุธนิวเคลียร์, ญี่ปุ่น