กลิ่นหอมของวัฒนธรรมการดื่ม ‘สาเก’ ยังคงฟุ้งอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะสาเกจากจังหวัดซะกะ ที่มีรสชาติไม่ธรรมดาถึงขั้นโกอินเตอร์ไปชนะเหรียญทองในการแข่งขัน International Wine Challenge ถึงต่างประเทศ

ถึงแม้ตอนนี้คุณจะไม่ได้ดื่มด่ำรสชาติของสาเกซะกะ แต่ความลับของสาเกที่นี่ก็อร่อยไม่เบาและอาจทำให้การดื่มของคุณสนุกขึ้น (ถ้าคุณได้ดื่มนะ…)

โรงกลั่นสาเกเคยเป็นโรงแรม

ในสมัยเอโดะ โรงทำสาเกย่านฮิเซ็นฮะมะชุคุในซะกะเคยเป็นแหล่งพักแรมสำหรับนักเดินทางที่เดินทางในเส้นทางนางาซากิไคโด ต่อมาในสมัยเมจิซึ่งเป็นยุคที่สาเกเฟื่องฟู จากที่พักแรมจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงกลั่นสาเก ปัจจุบันแม้โรงกลั่นสาเกจะยังคงผลิตสาเกเช่นอดีต แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าโรงกลั่นเหล่านั้นเปิดให้บริการเป็นที่พักแรมด้วย คงจะดึงดูดบรรดานักดื่มให้เข้ามาเที่ยวในซะกะได้ไม่น้อย

ห้ามผู้หญิงทำสาเก

 แม้จะฟังดูเป็นความคิดโบราณคร่ำครึ แต่ในอดีตผู้หญิงญี่ปุ่นไม่ดื่มเหล้า อีกทั้งมีความเชื่อว่าในเต้านมผู้หญิงมีเชื้อแบคทีเรียคล้ายกับที่มีในนมเปรี้ยว จึงมีการสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าโรงทำสาเกและห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสาเกเด็ดขาด

เมาทั้งชาติ…ตอนทุ่มครึ่ง

เทศกาล ‘อิชิมังนินเดะคัมปาย’ ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี จะมีการรวบรวมร้านอาหารหลากหลายประเภท รวมถึงโรงทำสาเกทั่วซะกะมาเปิดให้เลือกชิม หากติดใจในรสชาติก็สามารถซื้อกลับไปดื่มได้ ทั้งนี้ในเทศกาลจะมีการนัดผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ชนแก้วพร้อมกันตอน 19:30 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อโปรโมตให้คนรู้จักสาเกซะกะเพิ่มมากขึ้น

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมก็เปลี่ยนไป เรื่องราวในอดีตได้รับการรื้อฟื้นและนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อเปิดประตูทางวัฒนธรรมให้คนต่างถิ่นได้มาลิ้มลอง และคนท้องถิ่นได้ใช้สอยจากมูลค่าของอดีตที่มีลมหายใจ

 

FACT BOX:

  • สาเก เป็นคำเรียกสุราหรือเหล้าในภาษาญี่ปุ่น หมายถึงเหล้าหลายชนิด แต่โดยทั่วไปหมายถึงเหล้าที่ทำจากการหมักและบ่มโดยใช้ข้าวและน้ำเป็นส่วนผสมหลัก
  • นิฮอนชู คือสาเกที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 10-20% ถ้ามากกว่านั้นจะเรียกว่า ‘โซจู’

 

DID YOU KNOW?

ร่วมออกเดินทางไปสัมผัสความคราฟต์ ใน ‘ซะกะ’ จังหวัดเงียบๆ บนเกาะคิวชู ผ่านบันทึกของ แจน-ณิชมน นักเรียนไทยในโตเกียว ผู้ท่องเที่ยวมาแล้วเกือบทั่วญี่ปุ่น ได้ในหนังสือ SAGA GANBATTE!

Tags: , ,