เมื่อวานนี้ (22 พฤศจิกายน 2023) ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ที่ปรึกษาการต่างประเทศของพรรคก้าวไกล และ Pre-Doctoral Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงความคิดเห็นในงานสัมมนา 60 ปี การก่อตั้งมูลนิธิ John F. Kennedy ในหัวข้อ ‘Thai-American Friendship: The Way Forward’ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
ฟูอาดี้ระบุว่า ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีเป็นเวลายาวนาน และสามารถพัฒนาในทางที่ดีขึ้นได้อีก แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กลับต่ำกว่าในอดีต
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของพรรคก้าวไกลเสนอการแก้ปัญหาผ่าน ‘การปลดล็อกทางโครงสร้าง’ ของประเทศ ด้วยการสร้างความชอบธรรมใน 3 มิติ ได้แก่ ประเด็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร
ในมิติความชอบธรรมทางเศรษฐกิจ ฟูอาดี้อธิบายว่า เศรษฐกิจไทยไร้แรงดึงดูดสำหรับสหรัฐฯ สะท้อนจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่รั้งท้ายในอาเซียน โดยชนะเพียงประเทศเดียว คือบรูไน ขณะที่เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นในภูมิภาค
ปรากฏการณ์ดังกล่าวกระทบต่อการตัดสินใจของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังไม่มาเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิต (Asean Summit) ในปี 2023 แต่เลือกไปเยือนประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง คือเวียดนามและอินเดียแทน
อย่างไรก็ตาม เขาให้เหตุผลว่า ไทยยังมีโอกาสในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยอาจใช้ช่องว่างจากการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ทำให้นักลงทุนและบริษัทอเมริกันหลายแห่งเริ่มตั้งคำถามต่อการลงทุนในประเทศจีน เพราะเกิดความหวาดกลัวในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคง และการแบ่งปันข้อมูลความรู้
สำหรับมิติความชอบธรรมทางการเมือง ฟูอาดี้เผยว่า สิ่งนี้คือปัญหาอีกอย่างของประเทศไทย สะท้อนจากการที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit of Democracy) ในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์นี้ให้คำตอบได้ว่า สหรัฐฯ มองไทยอย่างไรในการเมืองโลก อีกทั้งยังขอให้จับตามองความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ผ่านการประชุมดังกล่าวที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2024
นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ยังแบ่งความคิดเห็นเป็น 2 ขั้วในการดำเนินนโยบายต่อประเทศไทย สืบเนื่องจากท่าทีของรัฐไทยที่ไร้ความแน่นอน โดยฝ่ายแรกเห็นว่า การที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับไทย ก่อให้เกิดช่องว่างและเหินห่างขึ้นมา
ขณะที่อีกกลุ่มมองว่า สหรัฐฯ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับประเทศไทย ตราบใดที่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ และระบอบการเมืองไม่เสถียร ซึ่งฟูอาดี้ยกตัวอย่างกรณีการไม่ได้รับการประกันตัวของ อานนท์ นำพา และการถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ของ พรรณิการ์ วาณิช
ดังนั้น เป็นหน้าที่ของไทยที่ต้องแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่า เรามีค่านิยมอย่างไร รวมถึงเน้นย้ำความสม่ำเสมอของการสนับสนุนคุณค่าสากล เพราะปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อ ‘อำนาจโน้มนำ’ (Soft Power) ของไทยโดยตรง ทำให้ความน่าเชื่อถือและการเคารพของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทยลดน้อยถอยลง
และข้อสุดท้ายคือ ความชอบธรรมทางการทหาร ฟูอาดี้หยิบยกเหตุการณ์เมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุมแชงกรี-ลา (Shangri-La Dialogue: SLD) ในประเทศสิงคโปร์ แต่ปรากฏว่า ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไม่พูดถึงประเทศไทยและการฝึกซ้อมรบคอบราโกลด์ (Cobra Gold) เลย แม้ว่าไทยคือพันธมิตรที่เก่าแก่ของสหรัฐฯ และการซ้อมรบนี้ก็มีความสำคัญระดับต้นของโลกก็ตาม
ทั้งนี้ สาเหตุดังกล่าวเป็นเพราะการเมืองภายในไทยไร้ทางเลือก นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับจีน ทั้งหมดนี้สะท้อนจากความล้มเหลวของรัฐไทยในการซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะปฏิเสธ เพราะกลัวการรั่วไหลข้อมูลทางเทคโนโลยีจากไทยไปสู่จีน
คำถามสุดท้ายเกี่ยวกับวิธีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ฟูอาดี้ขอตอบคำถามดังกล่าวในฐานะลูกศิษย์ของ โจเซฟ ไนน์ (Joseph Nye) นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกระแสเสรีนิยมใหม่ทางการเมือง (Neoliberalism) และต้นตำรับแนวคิดอำนาจโน้มนำว่า อยากให้รัฐไทยปรับใช้แนวคิด ‘Complex Interdependence’ ของไนน์ ว่าด้วยการพึ่งพากันและกันของตัวแสดงระหว่างประเทศ ที่ส่งผลต่อความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์
ขณะเดียวกัน หากมองสถานการณ์ปัจจุบันของไทยผ่านแนวคิดข้างต้น ก็จะพบว่าประเทศไทยพึ่งพาจีนและสหรัฐฯ อยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้น หากจะทำให้ไทยมีความสำคัญในมุมมองของสหรัฐฯ รัฐบาลจะต้องเสริมสร้างปัจจัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ฟูอาดี้ยังทิ้งท้ายว่า สหรัฐฯ จะไม่นับรวมไทยในฐานะพันธมิตรที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือพวกเขา หากเกิดสงครามร้ายแรงในเอเชีย เช่น กรณีไต้หวันถูกรุกรานจากจีน หรือฟิลิปปินส์โดนโจมตีจากประเด็นความขัดแย้งทะเลจีนใต้
เขาเชื่อว่า สงครามยังไม่จางหายจากเอเชีย สะท้อนจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งความเสี่ยงของสงครามและความรุนแรงยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน เหล่านี้จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทยและรัฐสภาที่ต้องตอบคำถาม และเตรียมการรับมือสถานการณ์ข้างต้น
“เรากินบุญเก่าเยอะ” ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของพรรคก้าวไกลแสดงความคิดเห็นทิ้งท้าย โดยเสริมว่า บุคลากรของสหรัฐฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของไทยมักเป็นคนเก่าแก่ ซึ่งส่วนมากคือผู้ที่ทำงานร่วมกันในช่วงสงครามเวียดนาม ทว่าพวกเขาได้เกษียณออกจากวงการทางการเมืองเกือบหมดแล้ว
ดังนั้น ไทยจึงควรแสวงหาหนทางอื่นๆ ในการกระชับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามข้อเสนอของ พิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ และสมาชิกวุฒิสภาที่เผยว่า ไทยควรมีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ด้วยการเน้นทำธุรกิจในระดับมลรัฐที่มีอิทธิพลต่อการเมืองภายใน
Tags: จีน, สงครามเวียดนาม, ไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ, สหรัฐฯ, พรรคก้าวไกล, ไทย-สหรัฐฯ, พิศาล มาณวพัฒน์, มูลนิธิ John F. Kennedy, สหรัฐอเมริกา