วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2023 ถือเป็นหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา เพราะพรรครีพับลิกัน (Republican Party) จะจัดการดีเบตครั้งแรกระหว่างตัวแทนภายในพรรค เพื่อท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2024
ไม่เพียงแต่จะได้เห็นการปะทะฝีปากอันดุเดือดผ่านวิสัยทัศน์ แนวนโยบาย หรือ ‘กึ๋นในการแก้ปัญหา’ ของผู้สมัคร แต่การดีเบตครั้งนี้ยังบ่งบอกอนาคตได้ว่า ใครจะเป็นผู้สมัครตัวจริงที่แข่งขันกับ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต (Democrat Party) ในเดือนพฤศจิกายน 2024
The Momentum หยิบยก 5 เรื่องที่ผู้อ่านควรรู้ก่อนฟังดีเบตครั้งสำคัญจากพรรครีพับลิกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีหน้าดังต่อไปนี้
1
การดีเบตของพรรครีพับลิกันจัดขึ้นในวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2023 เวลา 21.00-23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม เวลา 09.00-11.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยจัดขึ้นที่สนามกีฬา Fiserv Forum เมืองมิลวอกี (Milwaukee) รัฐวิสคอนซิน (Wisconsin) สหรัฐฯ
ขณะที่ดีเบตครั้งที่สองจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2023 ที่ Ronald Reagan Presidential Foundation & Institute รัฐแคลิฟอร์เนีย (California)
โดยสามารถชมการถ่ายทอดสดในช่องทางเครือข่ายของสำนักข่าวฟ็อกซ์ (Fox) ได้แก่ Fox News Digital, Fox News Audio, Fox Business Network และ Fox Nation
2
ผู้เข้าร่วมการดีเบตครั้งนี้ได้แก่ ผู้สมัครทั้ง 8 คนที่พรรครีพับลิกันรับรองให้ผ่านคุณสมบัติ ได้แก่
– โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีเต็งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทว่าเขาปฏิเสธที่จะร่วมดีเบตในเวทีนี้ โดยโพสต์ข้อความผ่าน Truth แอปพลิเคชันที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเองว่า เขามีความนิยมมากพอ และทุกคนรู้ทัศนคติของเขาดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์
– รอน ดีซานทิส (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา (Florida) ถือเป็นตัวเต็งอีกคน เขาเป็นผู้สมัครที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงที่ทรัมป์ไม่อยู่ เพราะอุดมการณ์ขวาจัด ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษีเพื่อคนรวย การต่อต้าน บารัก โอบามา (Barack Obama) การแหกกฎเปิดโรงเรียนในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์จากโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงมีแนวคิดต่อต้านกลุ่ม LGBTQIA+ และสิทธิผู้หญิงด้วยแคมเปญสุดโด่งดัง ‘อย่าพูดคำว่าเกย์’ (Don’t Say Gay) หรือกฎห้ามพูดคุยถึงอัตลักษณ์ทางเพศในโรงเรียนระดับประถม
ด้วยลักษณะดังกล่าว จึงมีการคาดเดาจากนักวิเคราะห์ว่า เขาอาจเป็นตัวเลือกจากพรรครีพับลิกันแทนที่ทรัมป์ที่กำลังพบเจอความไม่แน่นอนหลายอย่าง จากคดีความนับไม่ถ้วนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
– วิเวก รามาสวามี (Vivek Ramasawami) นักธุรกิจชื่อดัง เขาอยู่ในอันดับสามของผลการสำรวจตัวแทนผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกกัน อย่างไรก็ตาม สื่อต่างชาติหลายแห่งมองว่า เขาไม่ได้มีความแข็งแกร่งมากพอในสนามการเลือกตั้งระดับประเทศ ทั้งบุคลิก นิสัย หรือการปรากฏตัวในแวดวงสื่อโทรทัศน์สำหรับกลุ่มเสรีนิยม ที่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันไม่สนใจ
– ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) อดีตรองประธานาธิบดีผู้เผชิญหน้าและวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์อย่างตรงไปตรงมา ทว่าเขาไม่ใช่ตัวเต็งคนสำคัญที่ใครหลายคนให้ความสนใจ จากปัญหาเรื่องความนิยมจึงส่งผลให้เขาไม่ค่อยมีผู้สนับสนุนมากเท่าที่ควร และนั่นทำให้ ไมค์ เพนซ์ ประสบปัญหาการระดมทุนในการเลือกตั้งครั้งนี้
– นิกกี ฮาเลย์ (Nikki Haley) อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) และอดีตเอกอัครราชทูตประจำองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ระบุว่า เธอเป็นผู้สมัครที่แปลกประหลาด เพราะหากเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ฮาเลย์โดดเด่นในเรื่องการโจมตีคู่แข่งภายในพรรคเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายต่างประเทศ เมื่อเธอวิจารณ์วิเวก รามาสวามี ไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า เขากำลังทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่อันตราย ด้วยการยุติความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับอิสราเอล
– คริส คริสตี (Chris Christy) อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) นับเป็นดาวเด่นในการดีเบตครั้งนี้ อ้างอิงจากประสบการณ์การดีเบตในปี 2016 เขาเคยเชือด มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) วุฒิสมาชิกรัฐฟลอริดา ภายในเวลา 25 วินาที อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้วิจารณ์ทรัมป์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งก็มีการคาดว่า หัวข้อที่คริสตีจะพูดในคืนวันพุธ คือการหนีเวทีดีเบตของอดีตประธานาธิบดี
– ทิม สก็อตต์ (Tim Scott) วุฒิสมาชิกจากรัฐเซาท์แคโรไลนา เขาพยายามเสนอความแตกต่างจากทรัมป์และดีซานทิส โดยเฉพาะภาพลักษณ์ธรรมชาติ ติดดินและเป็นกลุ่มคนผิวดำ แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันอยู่ดี
– อาซา ฮัตชินสัน (Asa Hutchinson) อดีตผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ (Arkansas) เป็นที่รู้จักในฐานะนักวิจารณ์ทรัมป์อีกคนหนึ่ง เขาออกตัวว่า ทรัมป์จะไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกกันเพื่อท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
– ดั๊ก เบอร์กัม (Doug Burgum) ผู้ว่าการรัฐนอร์ทดาโคตา (North Dakota) เขาเป็นผู้สมัครที่กล้านิยามตนเองอย่างตรงไปตรงมาว่า หลายคนน่าจะรู้จักเขาน้อยที่สุด แต่ก็มั่นใจว่า เขาจะประสบความสำเร็จในเวทีดีเบตครั้งนี้
3
หนึ่งในเงื่อนไขการเข้าร่วมดีเบตครั้งนี้ คือตัวแทน 8 คน จะต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณ (Loyalty Pledge) เพื่อสนับสนุนแคนดิเดตที่แท้จริงของพรรครีพับลิกันตลอดทั้งการเลือกตั้ง โดยคำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้แคนดิเดตคนอื่นๆ ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ลงสมัครในนามพรรคการเมืองอื่น
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ปฏิเสธว่า เขาจะไม่ลงนามในคำมั่นครั้งนี้ เพราะเขาไม่มีผู้สมัครคนใดสนับสนุน ซึ่งก็ถูกคริสตีวิจารณ์ในภายหลังว่า เป็นความคิดที่แย่ ไร้สาระ และการกระทำของทรัมป์เป็นเพียงละครฉากหนึ่ง
4
เนื้อหาเรื่องดีเบตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ นโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศ
สำหรับนโยบายภายในคาดว่า จะมีเรื่องสิทธิการทำแท้ง (Abortion Rights) ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนชิ้นสำคัญของพรรครีพับลิกัน ที่เชิดชูประเด็นดังกล่าวเป็นพิเศษ หลังมวลชนจำนวนมากแสดงไม่พอใจการตัดสินให้คดี ‘Roe v. Wade’ ซึ่งเป็นพื้นฐานสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง กลายเป็นโมฆะในปี 2022
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การศึกษา การปะทะกันทางความคิดระหว่างกลุ่มขวาสุดโต่ง และกลุ่มเสรีนิยมในประเทศ รวมถึงความเหมาะสมของทรัมป์ต่อการท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อเขาต้องเผชิญการฟ้องร้องถึง 4 คดีความ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
ขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศคงหนีไม่พ้นเรื่องการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอย่างจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครน จุดยืนการสนับสนุนอิสราเอล และนโยบายต่อต้านผู้อพยพที่เคยเป็นประเด็นในอดีตอย่าง ‘โครงการสร้างกำแพง’ เพื่อกีดกันผู้ลี้ภัยจากเม็กซิโกในสมัยของทรัมป์
5
สำหรับการคาดเดาเบื้องต้นในดีเบตครั้งนี้ แบบสำรวจจาก CBS และ YouGov ในสัปดาห์ก่อนเปิดเผยว่า ทรัมป์ยังคงมีคะแนนความนิยมนำโด่งเหนือผู้สมัครคนอื่นๆ ถึง 62% แม้ต้องถูกดำเนินคดีอาญาครั้งที่สี่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงคะแนนเสียงก็ให้ความสำคัญกับการอภิปรายในดีเบต โดย CBS ระบุว่า ผู้ลงคะแนนถึง 91% สนใจเนื้อหาและนโยบายของผู้อภิปรายมากกว่าการโจมตีทรัมป์
ขณะที่ผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งลงความเห็นว่า เขากำลังพิจารณาผู้สมัครคนอื่น ที่นอกเหนือจากทรัมป์ และการอภิปรายนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะอาจมีตัวแทนที่กลายเป็นดาวเด่น คว้าใจผู้ลงคะแนนเสียงหลายคนก็เป็นได้
อ้างอิง
https://www.aljazeera.com/news/2023/8/21/us-republican-candidates-clash-over-support-for-israel
https://apnews.com/article/republican-primary-debate-gop-fox-news-b13fe11e3810512ff35e6c534f1e5ca2
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-66573967
https://edition.cnn.com/2023/08/21/politics/milwaukee-rnc-presidential-debate-candidates/index.html
https://www.bbc.com/thai/international-63566478
Tags: ดีเบต, Republican, พรรครีพับลิกัน, เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา, นโยบายต่างประเทศ, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024, เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024, us.election, การดีเบต, Donald Trump, นโยบายภายในประเทศ, สหรัฐอเมริกา, US Election 2024, โดนัลด์ ทรัมป์