1 พฤศจิกายน 2567 ครบรอบ 1 เดือนหลังเหตุการณ์ไฟไหม้รถทัศนศึกษาที่โดยสารนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นเหตุให้มีเด็กและครูเสียชีวิตรวม 23 ราย บาดเจ็บอีก 3 ราย ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวภายหลังเหตุการณ์ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับรถบัสคันไหนในประเทศนี้ก็ได้ และเหยื่อรายต่อไปก็อาจเป็นใครก็ได้เช่นกัน

  1. สาเหตุยังคลุมเครือ

ข้อสำคัญก็คือ สาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ยังคลุมเครือ หากไล่เรียงข้อเท็จจริงก็คือ คนขับรถคันนี้คือ สมาน จันทร์พุฒ ยืนยันว่าตรวจสอบรถบัสคันดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน มีการทดสอบประตูฉุกเฉิน ส่วนอุบัติเหตุที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิตมีเพียงต้นเหตุว่า เพลิงไหม้น่าจะเกิดจากถังก๊าซถังหนึ่งรั่ว เกิดประกายไฟ แล้วทำให้เพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีอีกข้อสันนิษฐานคือ เพลาหักครูดถนนจนเกิดประกายไฟ แล้วลามไปยังระบบก๊าซ

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า ‘ระบบก๊าซ CNG’ นั้นมีปัญหา จนนำไปสู่ความพยายาม ‘ล้อมคอก’ ครั้งใหญ่ มีคำสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกเรียกรถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้ก๊าซ CNG เข้ารับการตรวจจำนวน 13,426 คัน ภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน

แต่คำถามคือ เมื่อตรวจแล้วเป็นอย่างไร พบอะไรบ้าง แล้วต้องตรวจอะไร เรื่องดังกล่าวจึงไม่เกิดเหตุซ้ำรอยเดิมอีก ยังเป็นคำถามที่ต้องพิสูจน์

เช่นเดียวกับการ ‘ปะติดปะต่อ’ เหตุการณ์ทั้งหมด จนถึงวันนี้ยังไม่ชัดเจนว่า สาเหตุที่ไม่ชัดว่าเพราะเหตุใดเพลารถใหญ่ถึงหักครูดถนน เพราะเหตุใดถังก๊าซจึงรั่ว เพราะเหตุใดเพลิงจึงลุกลามอย่างรวดเร็ว และระบบทางออกฉุกเฉินสามารถใช้ได้หรือไม่ ยังคงไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ 

กระแสสังคมค่อยๆ หายไป เมื่อมีเรื่องใหม่ขึ้นมาทดแทน

  1. ใครต้องรับผิดชอบ

อีกส่วนสำคัญคือในการ ‘ตรวจสภาพ’ รถ เรื่องสำคัญคือรถบัสคันที่เกิดเหตุผ่านการตรวจสภาพมาเป็นอย่างดี ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตรวจสภาพรถของขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี ทั้งที่มีการเพิ่มถังก๊าซใต้ท้องรถจาก 6 ถัง เป็น 11 ถัง

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกได้สั่งให้ข้าราชการ 2 ราย ไปช่วยราชการที่กรมการขนส่งทางบกแล้ว พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบว่า เพราะเหตุใดจึงปล่อยให้รถบัสคันนี้ผ่านการตรวจสภาพรถทั้งที่สภาพไม่ตรงปกอย่างชัดเจน

เป็นที่รู้กันว่า กรมการขนส่งทางบกเป็นหนึ่งในแดนสนธยา โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสภาพรถ และการอนุมัติให้ ‘ผ่าน’ การตรวจสภาพ ทั้งที่ในความเป็นจริง หากรถเหล่านี้เป็นอันตราย ย่อมไม่ต่างอะไรจากระเบิดเวลาบนท้องถนน 

หากสาวให้ลึกจริงๆ กระทรวงคมนาคมสามารถตรวจสอบได้อีกว่า เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นแพร่หลายทั่วประเทศหรือไม่ มีจังหวัดใดอีกที่การตรวจสภาพรถอาจมีปัญหาเช่นนี้

แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบไปเช่นกัน

  1. การดำเนินคดีที่ ‘ไม่ชัดเจน’ 

สิ่งสำคัญคือแม้จะผ่านมาถึงเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้ยังคงไม่มีการดำเนินคดีกับบริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรถทัวร์นำเที่ยว ทั้งที่พบว่า รถโดยสารที่บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของนั้นมีความสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงยังพบว่าเมื่อเรียกตรวจ มีความพยายามจากบริษัทรถในการนำถังก๊าซไปถอด เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดี

สิ่งที่ชัดเจนและเห็นชัดที่สุดคือ มีความพยายามทั้งต่อเติม ทั้งเปลี่ยนยี่ห้อรถ เปลี่ยนองค์ประกอบของตัวรถ และอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างก็ไม่พร้อมใช้งาน อีกทั้งยังให้ข้อมูลกับสื่อว่า รถดังกล่าวผ่านมาตรฐาน มีการตรวจสอบทุก 2 ปีแล้ว ทั้งที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจริง

  1. การตรวจสอบที่ยังไม่มีจุดหมายปลายทาง

สำหรับการดำเนินการตรวจสอบสภาพรถภายหลังเหตุการณ์สลด ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากกรมกล่าวบนเวทีเสวนาครบรอบ 1 เดือนรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้มาตรฐานความปลอดภัยอยู่ที่ไหน ซึ่งจัดโดยสภาผู้บริโภคเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ว่า มีการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะไปแล้ว 3,300 คัน ตั้งแต่วันที่ 4-28 ตุลาคม 2567 โดยพบรถสาธารณะมากกว่า 210 คัน ที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพและห้ามไม่ให้ใช้งาน และยังคงเหลืออีก 10,070 คันที่ยังไม่เข้ารับการตรวจสภาพ

ข้อสังเกตก็คือหากตรวจในสภาพเช่นนี้ อาจใช้เวลามากกว่า 3 เดือนจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทันตามข้อสั่งการจาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีคำสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกเรียกรถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้ก๊าซ CNG เข้ารับการตรวจจำนวน 13,426 คัน ภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือนหลังจากเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากสื่อสาธารณะ The Active ถึงความโปร่งใสในการตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐว่า อาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเหตุร้ายแรง เช่น การรับส่วยของเจ้าหน้าที่และทำการลัดคิวให้กับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะเพื่อเข้ารับการตรวจสภาพรถในราคา 3,000-4,000 บาท และหากจ่ายมากกว่า 4,000 บาทขึ้นไปเจ้าของรถจะได้รับสิทธิพิเศษตรวจรถได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อคิว หรือหากจ่ายหลักหมื่นอาจทำให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าตรวจสภาพได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง

  1. งดทัศนศึกษาที่ยังไม่ชัดเจน 

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับ รวมไปถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัยทั้งบุคลากรและนักเรียน จนถึงตอนนี้ยังคงบังคับใช้คำสั่งที่มีการ ‘งดทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็น’ ซึ่งได้ประกาศไว้ภายหลังเกิดเหตุสลดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 โดยไม่มีกำหนดการยกเลิก แม้จะมีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายในรัฐบาลว่าที่จริงแล้ว การทัศนศึกษานั้นไม่ใช่สิ่งผิด

ส่วนในด้านมาตรการเพิ่มความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียนในการใช้ขนส่งสาธารณะ ยังคงเป็นสิ่งที่ไร้คำตอบ มีเพียงการร่อนหนังสือซักซ้อม ‘6 แนวทางการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา’ ให้กับโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ แต่ข้อสั่งการว่าด้วยการ ‘ตรวจสภาพ’ รถก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ยังไม่แน่ชัดว่าสามารถทำได้หรือไม่

ขณะเดียวกันแม้จะมีการตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา ทว่าผลลัพธ์ของการตั้งคณะทำงานก็ดูจะยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจาจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรคือมาตรการที่จะสร้างสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงศึกษาธิการ  

หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็เป็นได้ว่า อุบัติเหตุจากการทัศนศึกษา ยังคงเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้อีก เพียงแต่แค่รอวันปะทุอีกครั้งเท่านั้น

Tags: , , ,