ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีอายุครบ 70 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2018 แต่หลักการที่สหประชาชาติประกาศไว้ กำลังถูกบั่นทอนด้วยความคิดอนุรักษนิยม เชิดชูชาติ พิทักษ์รัฐ ให้มาก่อนการปกป้องพลเมือง

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านข้อมติในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อ 10 ธันวาคม 1948 ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วางหลักการพื้นฐานในเรื่องสิทธิตามแนวคิดเสรีนิยมหลังจากมนุษยชาติเผชิญความโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพร่างแรกๆ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ภาพโดย Greg Kinch. / UN Photo)

สิทธิตามคำประกาศที่นานาชาติยอมรับร่วมกันเมื่อ 70 ปีก่อนจะปรากฏเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อบรรดารัฐภาคีของยูเอ็นรับเอาไปใช้ปฏิบัติในระดับประเทศ ด้วยการออกแบบ จัดสร้าง และปรับปรุงสถาบันและกลไก ไล่ตั้งแต่การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในประการต่างๆ จนถึงการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สิทธิมนุษยชนจะได้รับการส่งเสริมและปกป้องมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่า บรรดาองค์กรอิสระ รวมทั้งสถาบันตุลาการ ทำงานอย่างเที่ยงธรรมหรือเปล่า แต่ความเที่ยงธรรมไม่อาจคาดหวังได้ลอยๆในอากาศ ความเที่ยงธรรมพัวพันอย่างลึกซึ้งกับความเป็นประชาธิปไตย

ในเมื่อการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนกับระดับความเป็นประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน แนวโน้มที่โลกกำลังบ่ายหน้าสู่กระแสอนุรักษนิยม จึงมีนัยต่อเสรีภาพของพลเมือง

ผลสำรวจของ ฟรีดอมเฮาส์ พบว่า ในปี 2018 ประเทศในโลกราว 1 ใน 4 จัดอยู่ในกลุ่มประเทศไม่เสรี ประชากรโลกเกือบ 40 เปอร์เซนต์ มีชีวิตภายใต้ระบอบปกครองที่ไม่เสรี รายงานบอกว่า ประชาธิปไตยกำลังเผชิญวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดในช่วงเวลาหลายทศวรรษ เสรีภาพถดถอยต่อเนื่องเข้าปีที่ 12

โลกต้องการ ‘เจ้าภาพ’

หลักสิทธิมนุษยชนจะเป็นจริงได้แค่ไหน นอกจากขึ้นกับแต่ละรัฐสมาชิกของยูเอ็น ยังขึ้นกับบทบาทนำของ ‘หัวเรือใหญ่’ ด้วย หัวเรือใหญ่ควรเป็นใคร ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าได้แก่มหาอำนาจ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าความหวังอยู่ที่สถาบันพหุภาคี เช่น ยูเอ็น หรือองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาค

คอนเนอร์ เกียร์ที อาจารย์สอนกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัย London School of Economic and Political Science บอกว่า สิทธิมนุษยชนเป็นค่านิยมสากลก็จริง แต่การบังคับใช้ในทางเป็นจริงนั้นขึ้นกับรัฐ ไม่ใช่สหประชาชาติ

หลายทศวรรษที่ผ่านมา อเมริการับบทกัปตันใหญ่ คอยคัดท้ายนาวาสิทธิมนุษยชนในโลก แม้ด้านหนึ่ง สหรัฐฯ จะมีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบ สองมาตรฐาน ก็ตาม

ทว่านับแต่เหตุโจมตี 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯ ก็เดินหน้าสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ละวางบทบาทพี่ใหญ่ลงเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงกับถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชูคำขวัญ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

นักวิชาการผู้นี้บอกว่า สิทธิมนุษยชนในโลกต้องการมหาอำนาจเป็นผู้ค้ำจุน เมื่อสหรัฐฯ วางมือไปเช่นนี้ สหภาพยุโรปควรเข้ามารับสืบทอดภารกิจ

อย่างไรก็ดี ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มิแชล แบชเลต กลับมองว่า การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่จำเป็นต้องพึ่งไม้เรียวของมหาอำนาจ เพราะหลักการนี้ทรงคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว และครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานครบถ้วน การกำกับให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของกลไกพหุภาคี เช่น ยูเอ็น

ข้อถกเถียงสองแนวทางแบบนี้ ไม่มีฝ่ายไหนถูกหมดหรือผิดหมด ฝ่ายที่มองโลกตามความเป็นจริงกับฝ่ายที่มองโลกตามหลักการ เถียงกันทำนองนี้มานานแล้ว ต่างเป็นแนวมองสองทัศนะที่ได้รับการยอมรับทั้งคู่ ส่วนแนวทางไหนจะโดดเด่นขึ้นมาเป็นฝ่ายนำนั้น แล้วแต่เงื่อนไข เหตุปัจจัย ในแต่ละสภาพการณ์

มิแชล แบชเลต ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ภาพถ่ายเมื่อ 5 ธันวาคม 2018 โดย Denis Balibouse / REUTERS)

สืบค้นรากเหง้า

แบชเล็ต อดีตประธานาธิบดีสองสมัย สตรีคนแรกที่ได้เป็นผู้นำของชิลี ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ฯ เมื่อเดือนกันยายน บอกด้วยว่า หลักสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลกำลังถูกบั่นทอนด้วยฝีมือของรัฐบาลที่มองคำว่าผลประโยชน์แห่งชาติด้วยสายตาคับแคบ ยึดถือความคิดชาตินิยม

อันว่าชาตินิยมนั้นก่อตัวขึ้นเมื่อมีการก่อรูปของสังคมการเมืองที่เรียกว่า รัฐชาติ ชาตินิยมให้คุณค่าแก่รัฐเหนือกว่าปัจเจกบุคคล จึงไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสายวิวัฒนาการมาจากการลดทอนอำนาจรัฐ

สิทธิของปัจเจกชนตามปฏิญญาฯ มีต้นธารจาก 3 แหล่ง คือ มหากฎบัตรแห่งอังกฤษ ปี 1215 คำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา ปี 1776 และคำประกาศสิทธิแห่งมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศสเมื่อปี 1789

เล่าอย่างย่นย่อ มหากฎบัตรแม็กนาคาร์ตาซึ่งออกภายหลังการลุกฮือต่อต้านพระเจ้าจอห์น วางรากฐานรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ โดยสถาปนาหลักการขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ทุกคน รวมถึงกษัตริย์ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ต่อมาในปี 1689 กฎหมายสิทธิของอังกฤษ (England’s Bill of Rights) จำกัดอำนาจของกษัตริย์ เพิ่มอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รับรองสิทธิในการเลือกตั้งโดยเสรี และเสรีภาพในการพูด

คำประกาศเอกราชของ 13 อาณานิคมอเมริกันที่ทำสงครามกับอังกฤษ รับรองว่า มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน และมีสิทธิในชีวิต สิทธิที่จะใช้เสรีภาพ และสิทธิในการแสวงหาความสุข กฎหมายสิทธิ (US Bill of Rights) ที่ออกตามรัฐธรรมนูญปี 1789 ให้หลักประกันเสรีภาพต่างๆ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก

ในปี 1789 เช่นกัน รัฐสภาฝรั่งเศสออกคำประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมือง ตามหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มุ่งกำจัดอำนาจของกษัตริย์ ยกย่องการปกครองของประชาชน

ทั้งหมดนี้วางรากฐานแก่ปฏิญญาฯ ซึ่งรับรองสิทธิใน 4 หมวด นั่นคือ (1) สิทธิส่วนบุคคล เช่น เสรีภาพและความเสมอภาค (2) สิทธิในความสัมพันธ์ เช่น เชื้อชาติ ครอบครัว (3) สิทธิทางการเมืองและความเชื่อ เช่น เสรีภาพในการออกเสียง และ (4) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น การทำงาน ค่าจ้าง การศึกษา และสวัสดิการสังคม

วัยวัน 70 ขวบปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง ที่โลกมีความก้าวหน้า อย่างน้อยในทางความคิดที่จะส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มถดถอยของเสรีภาพทั่วโลกย้ำเตือนว่า ฝ่ายเสรีนิยมยังมีงานต้องทำอีกมากในการต่อกรกับฝ่ายอนุรักษนิยม

เด็กๆ จาก Bright Horizons Early Education Center ร่วมฉลอง 70 ปีกฎบัตรสิทธิมนุษยชน (ภาพจาก Mark Garten / UN Photo)

อ้างอิง:

ภาพเปิด: เอเลนอร์ รูสเวลต์ ยืนถือโปสเตอร์ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ภาพจาก UN Photo)

Tags: , , ,