เมื่อเอ่ยถึงชีวิตของ ‘สาวใช้’ หรือ ‘แม่บ้าน’ ชาวฟิลิปปินส์ ความทรงจำแรกของใครหลายคน โดยเฉพาะคอหนังสยองขวัญ คงหนีไม่พ้นภาพจำในภาพยนตร์เรื่อง ‘เดือนผีดุ’ (The Maid 2005) หนังผีสัญชาติสิงคโปร์ บอกเล่าเรื่องราวของโรซา (Rosa) เด็กสาวชาวฟิลิปปินส์ที่ตัดสินใจเดินทางมาประเทศสิงคโปร์เพื่อทำงานเป็นสาวใช้ในครอบครัวที่เปิดโรงงิ้วแต้จิ๋วแห่งหนึ่ง

โปสเตอร์หนัง The Maid

โรซา เด็กสาวฟิลิปปินส์ที่เป็นแม่บ้านในหนัง

  ชีวิตของเธอควรจะสุขสบายดังที่คาดหวัง โดยเฉพาะผู้คนในครอบครัวงิ้วปฏิบัติต่อโรซาราวกับครอบครัวอีกหนึ่งคน แต่สาวใช้คนนี้กลับต้องเผชิญกับเรื่องราวลี้ลับบางอย่าง หลังจากเธอได้ละเมิดข้อห้าม เพราะความไม่มีความรู้เกี่ยวกับ ‘เทศกาลเดือน 7’ ซึ่งตามคติของคนจีน หมายถึงเดือนแห่งการปล่อยผี ประตูนรกเปิดออก วิญญาณจะกลับมายังโลกมนุษย์ นั่นจึงทำให้เธอต้องต่อสู้กับสิ่งเหนือธรรมชาติตลอดการใช้ชีวิตในต่างแดน

นี่คือส่วนหนึ่งของความน่ากลัวของหนังสยองขวัญที่ปรุงแต่งผ่านจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งใช้ความเชื่อของสิงคโปร์ตามแบบฉบับสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะการมีอยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศ ผสมผสานกับวิถีชีวิตของหญิงสาวชาวฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกระแส ‘การทำงานต่างถิ่น’ ในฐานะแม่บ้าน เมื่อสองสิ่งนี้มาเจอกัน จึงกลายเป็นเรื่องสนุกและชวนติดตามของใครหลายคน

ทว่าหากเห็นถึงสิ่งที่สาวใช้ต่างถิ่นหลายคนต้องประสบในความจริง เราคงอาจบอกได้ว่า ความหวาดกลัวขั้นขีดสุดของพวกสาวใช้ต่างถิ่น คงไม่ใช่ผีสางแต่อย่างใด แต่คือการถูกเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมในการทำงาน โดยเฉพาะสถานการณ์ล่าสุดของแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึง ‘การตกเป็นแรงงานทาส’ ของเหล่านักการทูต อาชีพที่หลายคนมองว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ

จากห้องพิจารณาคดีที่เห็นผ่านละครวันนั้น กลายเป็นเรื่องจริงในวันนี้ของเธอ หลังจาก เวอร์จีเนีย แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์  ยื่นฟ้องต่อศาลถึงนายจ้างของเธอ นั่นคือคณะผู้แทนถาวรปากีสถาน (Pakistan Mission) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่ประจำการ ณ สำนักงานใหญ่ของ UN กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เธออ้างว่า พวกเขาไม่ได้จ่ายเงินเดือนตลอด 20 ปี

ในอดีต เวอร์จีเนียในวัย 20 ปี เคยทำสัญญาในประเทศบ้านเกิดเมื่อปี 1999 ว่า เธอจะต้องได้รับเงินเดือนราว 1,329 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 46,105 บาท) หากทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งค่าอาหาร ที่พัก และประกันสุขภาพ

แต่เมื่อหญิงสาวแม่ลูกสอง เดินทางมาถึงกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ความหวังของเธอก็พังทลายลง เพราะคณะผู้แทนถาวรปากีสถานไม่ได้จ่ายเงินให้เธอตั้งแต่การทำงาน 3 สัปดาห์แรก และเมื่อเธอจะเอ่ยปากขอความยุติธรรม พวกเขากลับใช้อำนาจของนายจ้างผ่านการรับรองวีซ่า (Visa Sponsorship) ปิดปากเธอ เวอร์จีเนียต้องหางานเสริมอื่นๆ เพื่อจะอยู่รอดในที่แห่งนี้ได้

นอกจากนั้น ยังมีสาวใช้อีก 3 คนร่วมต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการใช้แรงงานกับกลุ่มคณะผู้แทนถาวรปากีสถานต่อ UN โดยอ้างว่า พวกเธอไม่ได้รับค่าจ้าง ประกอบด้วยหลักฐานที่รวบรวมในปี 2021 ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ การบีบบังคับ การเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่การค้ามนุษย์

ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนถาวรสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Mission) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวีซ่าของแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อ ออกมายืนยันว่ากำลังดำเนินการสอบสวน

อย่างไรก็ตาม ความกังวลของเวอร์จีเนียและผู้เสียหายอีกหลายคน คือ ‘ความคุ้มกันทางการทูต’ (Diplomatic Immunity) ที่ทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างยากลำบาก 

“พวกเขามีอำนาจมาก ฉันแตะต้องไม่ได้เลย ความศรัทธาของฉันต่อพระเจ้าและความจริงจะเป็นอาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำลายความคุ้มกันนั้น” เธออธิบายความรู้สึก

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ‘ความคุ้มกันทางการทูต’ คืออำนาจพิเศษของนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศที่จะได้ยกเว้นจากการดำเนินคดีหรือฟ้องร้องทางกฎหมาย รวมถึงกระบวนการจับกุมและกักขังอีกด้วย โดยความคุ้มกันทางการทูตมีจุดประสงค์ไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือเกิดความหวาดกลัวในการปฏิบัติงาน ดังนั้น เวอร์จีเนียจะไม่สามารถฟ้องร้องกับคณะผู้แทนถาวรปากีสถานในฐานะผู้กระทำได้

แต่ก็ใช่ว่า คณะผู้แทนดังกล่าวจะปราศจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง เพราะหากมีความผิดจริง หน่วยงานระดับสูงสามารถ ‘ถอด’ ความคุ้มกันทางการทูตนี้ออกไปได้ เช่น หากมีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้น นักการทูตมักถูกไล่ออกจากตำแหน่ง เท่ากับว่าความคุ้มกันทางการทูตโดยตำแหน่งหายไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม เบน แวนเปเปอร์สแตรเต (Ben Vanpeperstraete) เผยว่า ความคุ้มกันทางการทูตก็มีช่องโหว่สำคัญ เพราะหลายครั้ง หน่วยงานระดับสูงก็เพิกเฉยกับการฟ้องร้อง หรือหากฝ่ายผู้กระทำจ่ายค่าชดใช้กับให้กับเหยื่อแล้ว พวกเขาสามารถย้ายหนีไปสถานทูตใหม่ หรือเดินทางออกนอกประเทศได้เลย โดยไม่ต้องมีบทลงโทษอย่างการถอดภูมิคุ้มกันทางการทูตหรือพ้นจากตำแหน่ง

“แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้เรื่องสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานลงโทษนักการทูต หรือแม้แต่สอบสวนความเป็นอยู่คนงานในบ้านของพวกเขา” เบนกล่าว 

ปัญหาดังกล่าวมีกรณีศึกษามากมาย มีรายงานว่า เหตุการณ์การขูดรีดแรงงานจากนักการทูตและพนักงานขององค์การระหว่างประเทศ เกิดขึ้นถึง 140 คดี นับตั้งแต่ปี 1996-2020 ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การขูดรีดค่าแรง และการไม่จ่ายค่าแรงให้กับแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหยื่อจากคดีความดังกล่าวมักเป็นพลเมืองจากกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา 

อย่างไรก็ตาม เบนได้เสนอกรณีศึกษาที่ไม่มีช่องโหว่ หลังจากศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร (Supreme Court of United Kingdom) ตัดสินว่า การจ้างงานบ้านเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ดังนั้น นักการทูตผู้ต้องหาจะต้องถูกดำเนินคดีและชดใช้ค่าเสียหาย เพราะความคุ้มกันทางการทูตไม่ครอบคลุมฐานความผิดดังกล่าวตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาเวียนนา (Vienna Convention) 

สำหรับกรณีคดีความระหว่างเวอร์จีเนียกับคณะผู้แทนถาวรปากีสถาน ฝั่งคณะผู้แทนถาวรสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า การสละสิทธิ์ภูมิคุ้มกันทางการทูตเพื่อดำเนินคดีต่อ เป็นหนทางที่เป็นไปได้ แต่ขอไม่ให้รายละเอียดมากกว่านี้ เนื่องจากจะมีผลต่อรูปคดี รวมถึงยังเปิดช่องทางอื่นๆ เพื่อยุติความขัดแย้งอย่างการเจรจาอีกด้วย

นโยบายการส่งออกแรงงานหญิง: ความเจริญก้าวหน้าของประเทศที่อาบบาดแผลของผู้หญิงจากการขูดรีดของโลก

เรื่องราวของเวอร์จีเนียไม่ใช่ครั้งแรกที่ปรากฏในหน้าสื่อ เพราะยังมีแรงงานหญิงหลายคนต้องเผชิญการกดขี่ เพราะการทำงานนอกประเทศ ซึ่งต้องย้อนกลับไปถึงภูมิหลังความเป็นมาของการส่งออกอาชีพแรงงานหญิงในฟิลิปปินส์ช่วงทศวรรษ 1970 หลังจากผู้นำจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผลักดันกลยุทธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘โครงการการแลกเปลี่ยนแรงงาน’ (Manpower Exchange Program)

นโยบายนี้มุ่งเน้นการส่งออกแรงงานชาวฟิลิปปินส์ข้ามชาติไปยังทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคอาเซียนเองก็ตาม โดยหน้าที่ของรัฐบาล คือการช่วยเหลือผู้ที่เดินทางออกไป รวมถึงยังทำหน้าที่ ‘เป็นนายหน้า’ หาประเทศต้นทางให้กับแรงงานเหล่านั้น ซึ่งมีเจรจาและทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย

บรรดากลุ่มผู้หญิงมักนิยมทำอาชีพเกี่ยวข้องกับงานในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก ผู้ดูแลคนชรา ในเวลาดังกล่าว พวกเธอกระจายตัวออกไปถึง 160 แห่งทั่วโลก และมีการคัดแยก ‘เกรด’ ประเทศที่น่าไปมากที่สุด ได้แก่ ทวีปยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี แคนาดา และสเปน เอเชียตะวันออก อาเซียน และตะวันออกกลาง 

สาเหตุของการแบ่งเกรดประเทศเป็นลำดับชั้น เพราะแรงงานจะพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของพวกเธอประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับค่าจ้างสูง สวัสดิการครบถ้วน การเข้าถึงการศึกษา โอกาสในการตั้งถิ่นฐานประเทศปลายทาง รวมถึงปัจจัยทางด้านความเชื่ออย่างศาสนา

ยกตัวอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนเน่ (Nene) แรงงานหญิงชาวฟิลิปปินส์ที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน เห็นว่าประเทศอิตาลีเป็นสถานที่ที่ดึงดูดการตั้งถิ่นฐานของเธอที่สุด ไม่เพียงแต่การมีค่าจ้างที่เหมาะสม แต่ยังรวมไปถึงโอกาสระยะยาวในการเป็นพลเมืองถาวร ในขณะที่หลายคนมองว่า หากทำงานในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ความมั่นคงในงานจะน้อยลง เช่น การทำงานในฮ่องกงมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะค่าจ้างน้อย และเสี่ยงถูกขับไล่ออกจากดินแดนด้วย ‘กฎ 2 อาทิตย์’ (Two-Week Rule) คือพวกเธอต้องโดนขับไล่จากเกาะ หากไม่สามารถหานายจ้างใหม่ภายใน 2 อาทิตย์ 

อย่างไรก็ตาม การเป็นแรงงานหญิงต่างถิ่นและทำงานในที่ลับ รวมถึงไม่มีคนรู้จักในวงเครือข่ายสังคมเสมือนการทำงานในประเทศ ย่อมก่อความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์หรือการใช้ความรุนแรง

ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับเวอร์จีเนีย เช่น โรวีนา (Rowena) แรงงานหญิงชาวฟิลิปปินส์ที่ย้ายไปทำงานในประเทศบาห์เรน (Bahrain) พบเจอการขูดรีดค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงโรคระบาดโควิด-19 หลังจากเขาปฏิเสธที่จะจ้างงานเธอในราคา 120 ดีนาห์บาร์เรน (ประมาณ 11,071 บาท) แต่กลับให้เงินเธอเพียง 10 ดีนาห์บาร์เรน (ประมาณ 922 บาท) แค่พอประทังชีวิตในระยะเวลา 14 วัน

สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อเธอตัดสินใจจะเดินทางกลับประเทศ แต่เที่ยวบินทุกประเภทถูกยกเลิก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งกว่านั้น นายจ้างหยุดให้เงินเดือนเธอ และปล่อยให้อยู่ตามยถากรรม แม้ว่าโรวีนาจะเรียกร้องถึงกลุ่มหน่วยงานในประเทศบ้านเกิดให้ช่วยเหลือ แต่ทางการฟิลิปปินส์ไม่ตอบสนองแต่อย่างใด

จากรายงานของเดอะการ์เดียน (The Guardian) ผู้หญิงฟิลิปปินส์ที่ทำงานในตะวันออกกลางถึง 60% ตกเป็นเหยื่อของระบบ ‘ระบบคาฟาลา’ (Kafala System) หรือแรงงานทาส บางคนทำงานหนัก แต่ไม่มีค่าจ้าง อีกทั้งยังโดนกดทับประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน คือการทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือไม่สามารถเดินทางกลับไปหาครอบครัวในบ้านเกิดได้

ชะตาชีวิตของแรงงานสาวฟิลิปปินส์ในเอเชียตะวันออกยังคล้ายคลึงเช่นเดียวกัน มาเรีย แม่ลูกเดี่ยววัย 43 ปี เปิดเผยประสบการณ์การทำงานในฮ่องกง หลังจากนายจ้างของเธอใช้ความรุนแรง เพราะไม่ได้ใส่พริกหยวกในอาหารของลูกเจ้าของบ้าน

“เธอตบหน้าด้านขวาของฉันเลย แล้วก็ตีที่ก้นประมาณ 3-4 ครั้ง ตอนนั้นฉันรู้สึกไร้ค่าสำหรับเธอมาก” มาเรียอธิบายความรู้สึก

รวมถึง โรบีนา โรวาโน (Robina Rovano) อาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพภาคเศรษฐกิจ ซึ่งอาศัยในสิงคโปร์ ได้ยินเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับมาเรีย เธอเปิดเผยสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ว่าต้องรับสายในยามค่ำคืน เพราะสาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ร้องขอความช่วยเหลือจากการใช้ความรุนแรงของนายจ้าง 

หรือแม้กระทั่งประเทศที่หลายคนมองว่ามีความเจริญก้าวหน้าและจัดอยู่ในลำดับชั้นต้นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา มารีลู อิลากัน (Marilou Ilagan) เผยว่า เธอได้ค่าจ้างที่น้อยมากในการทำงานแม่บ้านเพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 13,904 บาท) ในปี 1990 

สำหรับกรณีของประเทศอังกฤษ หากผู้หญิงหลายคนที่แจ้งกับทางการว่า ตนเองเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และต้องประทังชีวิตด้วยเงิน 39.60 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (ประมาณ 1,700 บาท) จนกว่าคำร้องวีซ่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 3 ปี

ในทางกลับกัน หากแรงงานสาวฟิลิปปินส์เลือกที่จะเดินทางกลับประเทศเพื่อไปตายดาบหน้า พวกเธอก็อาจจะส่งเสียภาระอันใหญ่หลวงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวหรือค่าเล่าเรียนของลูก ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของเดอะการ์เดียนว่า ผู้หญิงฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับประเทศ 2.6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 111,744,671.22 บาท) ซึ่งคิดเป็น 8.8% ของ GDP

โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจอันย่ำแย่ของฟิลิปปินส์ จนเกิดสภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นสองเท่าจากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) นั่นจึงทำให้หลายคนเลือกจะเสี่ยงใช้ชีวิตในต่างประเทศต่อ

แรงงานสาวชาวฟิลิปปินส์ยื่นเอกสารเพื่อเดินทางออกนอกประเทศ (ที่มา: Reuters)

 มีมี่ (Mimi) แรงงานคนหนึ่งเผยว่า ถ้าปราศจากรายได้การทำงานในอังกฤษของเธอ ลูกสาววัย 19 ปีอาจไม่มีโอกาสสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาได้

“ไม่เหลืออะไรให้ฉันอีกแล้ว ฉันทำงานที่นี่จนไม่มีเงินให้ตัวเอง ฉันให้ครอบครัวหมด” เธอกล่าว ซึ่งมีมี่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงถูกเนรเทศ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอันน่าเศร้าของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ต้องแบกรับภาระจากครอบครัวและประเทศ โดยที่ไม่มีโอกาสสร้างความสุขให้กับตัวเอง มิหนำซ้ำ บางคนต้องเผชิญกับภาวะ ‘หนีเสือปะจระเข้’ เมื่อพวกเธอหนีความยากจนในบ้านเกิด แต่กลับพบเจอการขูดรีดและการคุกคามทางเพศจากนายจ้าง

 

อ้างอิง

Rhacel Salazar Parreñas ,“The Global Migration of Filipino Domestic Workers,” in Servants of Globalization: Migration and Domestic Work (California: Stanford University Press, 2015), 1-28.

จันตรี สินศุภฤกษ์, “กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตและกงสุลและความคุ้มกันของรัฐ,” ใน กฎหมายระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2562), 341-342.

https://www.theguardian.com/world/2021/jan/27/domestic-workers-philippines-coronavirus-conditions

https://www.aljazeera.com/features/2023/5/24/four-filipinas-sue-diplomat-employers-in-switzerland-for-slavery

https://asianmoviepulse.com/2021/08/film-review-the-maid-2005-by-kelvin-tong/

Tags: , , , , , , ,