วันนี้ (18 เมษายน 2565) เวลา 10.30 น. กลุ่มราษฎรมูเตลู เฟมินิสต์ปลดแอก และเฟมฟู รวมถึงประชาชนบางส่วน ร่วมกันจัดกิจกรรมและชุมนุมบริเวณหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในชื่อว่า ‘ม็อบสีดาลุยไฟ’ ทางด้านสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ได้จัดกองกำลังประมาณ 30 นาย ตรึงกำลังรอบพรรคประชาธิปัตย์เพื่อดูแลความเรียบร้อยตั้งแต่ 09.00 น. จากกรณีที่ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อหลายราย และยังมีข้อมูลเรื่องเคยกระทำผิดแบบเดียวกันจนเกิดคดีความที่ประเทศอังกฤษ ถือเป็นรูปแบบพฤติกรรมการข่มขืนต่อเนื่องจากนักการเมืองที่มีอิทธิพลและตำแหน่งสูง
‘มีมี่’ เยาวชนอายุ 17 ปี ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในวันนี้ว่า เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองเอาจริงเอาจังในการยุติความรุนแรงทางเพศ ตรวจสอบสมาชิกทุกระดับที่มีพฤติกรรมและการกระทำที่รุนแรงเหล่านี้ รวมถึงเรียกร้องให้นักการเมืองยุติการใช้อิทธิพลทางการเมืองเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดทั้งทางตรงและทางอ้อม
“เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น คนผิดคือผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่เหยื่อ เหยื่อมีสิทธิจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ จะแรด จะร่านอย่างไรก็ได้ แต่คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิไปคุกคาม ข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศ วันนี้เรามีแถลงการณ์ที่จะส่งต่อพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองทั้งหมด
“การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นความรุนแรงทางสังคม เราต้องยุติการลอยนวลพ้นผิดในการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศ จากกรณีที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาในคดีกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา ตอนนี้มีผู้เสียหายหลายรายออกมาเปิดเผยถึงความรู้สึกหวาดกลัว เพราะผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพล นับจากข้อมูลที่ปรากฏจากสื่อตั้งแต่ครั้งเกิดเหตุที่ประเทศอังกฤษ ผู้ต้องหามีรูปแบบพฤติกรรมชัดเจนว่า ต้องการหลอกล่อ กักขัง กระทำชำเรา ซึ่งเป็นพฤติกรรมการข่มขืนต่อเนื่อง หลังจากที่มีการแจ้งความดำเนินคดีและตกเป็นข่าว เขาได้ประกาศลาออกจากการเป็นรองหัวหน้าพรรค
“แต่ท่าทีของสมาชิกในพรรค กลับมีพฤติกรรมลดทอนความเจ็บปวดและความเสียหาย กระทำการซ้ำเติมผู้ที่ประสบความรุนแรงทางเพศ เช่น มีข้อความที่ตั้งคำถามโทษว่าเรื่องทั้งหมดเป็นความผิดของเหยื่อ ‘แปลกมากผู้หญิงสมัยนี้ โดนข่มขืนตั้งนานเพิ่งลุกขึ้นมาเอาป่านนี้’ ทำให้ผู้ถูกกระทำที่ลุกขึ้นมาทวงคืนความเป็นธรรมจะต้องเผชิญหน้ากับการถูกตัดสิน และการเหยียดเพศอย่างรุนแรงในสังคม
“ยังมีอดีต ส.ส. ร่วมพรรค ออกมาให้ข่าวชื่นชมว่า การลาออกเป็นเรื่องที่กล้าหาญ ส่วนเรื่องที่ใช้อิทธิพลจากพรรคการเมืองเพื่อลอยนวลพ้นผิด คือการที่โฆษกพรรคให้สัมภาษณ์ว่า พฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว แต่กลับแต่งตั้งผู้ต้องหาในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ทั้งที่มีประวัติคดีความรุนแรงทางเพศที่อังกฤษ สะท้อนการโอบอุ้มผู้ต้องหา ปล่อยให้การข่มขืนเกิดขึ้น เหมือนกับอนุญาตให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ซ้ำๆ การปฏิเสธความรุนแรงทางเพศถือเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เราที่เป็นนักกิจกรรมเรื่องเพศ รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก ที่นักการเมืองผู้ควรจะต้องเป็นคนสร้างบรรทัดฐานจริยธรรมทางเพศ กลับใช้อำนาจของตนลิดรอนสิทธิทางร่างกาย และทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น”
ผู้ชุมนุมยังยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อพรรคการเมือง ดังนี้
1. พรรคต้องสอบสวนการปกปิดคดีอาชญากรรมของอดีตรองหัวหน้าพรรค
2. พรรคต้องตรวจสอบพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศของนักการเมืองทุกระดับ
3. พรรคต้องมีกฎข้อบังคับเรื่องจริยธรรมของสมาชิกและกรรมการทุกระดับชั้นอย่างชัดเจน เพื่อยืนยันว่าไม่มีการใช้ความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ
4. พรรคต้องไม่ใช้อิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการแทรกแซงคดีความ
5. พรรคต้องออกมาขอโทษประชาชนอย่างจริงใจ และระบุปัญหาที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้
ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกกล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้ส่งไปแค่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ส่งไปยังทุกพรรคการเมือง เพราะถ้านักการเมืองยังมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงทางเพศอย่างไร้ยางอายต่อไป จะเสนอหน้าทำงานการเมือง ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย ทำงานเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนได้อย่างไร
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงประเด็นที่ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อหลายราย จนทำให้เกิดการชุมนุมหน้าพรรคในวันนี้ เธอกล่าวว่า ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เป็นพื้นที่ที่ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาพูดคุยได้ ทางพรรคจะรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจะยืนยันว่าเธอเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนจะตำหนิหรือวิจารณ์อย่างไรก็พร้อมน้อมรับ
เธอเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมเรื่องที่ผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไรหรือมีวิถีชีวิตอย่างไร ก็ไม่มีใครมีสิทธิไปข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนเรื่องการต่อต้านความรุนแรงทางเพศ และจะยังผลักดันประเด็นนี้ต่อไป
“เรามีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ที่ช่วยเหลือเรื่องลักษณะนี้มาอย่างยาวนาน เมื่อน้องๆ หยิบประเด็นนี้ขึ้นมา เราจะขยายความต่อไปว่า เราจะไม่ปล่อยให้นักการเมืองมีพฤติกรรมแบบนี้ เราจะลุกขึ้นมาตรวจสอบ ขจัดปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศไปกับภาคสังคมอื่นๆ กับกลุ่มน้องๆ ที่มาในวันนี้ ทุกเสียงสะท้อนความรู้สึก คับแค้นใจ คับข้องใจ ทุกๆ คำถามที่มีต่อพรรค ทางเราจะรับไปพิจารณาแน่นอน เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้พรรคดีขึ้น ในกรณีของผู้เสียหาย ถ้าหากต้องการให้เราช่วยเหลืออะไร ไม่ว่าจะเป็นการช่วยจัดหาทนายความ ช่วยเรื่องอื่นๆ เราก็พร้อม เพราะเรามีคณะทำงานตรงนี้อยู่แล้ว ขอยืนยันกับน้องๆ ว่า สนับสนุนการจัดกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึกในสังคม ให้ทุกคนกล้าลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และเคารพเพศอื่นๆ และพรรคประชาธิปัตย์จะเดินเคียงข้างน้องๆ อย่างแน่นอน”
เมื่อสื่อมวลชนถามเรื่องแชตหลุดที่มีการอ้างว่า ภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีเรื่องอื้อฉาวอีกมากมาย ทั้งความสัมพันธ์ของคนในพรรคและนอกพรรค รัชดากล่าวว่า ทางพรรคจะไม่ตามหาคนที่ปล่อยแชต และจะเน้นเรื่องการพูดคุยถึงวิธีป้องกันไม่ให้ชื่อเสียงพรรคเสื่อมเสียไปมากกว่านี้
ส่วนความคิดเห็นอื่นๆ ของสมาชิกประชาธิปัตย์ที่ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า คดีความของปริญญ์ถือเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะหลักสำคัญที่เขาระลึกถึงเสมอเวลาทำงานการเมือง คือเมื่อใดที่มีคนในพรรคเดียวกันกระทำผิด เขาจะไม่ให้ร้ายพรรค และจะตรวจสอบบุคคลที่กระทำความผิดไปตามกระบวนการ เพราะพรรคไม่สามารถทำการทุจริตได้ ผู้ก่อเหตุหรือผู้กระทำผิดต่างหากที่เป็นผู้ก่อการทั้งหมด หากเกิดการกล่าวหาพรรคก็จะไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่ควรเหมารวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะไม่เป็นธรรมต่อคนดี คนที่ตั้งใจทำงานให้กับพรรค
วันนี้ รัชดาระบุถึงความคิดเห็นเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัวว่า หากพฤติกรรมใดของคนในพรรคที่แสดงออกไปแล้วทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือเสียใจ ทางพรรคต้องแสดงความขอโทษต่อประชาชนทุกคนด้วย
“เราไม่ได้สั่งให้ใครไปทำชั่ว พรรคการเมืองมุ่งหวังเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราไม่สามารถทราบได้ว่านักการเมืองแต่ละคนมีชีวิตนอกเหนือจากการทำงานอย่างไรบ้าง แต่ขอย้ำว่า หากสิ่งใดที่คนของพรรคทำแล้วประชาชนผิดหวัง อยากจะตำหนิ เราพร้อมฟัง”
ตอนนี้คดีความของปริญญ์ยังไม่จบลง และยังคงมีผู้เสียหายอีกหลายรายทยอยเดินทางมาแจ้งความว่าเคยถูกปริญญ์ล่วงละเมิดทางเพศ ล่าสุดมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 5 คน โดย 3 คน แจ้งความกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี อีก 1 คน แจ้งความที่สำนักงานตำรวจภูธรเมืองเพชรบุรี และคนล่าสุดแจ้งความที่สถานีตำรวจในจังหวัดเชียงใหม่
Tags: ปริญญ์, Report, ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, พรรคประชาธิปัตย์, การคุกคามทางเพศ, ล่วงละเมิดทางเพศ, Internal Affairs, ม็อบ18เมษา65, เฟมินิสต์ปลดแอก, ราษฎรมูเตลู, สีดาลุยไฟ