เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ตำรวจพบร่างของ จีจี้-สุพิชชา ปรีดาเจริญ เน็ตไอดอลวัย 20 ปีถูกยิงเสียชีวิต และพบร่างของอดีตแฟนหนุ่มนักเรียนเตรียมทหาร อิคคิว-ภูมิพัฒน์ ชัยวณิชยา อายุประมาณ 18-19 ปี ลูกของพลเอก สมชาย ชัยวณิชยา ภายในคอนโดมิเนียม 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่แฮชแท็ก #เรื่องของจี้ #จีจี้พิชชา ที่นำเสนอเรื่องราว ภาพแชต ภาพการทำร้ายร่างกาย หลักฐานต่างๆ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องพบเจอในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกด่าทอ ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ และหลายครั้งเป็นการขู่ฆ่า แต่ไม่วายสังคมมักมีคำถามตามมาเสมอ

“ทำไมถึงไม่เลิกกับแฟนคนนี้สักที”

“Toxic ขนาดนี้ทำไมยังคบอยู่”

“โดนทำร้ายร่างกายขนาดนี้ แต่ทำไมยังกลับไปคบ?”

เชื่อว่าคำถามเบื้องต้นเป็นคำถามยอดนิยมที่ถูกหยิบมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อคนที่รู้จักตกอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) หรือได้ฟังเรื่องราวเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายของแฟน คู่รัก หรือสามี-ภรรยา หากมองจากสายตาของคนนอก มองอย่างไรก็ไม่มีเหตุผลให้ทนต่อ เพราะนี่คือสัญญาณอันตราย (Red Flags) ชัดๆ 

ทว่าสำหรับเหยื่อมีเหตุผลอีกนานัปการ ที่ทำให้เธอไม่กล้าเดินออกจากความสัมพันธ์ หรือกำลังพยายามต่อสู้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเกรงกลัวต่ออำนาจ ภัยอันตราย ความมั่นคงในชีวิต หรืออาจเป็นเหตุผลแสนสามัญอย่างคำว่ารักก็ได้ 

คาสซานดรา วีเนอร์ (Cassandra Wiener) ศาสตราจารย์อาวุโสด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้เหตุผลว่า การบังคับและการควบคุมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้กระทำมักใช้กับเหยื่อ เช่น การดูแลเหยื่อในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์เป็นอย่างดี จนได้รับความไว้ใจ หลังจากนั้นจะทำให้เหยื่อรู้สึกกลัว การวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงมักใช้การควบคุมผ่านการเข้าถึงครอบครัว เพื่อน และเงิน สิ่งนี้ทำให้การต่อต้านความต้องการออกจากความสัมพันธ์ของเหยื่อยากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เหยื่อต้องตกอยู่กับความวิกตกกังวลไปเรื่อยๆ และนี่คือสิ่งตรงข้ามที่หลายคนมักตั้งคำถามว่า ทำไมยังทนคบในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอยู่? แต่เหยื่อไม่มีทางเลือกและคิดว่าการกลับมาคบจะปลอดภัยต่อชีวิตมากกว่าต่างหาก

นอกจากนี้ การศึกษาของ อลิสัน เกรกอรี (Alison Gregory) และแซนดรา วอล์กเลต (Sandra Walklate) หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล เสนอเหตุผลที่น่าสนใจว่า เหตุผลที่พวกเขาไม่สามารถเดินออกมาจากความสัมพันธ์ หรือยังกลับมาคบซ้ำๆ มาจากเหตุผลที่เข้าใจยากมากที่สุดอย่างคำว่ารัก เช่น การกระทำที่ดีหลังจากทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรัก ความรู้สึกห่วงใย และปฏิญาณว่าจะไม่ทำอีก หรือที่ทำไปเพราะรักจนทำให้เหยื่อติดกับดักไม่กล้าออกจากความสัมพันธ์

อีกสิ่งที่น่าสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้คือค่านิยม ความคาดหวังแบบโรแมนติกที่สังคมมีต่อคำว่ารัก เช่น มีผู้มีประสบการณ์ได้บอกเล่าเรื่องราวนี้ว่า ครั้งแรกที่เขาตบคุณ เขาบอกว่าเขาผิดเอง เขาสำนึกผิด คุณให้อภัย ความสัมพันธ์กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเหยื่อมีความต้องการรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ต่อไป แม้จะต้องสูญเสียความปลอดภัยของตัวเองก็ตาม หรือบางครั้งผู้กระทำก็อ้างเหตุผลจากคำว่ารัก เช่น “ถ้าคุณรักฉันคุณต้อง…” “ถ้าคุณเลิกกับฉัน ฉันจะฆ่าตัวตาย” รวมถึงขู่ทำร้ายคนที่คุณรัก หรือแม้กระทั่งตัวคุณเอง เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้กระทำความรุนแรงมักนำมาใช้เพื่อไม่ให้เหยื่อออกจากความสัมพันธ์ 

เช่นเดียวกับจีจี้ เธอตอบคำถามแฟนคลับที่ถามว่า ทำไมถึงกลับมาคบกับคนที่เคยทำร้ายเธอซ้ำๆ ด้วยเหตุผลแสนเรียบง่ายว่า “เขาเป็นรักแรกด้วยละมั้ง” เธอเล่าต่อว่า หลังจากถูกทำร้ายร่างกาย อดีตแฟนเก่าของเธอจะทำตัวดีขึ้นมากๆ มาขอโทษ แสดงความสำนึกผิดจนทำให้เธอใจอ่อน

Femicide ไม่มีใครควรถูกฆ่าเพียงเพราะเป็นผู้หญิง

คำถาม: มองผู้หญิงเป็นอะไร

อิคคิว: ก็เป็นคนหนึ่ง เพศหนึ่งที่เกิดมาเพื่อมีลูกมีครอบครัวทำงานเหมือนคนทั่วไปไงครับ สืบพันธุ์ให้มีเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อผมเฉยๆ อะก็แค่ผู้หญิง

คำถาม: มองผู้หญิงเป็นแค่วัตถุทางเพศเหรอคะ

อิคคิว: คุณพูดเองนะครับ ก็ผู้หญิงสิ่งที่ทำได้คือสืบพันธ์ุไงครับ จริงไหมครับ แม่บ้านหรือทำงานเลี้ยงตัวเอง ถ้าไม่มีคู่เพราะผู้หญิงเกิดมาเยอะกว่าผู้ชาย ผู้ชายเรามีหลายหน้าที่ทำได้เยอะมากๆ ที่ผู้ชายต้องทำ มันคือหน้าที่ของผู้ชายอะครับ มันแบกเยอะกว่าผู้หญิง หรือไม่จริงครับ ผู้ชายมีมุมอ่อนแอน้อยกว่าผู้หญิงนะครับ

เหล่านี้คือทัศนคติที่อดีตแฟนเก่าของจีจี้ ได้ตอบคำถามผ่านแอปพลิเคชัน NGL ที่ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม นอกจากนี้ยังเขายังตอบคำถามว่า ผู้หญิงที่เป็นเฟมินิสต์ และวีแกน เป็นสัญญาณของผู้หญิงที่ไม่น่าคบหาด้วย ซึ่งพฤติกรรมของนักเรียนเตรียมทหารผู้นี้ ผู้เขียนมองว่าอาจตรงกับพฤติกรรมของ ‘Femicide’ (เฟมิไซด์) 

Femicide คืออาชญากรรมร้ายแรงเป็นการเจตนาฆ่าเพียงเพราะเป็นเพศหญิง ซึ่งส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับคนรัก หรือความรุนแรงในครอบครัว เช่นการฆาตกรรมผู้หญิงเพราะทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียง เป็นผลมาจากการกดทับในระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีความไม่เท่าเทียมทางเพศ มองว่าการที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องตลก ผู้หญิงมีหน้าที่ในการเป็นเมียที่ดีเท่านั้น  จนนำไปสู่การเกลียดชังต่อผู้หญิง และการลงโทษผู้หญิงอย่างชอบธรรม 

ฉากสุดท้ายของความรุนแรงคือการฆาตกรรม

การฆาตกรรมเป็นเพียงฉากสุดท้ายของความรุนแรงเท่านั้น ที่ผ่านมาจีจี้ ได้พบเจอกับสัญญาณอันตรายมาหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นข้อความว่า “กลับไปมึงตายแน่” “อันบล็อก ฟังที่กูสั่ง รับสาย ไม่งั้นกูยิงมึงแน่” หรือการที่เธอเคยถูกทำร้ายร่างกาย และอดีตแฟนเก่านำปืนมาจ่อหัว นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบว่า นักเรียนเตรียมทหารเคยทำปืนลั่นจนผนังที่บ้านเป็นรูมาก่อนด้วย 

อีกสิ่งที่แสดงตัวตนแบบ ‘ชายแท้’ หรือระบอบชายเป็นใหญ่ผ่านแฟนเก่าของจีจี้ได้เป็นอย่างดีคือคำว่า “รู้ใช่ป่ะ ถ้าเป็นครอบครัวต่างจังหวัดเค้าฆ่าเธอทิ้งแล้วนะ อับอาย” 

คำพูดข้างต้นมีที่มาจากฝ่ายชายกล่าวหาว่า เขาไม่ใช่ชายคนแรกที่ได้เปิดซิงเธอ และจีจี้เล่าให้คนสนิทของเธอฟังว่า อดีตแฟนเก่าให้เหตุผลการเลิกรากับคนในครอบครัวว่า เธออยากไปนอนกับผู้ชายคนอื่น ทั้งที่เธอยืนยันว่า การเลิกกันครั้งนี้ มาจากเหตุผลการทำร้ายร่างกายจนปางตาย และเธอทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว

หากสังเกตในบทสนทนาทั้งหมด เราจะเห็นทัศนคติที่ฝ่ายชายมีต่อผู้หญิง ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และความคิดเทิดทูนพรหมจรรย์ของเพศหญิง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนผลผลิตสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี ที่ผู้หญิงต้องบริสุทธ์ผุดผ่อง มองผู้หญิงเป็นสมบัติของตัวเอง และเป็นแม่ที่ดีของลูก จนนำมาสู่ข้ออ้างในการลงโทษผู้หญิงโดยชอบธรรม (?) เช่นมีคนแสดงความเห็นต่อรูปที่จีจี้โดนทำร้ายว่า “นอกใจโดนซ้อมก็สมเหตุสมผลแล้วไหม?”

ยังมีคอมเมนต์ประเภทนี้อยู่อีกมาก ที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ครอบครองผู้หญิงหรือคนรัก จนมีเหตุผล (ที่ฟังไม่ขึ้น) มาใช้ทำร้ายร่างกายผู้หญิง แต่ไม่ว่าเราจะนอกใจ แต่งตัวโป๊ (ซึ่งก็เป็นสิทธิของเราอยู่ดี) หรือกระทำอันใดที่แฟน-คู่รักไม่พึงพอใจ แต่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็ไม่มีใครมีสิทธิมาทำร้าย ทุบตีร่างกายของเราได้ทั้งนั้น

รายงานการฆาตกรรมผู้หญิงของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ระบุว่า ในปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กทั่วโลกกว่า 81,100 คน ถูกสังหารด้วยเจตนา ซึ่งเด็กกับผู้หญิงจำนวน 4.5 หมื่นคน หรือประมาณ 56% เสียชีวิตด้วยฝีมือของคนรัก คนสนิท หรือสมาชิกในครอบครัว เฉลี่ยแล้วในทุก 1 ชั่วโมง จะมีเด็กหรือผู้หญิงมากกว่า 5 คน ถูกฆ่าโดยคนใกล้ชิด

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ควรมีใครถูกทำร้าย หรือซ้ำร้ายที่สุดคือถูกฆาตกรรม ไม่ว่าใครคนนั้นจะเป็นใคร หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศเช่นไรก็ตาม

หากตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงระหว่างคู่รัก หรือความรุนแรงทางเพศอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ทาง Line OA: @sherothailand หรือ lin.ee/HNOno3B หากกรณีฉุกเฉิน ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน โทร. 1669 หรือ 1300

ที่มา

https://www.unodc.org/documents/data-and-analysis/briefs/Femicide_brief_Nov2022.pdf

https://theconversation.com/why-victims-of-domestic-abuse-dont-leave-four-experts-explain-176212

Tags: , , , , , ,