สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ลงโทษผู้เห็นต่าง จำกัดสิทธิ และปิดกั้นอิสรภาพ คือผลผลิตจากเหล่าผู้นำเผด็จการ ที่สร้างความสูญเสียและรอยแผลอันยากจะลืมเลือนให้ประชาชนใต้ปกครอง 

ตลอดการมีอยู่ของผู้นำเหล่านี้ในหน้าประวัติศาสตร์ โลกมักได้เห็นพวกเขาสรรหาข้ออ้างมากมายมาสนับสนุนการกระทำที่ชั่วร้าย บ้างอ้างว่าเพื่อการดำรงอยู่ของความเป็นชาติ บ้างอ้างว่าทำเพื่อผดุงไว้ซึ่งความดี แต่หากลองแหวกม่านของอำนาจเบ็ดเสร็จนี้เข้าไป คุณอาจจะพบเข้ากับ ‘ความกลัว’ ก้อนใหญ่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ความหมายทั่วไปของ ‘ความกลัว’ อ้างอิงจากพจนานุกรมเคมบริดจ์ (Cambridge Dictionary) หมายถึงอารมณ์และความคิดไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเมื่อคนรู้สึกกังวลต่อสิ่งที่อาจเป็นอันตราย สิ่งที่สร้างความเจ็บปวด หรือสิ่งไม่ดีใดใดที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น

ในทางจิตวิทยา ความกลัวแบ่งย่อยออกมาเพิ่มเติม ขั้นแรกคือความรู้สึกแบบที่กล่าวไปข้างต้นซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป ต่อมาจะแปรเปลี่ยนไปเป็นโรคกลัว (Phobia) หรือความวิตกกังวลขั้นรุนแรง (Anxiety) ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและร่างกายแบบทวีคูณ

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวออสเตรีย บิดาแห่งจิตวิทยาสมัยใหม่และศาสตร์ด้านจิตวิเคราะห์ ได้อธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับความกลัวไว้ในปี 1926 โดยเขามองว่าความกลัวกับความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่มาควบคู่กัน ความรู้สึกวิตกกังวลเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองและส่งสัญญาณถึงภัยร้าย ไม่ใช่แค่ความเป็นภัยต่อร่างกาย แต่หมายรวมถึงความกลัวที่จะสูญเสียความรัก สิ่งของที่หวงแหน ไปจนถึงความกลัวที่จะถูกทำลายความมั่นใจเหนืออัตตา (Super-Ego) ส่งผลให้เกิดความระแวงสังคมรอบตัว (Social Anxiety) 

ส่วนโรคกลัว หรือ Phobia เป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลหลีกหนีจากสิ่งที่หวาดกลัว อันจะส่งผลเป็นการกระทำ เช่น การกลัวสังคมทำร้ายจนไม่ไปโรงเรียน หรือการกลัวสัตว์บางชนิดเป็นพิเศษ

แต่ถ้าหากเอาทฤษฎีนี้มาใช้อธิบายผู้นำเผด็จการ อะไรบ้างคือสิ่งที่พวกเขากลัว?

เซ็ท ดาวิน นอร์ฮอล์ม (Seth Davin Norrholm) รองศาสตราจารย์จิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมประสาทวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวย์นสเตต (Wayne State University School of Medicine) สหรัฐอเมริกา และซามูเอล ฮันลีย์ (Samuel Hunley) ผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเฟอร์แมน (Furman Univerisy) สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันเขียนบทความเชิงวิเคราะห์ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจกับความกลัวของผู้นำเผด็จการ โดยเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ Anxiety.org 

ทั้งสองแสดงทรรศนะต่อการปกครองแบบเผด็จการว่า ผู้นำอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong) ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) หรือโจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin) ที่เข่นฆ่าผู้คนหลักล้าน ทรมาน บังคับให้เป็นทาส ปกครองประชาชนด้วยความหวาดกลัว เป็นการกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงและวิตกกังวลว่าตนจะถูกประชาชนช่วงชิงอำนาจ ถูกทำให้เสื่อมศรัทธา ไปจนถึงความกลัวที่จะถูกเอาชีวิตด้วยการลอบสังหาร โดยเซ็ทและซามูเอลยกตัวอย่างพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่เข้าข่ายไว้ดังนี้

‘ซัดดัม ฮุสเซน’ ผู้นำที่ได้รับการคุ้มกันหนาแน่นที่สุดในโลก

สำนักข่าวลอสแอนเจลิสไทม์ส (Los Angeles Times) บอกเล่าเรื่องราวของอดีตประธานาธิบดีแห่งอิรัก เจ้าของฉายา ‘ผู้นำเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์’ จากคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 คน ที่หมู่บ้านในเมืองดูเญล และใช้อาวุธเคมีในการสังหารประชาชนชาวอิรักหลายพันคน ซัดดัมใช้ความกลัวปกครองประเทศ เพราะจริงๆ แล้ว ความกลัวก็กำลังปกครองเขาอยู่เช่นกัน 

ตลอดช่วงการดำรงตำแหน่งก่อนถูกประหารในปี 2006 ซัดดัมได้รับการป้องกันที่แน่นหนาตลอดเวลา เขาใช้หลุมหลบภัยใต้พระราชวังอันหรูหราเป็นที่อยู่อาศัยจริง และเปลี่ยนที่นอนหลายที่ใน 1 คืน แขกผู้มาเยี่ยมทั้งหมดจะต้องถูกตรวจค้นอย่างละเอียด และทำความสะอาดมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อจำนวน 3 ขวด ซัดดัมมีทีมนักชิมอาหารและทีมพิเศษที่คอยตรวจสอบทุกสิ่งที่เขาอาจสัมผัสได้ เช่น ผ้าปูเตียง อุปกรณ์อาบน้ำ เสื้อผ้า หรือหมึกจากปากกา 

ในแต่ละวันจะมีการจัดเตรียมอาหารของซัดดัมไว้ตามพระราชวังหลายแห่งทั่วอิรัก เพื่อไม่มีใครรู้ว่าเขาจะไปรับประทานอาหารจริงๆ ที่ไหน เขาสั่งให้สร้างห้องประชุมสำหรับใช้ถ่ายทอดสดคำแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ที่มีหน้าตาเหมือนกันหลายที่ เพื่อซ่อนตำแหน่งแท้จริงของตัวเอง ไปจนถึงการจ้างคนมาศัลยกรรมให้หน้าคล้ายตัวเอง และทำหน้าที่เป็นเหมือนสตันต์แมนเพื่อหลอกล่อให้คนเข้าใจผิด

“เขากลัวตลอดเวลา เขาชอบหลบหนี ชอบซ่อนตัว ชอบอยู่ใต้ดินในบังเกอร์ เขานอนแค่สองหรือสามชั่วโมงเท่านั้น และก็ติดอาวุธอยู่เสมอ” อาเม็ด ซามาร์ไร (Ahmed Samarrai) อดีตพันโทในกองกำลังรักษาความปลอดภัยของซัดดัมกล่าว 

รถไฟหุ้มเกราะของ ‘คิม จองอิล’

สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานการเดินทางมาเยือนเมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ของ คิม จองอิล (Kim Jong-il) อดีตผู้นำเกาหลีเหนือ ในปี 2001 โดยเขาเลือกเดินทางด้วยรถไฟหุ้มเกราะความยาว 22 ตู้ เนื่องจากความกลัวการนั่งเครื่องบิน

การเดินทางข้ามทวีปครั้งนั้นสร้างความโกลาหลให้กับทุกภาคส่วน เพราะรถไฟต้องเปลี่ยนล้อระหว่างทางเพื่อให้เข้ากับรางของรัสเซีย อีกทั้งในช่วงเวลานั้น ยังเป็นช่วงวันหยุดพักร้อนของประชาชนชาวรัสเซีย พวกเขาเลยจำเป็นต้องใช้งานทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) เพื่อสัญจรไปท่องเที่ยวด้วย แต่ก็เป็นไปได้ยากลำบาก เพราะต้องรอให้ คิม จองอิล เดินทางให้เสร็จสิ้นเสียก่อน สถานีรถไฟมอสโกในตอนนั้นต้องปิดทำการเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ทำให้บางครอบครัวต้องรอนานกว่า 10 ชั่วโมง กว่าจะได้ใช้บริการรถไฟตามปกติ 

‘ตาน ฉ่วย’ สั่งย้ายเมืองหลวงประเทศพม่า เพราะเชื่อคำทำนายโหรฯ

ปี 2005 ตาน ฉ่วย (Than Shwe) อดีตผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่า สั่งให้ประชาชนเริ่มย้ายออกจากเมืองย่างกุ้งไปยังพื้นที่ห่างไกล 320 กิโลเมตร ทางตอนเหนือ 

เริ่มแรกให้ไปที่เมืองปยินมานา ตามด้วยเมืองเนปยีดอในเวลาต่อมา โดยอ้างว่าทำไปเพื่อเอื้อให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงและดูแลพัฒนาเมืองหลวงได้จากทั่วทุกภาคส่วน แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ยินยอมที่จะย้าย เพราะในตอนนั้นเนปยีดอเป็นเพียงพื้นที่กลางป่าที่ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีไฟฟ้า อาหาร หรือร้านค้า 

อีกทั้งยังมีการลือกันหนาหูว่า การสั่งย้ายเมืองหลวงครั้งนี้มาจากคำทำนายโดยโหราจารย์ประจำตัวของตาน ฉ่วย ซึ่งบอกว่าพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งขึ้นไปทางเหนือ 320 กิโลเมตร และมีภูเขาล้อมรอบ จะช่วยส่งเสริมให้เขาฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีเก่าของพม่าสมัยราชาธิปไตยให้กลับคืนมาได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่เขาตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่นี้ว่า เนปยีดอ ที่หมายถึง ‘ที่พำนักของกษัตริย์’ 

เซ็ทและซามูเอลวิเคราะห์การกระทำเหล่านี้ของผู้นำเผด็จการแต่ละคนในตัวอย่างข้างต้นว่า เป็นพฤติกรรมแสดงให้เห็นถึงระดับขั้นของความหวาดระแวง (Paranoia) ที่หนักหน่วง พวกเขาพยายามควบคุมสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่าง ‘โชคชะตา’ ด้วยวิธีการที่สุดโต่ง เนื่องจากความกลัวสูงสุดของคนที่บ้าคลั่งการใช้อำนาจและควบคุมคือการสูญเสียมันไป ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตลอดเวลา ไม่สามารถไว้ใจใครได้แม้แต่คนใกล้ชิด

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองอธิบายเพิ่มเติมว่า รูปแบบพฤติกรรมของผู้นำเผด็จการเหล่านี้อาจมีรากฐานมาจากบุคลิกภาพส่วนตัวของแต่ละคนเองด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ‘บุคลิกภาพ’ หมายถึงรูปแบบความคิดและพฤติกรรมที่ยั่งยืนซึ่งกำหนดบุคคลและแยกแยะเขาหรือเธอจากคนอื่น 

สำหรับผู้นำเหล่านี้ พวกเขาอาจเข้าใจไปว่าอิทธิพลและอำนาจเป็นบุคลิกภาพสำคัญที่ทำให้พวกเขาแตกต่าง พิเศษ และอยู่เหนือกว่าคนอื่น เลยทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับตัวเองมากจนกลัวว่ามีคนจ้องจะทำร้ายอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ทางจิตวิทยานี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ธรรมดาของเหล่าผู้นำเผด็จการ ซึ่งหากถอดภาพของอำนาจออก ก็จะเหลือเพียงแค่จิตใจที่เปลือยเปล่า มีความรู้สึกนึกคิด และการตอบสนองต่อความกลัวเช่นเดียวกันกับผู้อื่น แตกต่างเพียงแค่พวกเขาได้รับอภิสิทธิ์มากเสียจนเข้าใจความจริงของตนเองผิดเพี้ยน และใช้อำนาจนั้นในทางที่ชั่วร้าย ที่หากมองย้อนกลับมาในฐานะคนคนหนึ่ง หากได้รับอำนาจในแบบเดียวกันกับผู้นำเหล่านี้ ก็อาจจะลงเอยไม่ต่างกันก็เป็นได้ 

ที่มา:

https://www.anxiety.org/psychology-of-dictators-power-fear-anxiety 

https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/fear 

https://ilanarosenberg.com/2013/11/06/phobias-and-fear/ 

https://www.latimes.com/archives/la-xpm-2002-oct-12-fg-saddam12-story.html 

https://www.reuters.com/article/us-korea-north-idUSTRE74J0IO20110520

http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/2204146.stm 

https://www.britannica.com/place/Nay-Pyi-Taw 

https://th.wikipedia.org/wiki/เนปยีดอ

ภาพ: Reuters

Tags: , , , , , , ,