หากพูดถึงชื่อ เอสร่มเกล้า หลายคนจะคุ้นชินในภาพลักษณ์ผู้ชายสายลุยที่มีลอยสักเต็มตัว โชกโชนไปด้วยประสบการณ์ทั้งจากข้างคุกและชีวิตภายนอก ซึ่งปัจจุบันเขาได้เริ่มต้นเส้นทางชีวิตครั้งใหม่ด้วยการเป็นยูทูบเบอร์ ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำ ที่ผลงานของเขาก็เหมือนเป็นความรู้ให้กับคนทั่วไป เพื่อไม่ให้หลงผิดและพลาดพลั้งอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขาในอดีต
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เอส ร่มเกล้า วัย 10 ปี เป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เติบโตในสังคมที่มีปัญหา เคหะชุมชนร่มเกล้าหล่อหลอมให้เขาเลือกเส้นทางชีวิตด้วยการเป็นโจรและพ่อค้ายา
ในวันนี้ที่ทุกอย่างกลายเป็นเพียงแค่กาลครั้งหนึ่งไปแล้ว The Momentum ชวน เอส ร่มเกล้า หรือ ‘ธาดา บุญพันธุ์’ พูดคุยเรื่องราวในวันนั้น มองหาสาเหตุในเชิงบริบทของสังคมว่าอะไรที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเลือกเส้นทางชีวิตที่แตกต่างจากขนบ จนต้องเติบโตท่ามกลางการลักขโมย ยาเสพติด และความรุนแรง
“เคหะชุมชนร่มเกล้าเป็นเมืองที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ คนที่อยู่ไม่มีรายได้ ในชุมชนก็ไม่มีงาน พวกผู้ใหญ่เลยต้องออกไปหางานทำข้างนอก แล้วเด็กๆ อย่างพวกผมล่ะ จะให้ทำอะไร”
ธาดา เอ่ยถึงความทรงจำแรกต่อเคหะชุมชนร่มเกล้าที่พึ่งก่อตั้งในปี 2527 ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ 1,175 ไร่ ให้คนร่วมแสนได้เข้ามาอาศัยในบริเวณชาญเมืองกรุงเทพฯ ธาดาระบุว่าผู้คนส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานรายได้ต่ำ หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเงินและเวลาให้ครอบครัวเท่าไหร่นัก การที่คนในชุมชนไปหางานทำข้างนอก เด็กๆ จึงมีโอกาสได้ทำอะไรลับตาผู้คนง่ายยิ่งขึ้น
“พูดกันตรงๆ เหมือนคุณมีคาบอิสระตลอดทั้งวัน จะจับกลุ่มทำอะไรนอกหูนอกตาก็ง่ายไปหมด อย่างตอนที่ผมเริ่มเก (เกเร) เริ่มใจแตก ก็ช่วง 14-15 ออกปล้นวันละ 100-200 เพียงแค่พอกินแต่ละวัน”
เมื่อถามต่อถึงความคิดในตอนนั้น ธาดารู้สึกว่าการลักขโมยและค้ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ เขาตอบคำถามที่ว่าแบบทันที คล้ายกับว่าถูกถามในประเด็นนี้มาหลายร้อยครั้งแล้ว
“ต้องบอกก่อนว่าการที่เราจะเป็นอะไรสักอย่าง เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นหรอก วัน เวลา และสถานการณ์มันพาเราไปถึงจุดหนึ่ง ไปยืนอยู่ตรงไหนหรือเป็นอะไรไปแล้วเรายังไม่รู้ตัวเลย มันไม่มีช่วงเวลาตัดสินใจว่าจะทำดีหรือทำชั่วหรอก มันไหลไปแบบไม่มีจุดหมายปลายทาง ลมไปทางไหนเราก็ไปทางนั้น”
“ความลำบากมันทำให้เราไม่รู้เลยว่าเราเดินไปไหน”
‘ความลำบาก’ ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะหากสืบเนื่องจากที่เกริ่นไปข้างต้นว่าผู้คนในเคหะชุมชนร่มเกล้าคือคนที่มีรายได้ต่ำ จึงเป็นเรื่องยากมากที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับการเลี้ยงดู ปลูกฝัง และจุนเจือได้เพียงพอ
“เราอยากได้ของเล่นก็ต้องไปหาเอง สิ่งแวดล้อมมันบีบบังคับเด็ก จริงๆ ความต้องการเด็กคนหนึ่งมันไม่มากหรอก แต่มันก็ไม่ได้ไง เราอยากได้จักรยานไว้ขี่แต่มีเงินแค่ซื้อดินน้ำมัน ครอบครัวก็ไม่สามารถช่วยเหลือเราได้”
ถ้าคิดจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ธาดาเสนอว่าจำเป็นต้องปลูกฝังใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ข้างบนอย่างส่วนของฝ่ายบริหาร ไล่ลงมายังข้างล่างอย่างเช่นเด็กๆ ในชุมชน ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างลู่ทางที่ถูกที่ควร และจูงใจให้พวกเขาเดินไปในเส้นทางนั้นได้
จะเพียงพอไหมถ้าแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มงานในชุมชน?
ธาดามองว่าเรื่องยังคงไม่จบลงง่ายๆ จากประสบการณ์ในอดีตของเขาก็มีเพื่อร่วมก๊วนเป็นลูกคนรวยอยู่มาก คนกลุ่มนี้ไม่ได้มองว่าเงินคือสิ่งสำคัญ แต่ความสนุก และความคึกคะนองตามประสาวัยรุ่นต่างหากที่สำคัญ ดังนั้นการปลูกฝังบางสิ่งกับเยาวชนจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้วัยรักสนุกแบบนี้ สามารถหากิจกรรมที่สนุกทำได้โดยไม่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขา
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างการพูดคุยกับธาดาคือเรื่องของ ‘การศึกษา’ เพราะตัวเขาเองก็หลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น สอดคล้องกับนักโทษคนอื่นๆ ที่ชีวิตหันเหในช่วงวัยเดียวกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อยว่า วัยมัธยมต้นมันสำคัญและส่งผลต่อชีวิตเด็กคนหนึ่งได้มากขนาดไหน?
“คนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้นะ แต่ผมมาเริ่มคิดได้ตอนมัธยมต้น เริ่มรู้สึกว่าการศึกษาไทยมันหลอกหลอนและทำลายผม คือตอนเป็นเด็กก็ถูกปลูกฝังว่าเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท จะมีงานดีๆ เงินดีๆ แต่ในความจริงผมเห็นคนในชุมชนหลายคนเรียนกันจนหัวโตก็ยังไม่มีงานรองรับพวกเขา”
“ตอนนั้นผมคิดว่าชีวิตนี้เราเรียนมากี่ปีแล้ว อีกกี่สิบปีถึงจะเรียนจบ ต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ ถ้าคุณเรียนเพื่อเอาความรู้ติดตัวไปมันก็ได้ แต่ถ้าเรียนเพื่อเอาวุฒิไปทำงาน มันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหม ยังไม่รวมถึงเรื่องงานที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นงานดีๆ เงินดีๆ อย่างที่บอกจริงไหม ทุกวันนี้ถ้าคุณเป็นลูกจ้าง เงินเดือนหมื่นปลายๆ มีเงินเก็บเดือนละพันสองพัน กี่สิบปีถึงจะมีเงินพอใช้ จะเห็นว่ามันไม่มีอนาคตให้ผมเห็นเลย แม่งลำบาก”
“มันจะมีโอกาสตรงไหนให้เด็กชุมชนคนนี้บ้าง มันไม่ตอบโจทย์ผมเลย เหมือนหลอกตัวเองว่าเรียนแล้วจะดี ทำงานแล้วจะรวย หลอกไปวันๆ ว่าอนาคตข้างหน้ามันจะดีขึ้น ทั้งที่ความจริงมันไม่มีหรอก”
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งสุดท้ายที่ธาดาอยากฝากถึง ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนต่อไป’ คือการขอให้ฟังเสียงคนตัวเล็กมากยิ่งขึ้น รับฟังถึงปัญหา และหาวิธีแก้ไขที่สอดคล้องกับทุกคน ไม่ใช่แค่แก้ผ้าเอาหน้ารอด ทิ้งปัญหาเอาไว้ใต้พรม ทั้งหมดก็เพื่อที่จะไม่มีใครต้องเติบโตในสังคมแบบเดิมหรือหลงผิดไปไกลอย่างที่ผ่านมา
Tags: เอสร่มเกล้า, ชุมชนเคหะร่มเกล้า, ลักขโมย, ยาเสพติด, Bangkok Upside Down, BANGKOK2022, BKKUPSIDEDOWN, ปัญหาชุมชน