“ไทยควรมีระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินเหมือนต่างประเทศได้แล้ว”
“ศิลปินคนโปรดหรือไรเตอร์ในรีดอะไรต์เป็นคนแจ้งเหตุร้ายก่อนรัฐด้วยซ้ำ”
“ข้อความที่ได้รับทุกวันนี้ คงจะมีแต่มิจฉาชีพละมั้ง”
ความคิดเห็นของสาธารณชนถึง ‘ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน’ (Emergency Alert System: EAS) ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในโลกออนไลน์ หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ เมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ได้รับการการันตีว่า มีระบบรักษาความปลอดภัยดีเยี่ยม
ท่ามกลางเหตุร้ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชาชน แน่นอนว่าย่อมมาพร้อมกับความคาดหวังมหาศาลต่อรัฐบาล เช่น ข้อความแจ้งเตือนภัยที่เป็นประโยชน์ และสามารถทำได้รวดเร็วที่สุด ทว่าในความเป็นจริง บุคคลที่ทำหน้าที่เหล่านั้นกลับเป็นศิลปินคนโปรด ไรเตอร์ในรีดอะไรต์ (ReadaWrite) แอปพลิเคชันอ่านนิยายชื่อดัง หรือเพื่อนในโลกโซเชียลฯ เสียงั้น
มิหนำซ้ำยังมีกรณีร้ายแรงที่สุด เมื่อผู้คนส่วนหนึ่งไม่มีโอกาสรับทราบข่าวสารนี้ จนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลายลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่เสพสื่อโซเชียลฯ หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟน
นอกจากการตั้งคำถาม (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ว่าด้วยสาเหตุที่ประเทศไทยไม่มีระบบแจ้งเตือนดังกล่าว หลายฝ่ายยังยกตัวอย่างกรณีศึกษาหลากหลายในต่างประเทศ ทั้งระบบ J-Alert จากประเทศญี่ปุ่น หรือระบบ Wireless Emergency Alerts (WEA) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
และอีกหนึ่งประเทศที่ละเลยไม่ได้ในการศึกษาความก้าวหน้าของระบบเตือนภัยฉุกเฉิน คือเกาหลีใต้ ดินแดนแห่งการแจ้งเตือนทั้งในซีรีส์และชีวิตจริง สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) เคยระบุในปี 2020 ว่า เทคโนโลยีการแจ้งเตือนในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในยุโรป ยัง ‘ไม่ดีเทียบเท่า’ ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินในเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นจากการจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และการเตือนภัยพิบัติอีกหลายครา
เพื่อไขข้อสงสัยและชี้ให้เห็นอีกด้าน บทความนี้จะพาทุกคนสำรวจระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินของเกาหลีที่ไม่ได้มีดีแค่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหนือกลุ่มประเทศยุโรป แต่ยังคงเดินหน้า ‘พัฒนา’ และ ‘อุดช่องโหว่’ อย่างต่อเนื่อง จากความผิดพลาดต่างๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งชาติและคุณภาพชีวิตประชาชน
ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินของเกาหลีใต้ทำงานอย่างไร?
ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (재난문자방송) คือการส่งข้อความฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อเตือนภัย หรือแจ้งอพยพในกรณีมีเหตุร้ายแรงด่วน โดยหน่วยงานทางการที่มีอำนาจในการส่งข้อความ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทยภายใต้ชื่อสาธารณรัฐเกาหลี รัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอำนาจในการส่งข้อความ ซึ่งสามารถแบ่งระดับข้อความฉุกเฉินได้ 6 รูปแบบดังต่อไปนี้
1.ความมั่นคงของชาติ ได้แก่ สงคราม การฝึกซ้อมรบ หรือการจารกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงระดับประเทศ เช่น การไฮแจ็กเครื่องบิน
2.ภัยพิบัติทั้งระดับรุนแรงที่สุดและต่ำสุด เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ พายุไต้ฝุ่น คลื่นความร้อน ฝนตกหรือหิมะตกหนัก จนถึงการหลุดของสัตว์ดุร้าย และการเตือนภัยให้ระวังซากดาวเทียมที่ล่วงหล่น ฯลฯ
3.อุบัติเหตุใหญ่ เช่น ไฟไหม้ หรือภัยจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม
4.เหตุเร่งด่วน เช่น การแจ้งเตือนผู้สูญหายในกลุ่มผู้เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้มีอาการป่วยทางจิตหรือสมอง ผู้ไร้ความสามารถ และการแจ้งเตือนอาชญากรรมดักฟัง บางครั้งรวมถึงการขอบริจาคเลือดในกรณีฉุกเฉิน หรือการแจ้งเตือนปิดโรงเรียนใกล้บ้านด้วยสาเหตุบางอย่าง
5.ผลกระทบด้านสาธารณูปโภคและสังคม เช่น การซ่อมน้ำประปา ไฟดับ เหตุประท้วงนัดหยุดงาน ฯลฯ
6.เหตุอื่นๆ เช่น การสิ้นสุดของงานเทศกาลสำคัญในประเทศ
ทั้งนี้ วิธีการทำงานของระบบแจ้งเตือนเพื่อส่งข้อความเข้าถึงประชาชนในเกาหลีใต้ แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
1. การใช้ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบส่งข้อมูลผ่านเสาสัญญาณไปยังโทรศัพท์ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้จะใช้เสาสัญญาณเซลลูลาร์และเสาวิทยุ เพื่อส่งข้อความหาประชาชนภายในไม่กี่วินาที
วิธีการนี้เป็นที่นิยม เพราะรัฐบาลสามารถเข้าถึงประชาชนมากกว่า 80% โดยที่ไม่ต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ ข้อจำกัดเรื่องเครือข่ายหรือซิมการ์ด อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวก็มี ‘ช่องโหว่บางส่วน’ เพราะโทรศัพท์รุ่นเก่าไม่สามารถรองรับสัญญาณที่จะส่งข้อความสัญญาณเตือนภัย
2. การส่งข้อความโดยระบุพิกัด (SMS Location-Based Service) เป็นการทำงานเฉพาะเจาะจงและแม่นยำกว่าวิธีการแรก เพราะรัฐบาลจะเลือกพิกัดเฉพาะบนแผนที่ และส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เป้าหมาย โดยสามารถสอบถามข้อมูลหรือติดต่อกับผู้คนในบริเวณดังกล่าวได้โดยตรง
ซีเอ็นเอ็นเผยว่า วิธีการข้างต้นประสบความสำเร็จในออสเตรเลีย ผู้คนประมาณ 97% ได้รับข้อความดังกล่าว อีกทั้งรัฐยังสามารถตรวจสอบผ่านระบบคลื่นความร้อนได้ว่า ประชาชนปฏิบัติตามการแจ้งเตือนหรือไม่
ระบบแจ้งเตือนภัยเกาหลีใต้กับ ‘ความสำเร็จในการพิชิตโควิด-19’ ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัว
หากจะพูดถึงความสำเร็จของระบบแจ้งเตือนภัยของเกาหลีใต้ ที่ประจักษ์สายตาชาวโลก คงหนีไม่พ้นช่วงโรคระบาดโควิด-19
ข้อความฉุกเฉินกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการติดตามและเฝ้าระวังโรคระบาด เมื่อประชาชนจะได้รับข้อความว่า พวกเขาอยู่ใกล้ผู้ป่วยโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน รวมถึงข้อควรปฏิบัติในการป้องกันโรค
“ตอนนี้ฉันทราบแล้วว่า พื้นที่ไหนควรระวัง และฉันรู้สึกว่ารัฐบาลทำหน้าที่ได้ดีในการแจ้งเตือน (…) ฉันคิดว่าได้รับข้อความเช่นนี้จากรัฐอย่างน้อย 6-10 ครั้งต่อวัน” โจ (Cho) นักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera)
รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ประชาชนจะได้รับข้อความที่แตกต่างจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ละแวกพื้นที่อยู่อาศัยอาจแจ้งรายละเอียดการเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19 ล่าสุด ขณะที่ข้อความจากหน่วยสาธารณภัยกลาง (Central Disaster Relief Headquarters) ออกคำแนะนำในการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ และการดูแลคนชราในบ้าน
เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้มีตัวเลขผู้ป่วยลดลง หากเทียบเคียงกับหลายประเทศในช่วงปี 2020 ทว่าความสำเร็จดังกล่าวมีข้อกังขาว่าด้วยเรื่อง ‘การส่งข้อความเกินความจำเป็น’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของผู้ป่วย เพราะรัฐบาลเผยข้อมูลที่เสี่ยงต่อการเปิดเผยตัวตน
ยังไม่รวมการเฝ้าติดตามประชาชน จนชวนให้นึกถึง ‘พี่เบิ้ม’ (Big Brother) ใน 1984 นวนิยายสุดคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เมื่อตัวละครเอกถูกสอดส่องความเป็นไปในการใช้ชีวิตจากรัฐอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมอันน่าพึงประสงค์ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประชาชนไม่มีสิทธิปิดรับการแจ้งเตือนครั้งนี้จากรัฐบาล
อย่างไรก็ดี คัง คยองฮวา (Kang Kyung-wha) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ขณะนั้น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ว่า มาตรการดังกล่าวเผยให้เห็นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรัฐบาลทำหน้าที่แจ้งให้สาธารณชนรับทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ
ในความก้าวหน้ากลับแฝงด้วยข้อผิดพลาด: เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยของเกาหลีใต้ที่ต้องพัฒนาต่อไป
กว่าจะได้รับการยกย่องในฐานะระบบแจ้งเตือนที่ ‘ล้ำสมัย’ กว่าประเทศในยุโรป เกาหลีใต้ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวกับการทดลองใช้ระบบ และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ
แม้จะมีการริเริ่มระบบแจ้งเตือนในปี 2005 แต่ก็ยังไม่มีความก้าวหน้า เพราะมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีและกฎหมายเป็นอุปสรรค จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2016 เกาหลีใต้ประกาศเปิดใช้ระบบการแจ้งเตือนภัยสำหรับแผ่นดินไหว หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คยองจู (Gyeongju) เมื่อเดือนกันยายน 2016
หนังสือพิมพ์โชซ็อน (Chosun Ilbo: 조선일보) ระบุสาเหตุการเกิดขึ้นของระบบนี้ว่า กระทรวงความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคง (Ministry of Public Safety and Security) มอบหน้าที่ให้กรมอุตุนิยมวิทยาส่งข้อความแจ้งเตือน เพราะต้องการประหยัดเวลาในการแจ้งเหตุ
อย่างไรก็ตาม ระบบนี้กลับมีข้อจำกัดมากมาย เพราะมีการแจ้งเตือนเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับ 4.0 ตามมาตราริกเตอร์ขึ้นไป และให้บริการเฉพาะในภาษาเกาหลีเท่านั้น อีกทั้งประชาชนยังต้องมีสมาร์ตโฟนเพื่อรองรับระบบดังกล่าว
ต่อมาในปี 2017 กระทรวงความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงจึงมอบอำนาจให้กรมอุตุนิยมวิทยาและรัฐบาลท้องถิ่น ในการส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและลดขั้นตอนความล่าช้าจากรัฐบาลกลาง
แม้จะมีข้อติดขัดบางอย่าง นั่นคือเส้นแบ่งระหว่าง ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ กับ ‘การส่งข้อความแจ้งเหตุมากโดยไม่จำเป็น’ โดยเฉพาะการแจ้งเตือนยามค่ำคืนและช่วงเช้ามืดที่รบกวนกับการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งสร้างความเบื่อหน่าย ความเหนื่อยล้า และความไม่พอใจให้กับสาธารณชนบางส่วน
ถึงกระนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ก็พร้อมปรับปรุงระบบดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ ‘อ่อนไหว’ ของประเทศในวันที่ 31 พฤษภาคม 2023 เมื่อทั่วทั้งกรุงโซลเต็มไปด้วยเสียงไซเรนและเสียงแจ้งเตือนภัยทางโทรศัพท์ ในเวลา 06.41 น. ปรากฏ ‘ข้อความจากประธานาธิบดี’ (Presidential Alert) ให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพ แต่กลับไม่มีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม หลังเกาหลีเหนือปล่อยสิ่งที่คาดว่าเป็น ‘ดาวเทียม’
เพราะเรื่องความมั่นคงของชาติและจิตใจของประชาชนไม่ใช่เรื่องล้อเล่นสำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้ กระทรวงมหาดไทยจึงออกแถลงการณ์ขอโทษและยุติการแจ้งเตือนในเวลา 07.03 น. พร้อมให้เหตุผลว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความผิดพลาด
ต่อมา โอ เซฮุน (Oh Se-hoon) นายกเทศมนตรีกรุงโซล ออกมากล่าวขอโทษต่อข้อผิดพลาดดังกล่าว โดยมีใจความว่า จะปรับปรุงระบบนี้ให้ดีขึ้นในวันข้างหน้า ขณะที่กระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลกรุงโซลระบุว่า จะใส่รายละเอียดในระบบเตือนภัยให้ชัดเจนว่า ใครทำอะไร เกิดอะไรขึ้นที่ไหน เมื่อไร และประชาชนควรดำเนินการป้องกันตนเองอย่างไร
แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ปรากฏรายละเอียด ‘การระบุข้อความภาษาอังกฤษ’ สำหรับชาวต่างชาติในระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินเพิ่มเติม
สถานการณ์ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นบทเรียนสำคัญให้กับประเทศไทย ในการริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีระบบเตือนภัยฉุกเฉิน แม้หนทางอาจเต็มไปด้วยอุปสรรคและขั้นตอนหลายอย่าง แต่ก็นับว่าคุ้มค่าและไม่ยากเสียจนเกินไป หากคำนึงถึงสวัสดิภาพของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ที่ไม่ได้ยุติแค่เรื่อง ‘อาวุธยุทโธปกรณ์’ หรือ ‘พรมแดน’ แต่เพียงเท่านี้
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/2020/03/27/tech/text-alert-coronavirus/index.html
https://m.blog.naver.com/mage7th/222032769150
https://www.korseries.com/emergency-alert-alive/
https://www.bbc.com/news/blogs-news-from-elsewhere-37574498
https://www.safekorea.go.kr/idsiSFK/neo/main/main.html
http://english.chosun.com/site/data/html_dir/2016/10/05/2016100501114.html
https://www.safekorea.go.kr/idsiSFK/neo/main/main.html
https://www.aljazeera.com/news/2020/4/9/s-koreas-smartphone-apps-tracking-coronavirus-wont-stop-buzz
Tags: เกาหลีใต้, คุณภาพชีวิตประชาชน, ไทย, Cell Broadcast Service, กราดยิง, เกาหลี, โซล, ความมั่นคง, โควิด-19, Emergency Alert System, EMS, เกาหลีเหนือ, ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน, สงคราม, ความมั่นคงแห่งชาติ