บทนำ: เรื่องเล่าของป๊า

ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีโอกาสได้ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้างผลาญโลกทั้งใบของเราอยู่เนืองๆ และยิ่งกับประเทศที่ยังเข้าถึงวัคซีนไม่ได้เท่าที่ควรในช่วงที่บทความนี้ถูกบันทึกขึ้นนั้น แค่การออกจากบ้านไปทำธุระก็เป็นอะไรที่ดูจะไกลจากคำว่า ‘ปกติ’ มากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ดี ตัวผมเองก็ได้นั่งขลุกตัวอยู่ในรถ พร้อมด้วยอุปกรณ์ดำน้ำและกระเป๋าเดินทางที่อัดแน่นเต็มเบาะหลัง (พร้อมกับสมาชิกครอบครัวอีกสามคน) นี่นับเป็นการตัดสินใจที่ถึกทรหดพอดู ในการที่ป๊าเลือกจะขับรถลงใต้มุ่งตรงสู่กระบี่โดยที่ไม่พึ่ง ‘อากาศยาน’ เพราะถึงแม้รัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ 

หากท่านผู้อ่านจำความกันได้ ช่วงเวลาสั้นๆ ในเดือนธันวาคม 2563 ช่วงที่ไทยยังไม่เจอกับโควิดสายพันธ์ุอังกฤษที่ทำลายล้างทุกอย่างในปีที่กำลังจะมาถึง จะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผู้คนเริ่มออกไปเที่ยวกันอีกครั้งก่อนที่การระบาดระลอกที่สามจะเกิดขึ้นก็คงไม่ผิดนัก

ใบหน้าของป๊าเคร่งเครียดไปกับการจ้องมองถนนที่ทอดยาวไปข้างหน้าไม่มีที่สิ้นสุด การเดินทางด้วยรถยนต์ในระยะทางไป-กลับรวมถึง 1565.2 กิโลเมตร ด้วยเวลากว่า 22 ชั่วโมงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายของชายวัยใกล้ 60 ที่มีชีวิตคนทั้งคันรถเป็นเดิมพัน (บนทางหลวงของประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก) เราจึงจำเป็นต้องหาที่พักระหว่างทางในช่วงที่แสงอาทิตย์กำลังจะหมดลงและการขับรถในเวลากลางคืนนั้นแลดูจะอันตรายเกินไป

แน่นอนครับว่าสถานที่นั้นคือโรงไฟฟ้าขนอม, จุดหมายที่ครั้งหนึ่งป๊าเคยทำงาน และในครั้งนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้สำรวจสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวส่วนหนึ่งในชีวิตของป๊าเอาไว้เสียที หลังจากเวลาหลายปีที่เคยได้ยินเพียงเรื่องเล่าและมองเห็นเพียงแค่ภาพของสถานที่แห่งนี้

รถยนต์ของเราค่อยๆ แล่นฝ่าความมืดท่ามกลางเทือกเขาริมทะเลและแนวต้นไม้ที่จัดวางตัดกับรั้วลวดหนามของโรงไฟฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงไฟสปอตไลต์สว่างโร่ ปล่องระบายความร้อนที่ตระหง่านอยู่เบื้องหน้าพร้อมไฟกระพริบสีแดงฉานช่วยยืนยันถึงการมีตัวตนอยู่ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี 

หลังจากที่เลี้ยวรถอีกไม่กี่อึดใจ ในที่สุดเราก็ค่อยๆ ถอยเข้าจอดที่หน้าบ้านพักรับรอง และทยอยขนของเข้าห้องพัก ท้องฟ้าในตอนนี้มืดสนิท และไร้ซึ่งแสงดาวโดยสิ้นเชิง ช่วงเวลาหัวค่ำดูจะมืดมิดมากกว่าปกติ และเมฆฝนที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงเย็นก็ได้ทยอยระบายน้ำฝนลงมาอย่างรำไร แสงสว่างเพียงอย่างเดียวที่มีคือแสงโคมจากโรงไฟฟ้า และท่าเรือของชาวบ้านที่อยู่ฟากตรงข้ามของฝั่งคลองเพียงเท่านั้น

ผมตัดสินใจออกไปเดินสำรวจริมหาด น่าเสียดายที่ในคืนนั้นฝนตกหนัก ทำให้การเก็บภาพและสำรวจเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่วนคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งอย่างไม่ปรานีก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย บรรยากาศคืนนั้นช่างเซอร์เรียลชนิดที่ว่าเอาไปถ่ายหนังก็ยังได้ ผมนึกเสียดายอยู่เลย ที่ไม่มีกล้องดีๆ สำหรับถ่ายภาพกลางคืนติดตัวไปด้วยในตอนนั้น

บรรยากาศยามค่ำคืนที่พายุฝนกระหน่ำของโรงไฟฟ้าขนอม

โชคดีที่ในช่วงเช้าเราพอมีเวลาที่จะเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม (Khanom Learning Center) พร้อมกับทีมงานที่เป็นกันเองสุดๆ บรรยากาศยามเช้านั้นแตกต่างไปจากเมื่อคืนพอสมควรเลยทีเดียว

ตัวศูนย์เรียนรู้แท้จริงแล้วก็คือโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1 ที่ถูกฟื้นคืนชีวิตกลับมาในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ตั้งตระหง่านอยู่ข้างโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยใหม่ที่ยังคงเดินหน้าผลิตไฟฟ้าอย่างแข็งขัน ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเก็บรักษาเศษเสี้ยวของห้วงเวลาและประวัติศาสตร์ของโรงไฟฟ้าที่เสมือนหัวใจด้านพลังงานของภาคใต้โรงนี้ไว้เท่านั้น แต่คือสถานที่ที่ทำให้ผมได้สัมผัสถึงเรื่องเล่าของป๊าได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในสมัยที่ป๊าทำงานให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายแรกของไทยนาม ‘EGCO’

ระบบไฟนำร่องที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางฉากหลังของทะเลอันมืดมิด

กาลครั้งหนึ่ง ไทยในยุคไร้ไฟฟ้า

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีไฟฟ้าใช้ โดยการผลิตและจ่ายไฟครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กว่า 130 ปีมาแล้ว (พ.ศ. 2427) โดยมีการสั่งซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากอังกฤษเข้ามาใช้งาน ในตอนนั้นพลังงานไฟฟ้าเป็นของหายาก และแทบจะจับต้องไม่ได้เลยจากมุมมองของประชาชนคนทั่วไป แต่เมื่อผู้คนเริ่มค่อยๆ เข้าถึง และเห็นประโยชน์ของพลังงานที่ใช้เพื่อผลิตแสงสว่างและเดินเครื่องกลทั้งหลายได้ดั่งเวทมนตร์นี้แล้ว ความต้องการจึงเกิดขึ้นตามมาและถูกหนุนต่อด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

14 ปีหลังจากนั้น โรงไฟฟ้าวัดเลียบก็ถือกำเนิดขึ้นในฐานะโรงไฟฟ้าโรงแรกของกิจการบริษัท โรงไฟฟ้า สยาม จำกัด (องค์กรบรรพบุรุษรุ่นเดอะของ กฟฝ.) ตัวโรงไฟฟ้านี้เป็นโรงไฟฟ้าชนิดพลังงานไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงตั้งแต่แกลบยันถ่านหิน โดยให้บริการจ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก นี่จึงนับว่าเป็นการเริ่มสร้างโครงสร้างทางสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยหลังจากนั้นก็มีโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเป็นระยะ กระจายจากภาคกลางไปตามหัวเมืองใหญ่ระดับภูมิภาค แต่โดยรวมแล้ว ทั้งแผ่นดินไทยก็ยังคงเข้าถึงไฟฟ้าได้ไม่เต็มร้อย

ทุกอย่างเปลี่ยนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไทยในฐานะฝ่ายไตรภาคีอักษะ ก็จำต้องรับลูกระเบิดจากเครื่องบินของสัมพันธมิตรไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้การโจมตีกรุงเทพจะถูกวางแผนมาอย่างดีให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดต่อประชาชน (ต่างจากแผ่นดินญี่ปุ่นที่ถูกถล่มแบบไม่ยั้ง) แต่เป้าหมายสำคัญทางทหารอย่างโรงไฟฟ้า, ระบบคมนาคม, และฐานทหารญี่ปุ่น ย่อมเป็นอะไรที่มิอาจปล่อยผ่านไปได้ ซึ่งก็เป็นผลให้โรงไฟฟ้าหลักใน กทม. อย่างโรงไฟฟ้าสามเสนนั้นถูกทิ้งบอมบ์จนไม่เหลือซาก ในปี 2488 (โรงไฟฟ้าวัดเลียบก็ยังอยู่นะครับ โดยถูกซ่อมให้กลับมาใช้งานได้หลังโดนระเบิด) 

ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ และการบูรณะบ้านเมืองครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมา ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้านั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลจึงก่อตั้งองค์กรด้านไฟฟ้าขึ้นมาหลายหน่วยงานเพื่อช่วยค้นหาทรัพยากร จัดตั้งและดำเนินการโรงผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงดูแลและซ่อมบำรุงระบบกริดพลังงานและเดินระบบไฟฟ้าให้เข้าไปได้แม้กระทั่งในพื้นที่ห่างไกลที่สุดของประเทศ หน่วยงานอย่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในยุคนี้เช่นกัน

เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบันแล้ว ความต้องการใช้พลังงานของคนไทยก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานด้านการผลิตได้มีการควบรวมกันจนกลายเป็น กฟผ. ในที่สุด แต่ถึงแม้จะมีการจัดสรรและบริหารพื้นที่ขนาดไหน ก็ดูเหมือนกับว่าปริมาณโรงไฟฟ้าจะยังไม่พอ โดยเฉพาะกับส่วนภาคต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาคกลาง ซึ่งยังเจอกับปัญหาไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือการจ่ายไฟที่ไม่สม่ำเสมออยู่ดี นี่ยังไม่นับรวมปัญหาของแหล่งทรัพยากรอย่างถ่านหินที่ค่อยๆ ถูกกำจัดออกจากระบบ ทำให้ต้องหาโรงไฟฟ้าใหม่มาแทนที่ (ซึ่งก็ต้องพร้อมใช้งานเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพและก่อมลพิษน้อยกว่าด้วย)

ด้วยหลายปัจจัยรวมกัน รัฐบาลจึงตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ Electricity Generating Public Company Limited (EGCO) ขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 ตามนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเป็นบริษัทที่แตกแขนงออกมาจาก กฟผ. แต่ดำเนินการในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของไทย มีหน้าที่ดูแลตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขายกระแสไฟฟ้า ชนิดเกือบจะครบวงจรเลยทีเดียว

ชื่อ EGCO อาจจะไม่ใช่คำคุ้นหูของผู้คนส่วนใหญ่ แต่ในวงการนักเล่นหุ้นและส่วนราชการคงต้องได้ยินชื่อนี้กันมาบ้าง จากข่าวที่เกี่ยวการดำเนินงานของบริษัทกับภาพลักษณ์ของธุรกิจพลังงานสีเขียวที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม รวมไปถึงในแวดวงการไฟฟ้าที่ต้องผ่านหูผ่านตาโรงไฟฟ้าภายใต้การดูแลของ EGCO อย่างโรงไฟฟ้าบ้านโป่ง, คลองหลวง, กลุ่มโรงไฟฟ้ากรีน, โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ ‘โรงไฟฟ้าขนอม’ ที่เปรียบเสมือนตัวเอกของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

ยุคก่อตั้งโรงไฟฟ้าขนอม

แรกเริ่มเดิมที โรงไฟฟ้าขนอมถูกริเริ่มขึ้นมาโดย กฟผ. เป็นเวลาหลายปี ก่อนจะถูกโอนมาให้ EGCO ในปี 2538 ซึ่งเป้าหมายหลักเดิมนัคือการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อจ่ายไฟให้กับพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ หลังจากสำรวจพื้นที่อยู่ช่วงหนึ่ง เป้าหมายของ กฟผ. ก็แคบลงเรื่อยๆ จนหมุดถูกปักลงที่บริเวณตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ในพื้นที่ขนาด 400 กว่าไร่ ติดชายฝั่งอ่าวไทย

ด้วยความที่พื้นที่นั้นยังใหม่มาก การจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาเลยย่อมหมายความถึงเวลามหาศาลที่ต้องเสียไป ในขณะที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้ายังเท่ากับศูนย์ การตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าจึงแบ่งเป็นหน่วยๆ ไป โดยหน่วยแรก หรือที่รู้จักกันในชื่อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม ชุดที่ 1 (Khanom Thermal Power Plant Unit 1) จะถูกจัดซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น

นี่ไม่ใช่การจัดซื้อแบบแปลนมาสร้างหรือว่าจ้างบริษัทญี่ปุ่นให้มาดำเนินการในไทย แต่คือการสร้างโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นแล้วเอามาวางที่ไทย ‘ทั้งโรง’ 

ใช่แล้วครับ ขนอม 1 เป็นโรงไฟฟ้าลอยน้ำที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้ลอยน้ำได้โดยเฉพาะ ไม่ต่างจากเรือขนส่งสินค้าที่ถูกยกเครื่องเป็นโรงไฟฟ้ายังไงยังงั้น (เอาเข้าจริงคงต้องเรียกว่าแพมากกว่า)

ในยุคนั้น ความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมนั้นพัฒนาไปไกลพอตัวแล้ว รวมถึงประเทศญี่ปุ่นเองก็ขึ้นชื่อเรื่องอุตสาหกรรมการต่อเรือและโครงสร้างหนักด้านสาธารณูปโภค นี่จึงเป็นเสมือนสุดยอดดีล เพราะนอกจากจะได้โรงไฟฟ้าคุณภาพดีแล้ว ยังไม่ต้องเสียเวลาที่มีค่าไปในระหว่างรอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบนดินขนาดใหญ่ ร่วมกับการพัฒนาแบบหน่วยที่เอื้อต่อการขยายกำลังการผลิตในอนาคต 

ขนอม 1 จึงถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการด้วยประการนี้

โรงไฟฟ้าขนอมหน่วยปัจจุบัน

โรงไฟฟ้า ‘เรือลอยน้ำ’ หมุดหมายด้านพลังงานของภาคใต้

หลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2522 งานก่อสร้างตัวโรงไฟฟ้าก็เริ่มดำเนินการในทันทีที่อู่ต่อเรือในประเทศญี่ปุ่น ส่วนการดำเนินงานที่ไทยเน้นไปที่การเคลียร์พื้นที่และขุดบ่อที่เชื่อมกับคลองขุนนมซึ่งต่อตรงกับทะเล เพื่อให้ตัวโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำสามารถแล่นเข้ามาจอดและทำการติดตั้งในลักษณะถาวรได้

ส่วนงานก่อสร้างตัวเรือและโรงไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2523 โดยส่วนของโรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจะตั้งอยู่ด้านบนของตัวเรือ หรือ ‘แพ’ ในลักษณะของ Barge Mounted Power Plant (BMPP) หรือ Power Plant Barge (PPB) นี่หมายความว่าส่วนแพทำหน้าที่เป็นลำเรือที่ใช้งานได้จริง (Integral Hull) ช่วยให้โรงไฟฟ้านั้นลอยในน้ำได้อย่างปลอดภัย แต่ภายในไม่มีเครื่องยนต์สำหรับเดินเรือนะครับ เป็นผลให้การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากญี่ปุ่นมาไทยรวมระยะทางแล้วกว่า 3,000 ไมล์ทะเล จะต้องถูกจัดการโดยเรือลากจูงในช่วงที่ทะเลมีคลื่นลมสงบเท่านั้น

การลากจูงโรงไฟฟ้าใช้เวลาเดินทาง 18 วัน และมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2523 ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวบ้านในชุมชนขนอมและพื้นที่รอบข้าง พวกเขาเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าโครงการเมกะโปรเจกต์เช่นนี้ จะนำพาเอาความเจริญมาสู่ขนอมได้ในที่สุด (ยังไม่นับเรื่องเสถียรภาพทางด้านพลังงานไฟฟ้า) ปรากฏการณ์ไทยมุงจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้คนยืนแออัดยัดเยียดกันตั้งแต่หน้าหาดขนอมมาจนถึงท่าเรือและบริเวณริมคลองข้างโรงไฟฟ้า บ้างโชคดีหน่อยก็สามารถสังเกตการณ์ได้จากเรือประมงส่วนตัวที่ลอยขึ้นๆ ลงๆ ตามแรงกระเพื่อมของคลื่น เมื่อโรงไฟฟ้าขนาดมโหฬารค่อยๆ ลอยเอื่อยๆ เข้ามาพร้อมเรือลากจูงที่คุ้มกันการเคลื่อนที่ของขนอม 1 อย่างแข็งขัน เด็กๆ ที่ตัวเบาหน่อยบ้างก็ปีนต้นไม้หรือรถเครนและเสาอุปกรณ์ก่อสร้างเพื่อให้เห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ถนัดชัดเจน เสียงเชียร์ของชาวบ้านดังกึกก้องไปทั่ว เมื่อตัวโรงไฟฟ้าเข้าจอดทอดสมอเป็นที่เรียบร้อย เตรียมพร้อมที่จะนำเข้าติดตั้งอย่างถาวรต่อไป

ชายหาดและอ่าวหน้าโรงไฟฟ้าขนอมที่ครั้งหนึ่งขนอม 1 เคยมาทอดสมอรอเข้าติดตั้ง

การนำขนอม 1 เข้าติดตั้งบนแท่นในหลุมจอดนั้นเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2523 โดยเมื่อแพถูกผลักเข้าสู่หลุมจอดแล้ว น้ำภายในก็จะถูกสูบออกไปจนหมด และดินหรือหินที่ขุดเตรียมไว้ก็จะถูกนำมาถมปิดพื้นที่ เป็นการซีลให้ขนอม 1 นั้นอยู่กับที่ได้อย่างมั่นคง บัดนี้โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำก็ได้กลายร่างเป็นโรงไฟฟ้า ‘บนดิน’ ไปเรียบร้อย

สมอเรือดั้งเดิมของโรงไฟฟ้าขนอม 1 และป้ายบันทึกเหตุการณ์

การทดสอบอุปกรณ์ร่วมกับเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นกระบวนการถัดไปที่ต้องทำ ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนในการปรับโรงไฟฟ้าใหม่เอี่ยมโรงนี้ให้เข้าที่ แน่นอนว่าทุกอย่างไปได้สวย และขนอม 1 ก็สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 ด้วยกำลังการผลิตเฉลี่ย 75 เมกะวัตต์

ขนอม 1 ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนให้ภาคใต้เป็นเวลากว่า 30 ปี โดยหมดอายุสัญญาไปในปี 2554 ในตอนนั้น โรงไฟฟ้าขนอมได้เจริญเติบโตขึ้นจนกลายเป็นโรงไฟฟ้าภูมิภาคขนาดใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันแล้วครับ โดยมีการเข้ามาของขนอมหน่วยใหม่อย่างขนอม 2 ที่ก็คือโคลนของขนอม 1 แต่สร้างในเกาหลีใต้ (เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2529 และหมดอายุสัญญาในปี พ.ศ. 2559 กำลังการผลิตเฉลี่ย 75 เมกะวัตต์) ตามมาด้วยขนอม 3 ที่เป็นโรงไฟฟ้าบนดินหน่วยแรกของขนอม และมีการเปลี่ยนระบบการผลิตไฟฟ้าไปเป็นพลังความร้อนร่วม (เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2534 และหมดอายุสัญญาในปี พ.ศ. 2559 กำลังการผลิตเฉลี่ย 674 เมกะวัตต์) และท้ายที่สุดคือขนอม 4 ซึ่งเป็นหน่วยใหม่ล่าสุดของโรงไฟฟ้าขนอม และหน่วยเดียวที่ยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ (เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2556 และหมดอายุสัญญาในปี พ.ศ. 2584 กำลังการผลิตเฉลี่ย 970 เมกะวัตต์) จะเห็นได้ว่าขนอม 4 มีกำลังการผลิตรวมมากกว่าขนอมสามหน่วยแรกรวมกัน เพราะเทคโนโลยีใหม่ในระบบกังหันและระบบการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงมากนั่นเอง (จะยิ่งได้ฟีลถ้าไปดูด้วยตาในศูนย์การเรียนรู้ ) ในส่วนของเชื้อเพลิง ขนอม 4 ใช้เฉพาะแก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก


รงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม (ดำเนินการโดย ปตท.) ท่ามกลางไอหมอกจากคลื่นทะเลที่ซัดเข้าฝั่งอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม คอนเซ็ปต์ของโรงไฟฟ้าลอยน้ำยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยมีทั้งแบบที่เป็นเรือเดินสมุทรไปจนถึงระบบแพขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าเหล่านี้ใช้ตอบโจทย์ตลาดการพัฒนาประเภทก้าวกระโดดในพื้นที่ที่ห่างไกลจากระบบสาธารณูปโภคหลัก ตัวอย่างเช่น โครงการโรงไฟฟ้าหลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำของรัสเซียที่บริหารโดย Rosatom โรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถถูกลากไปยังส่วนที่ไกลที่สุดของรัสเซีย เช่น ทะเลแถบอาร์กติก สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้แบบสบายๆ ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องไม่ลืมว่า ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเรือบรรทุกเครื่องบินหรือเรือดำน้ำในทางเทคนิคก็นับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม Mobile Powerplant ได้เหมือนกัน

ในความเห็นส่วนตัวของผม โรงไฟฟ้าลอยน้ำอาจจะเป็นอะไรที่มีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นไปอีกในอนาคต ที่ภาวะวิกฤติสภาพอากาศทำลายล้างโลกของเราจนยับเยินและพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นจมอยู่ใต้น้ำทะเลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (หวังว่าเราคงไม่ต้องไปถึงจุดนั้น) และไอเดียของแพโซลาร์เซลล์ลอยน้ำก็เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในอนาคต เราอาจจะนำเอาโครงสร้างนี้ไปใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานจากคลื่นทะเลก็ได้เช่นกัน

สู่พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ชั้นนำ

การปลดประจำการของขนอม 1 ไม่ใช้จุดสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมด เพราะในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตัวโรงไฟฟ้าทั้งหน่วยเป็นศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม (Khanom Learning Center) ไปเรียบร้อยแล้ว ดังที่ผมได้เกริ่นไปข้างต้น (ขนอม 2 ไม่รอดนะคับ โดนทุบไปเรียบร้อย) หมายความว่าการที่ผมได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์นี้ก็เท่ากับได้มาเดินในพื้นที่ที่ป๊าและเพื่อนร่วมงานเคยเดินมาก่อนเมื่อหลายสิบปีที่แล้วเลย

ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม (Khanom Learning Center)

ภายในศูนย์การเรียนรู้มีการจัดโซนแสดงนิทรรศการไว้ด้วยกัน 7 โซนหลักๆ โดยยังคงเก็บบรรยากาศและสภาพภายในของโรงไฟฟ้าเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ร่วมกับพื้นที่จัดกิจกรรมพิเศษบริเวณชั้นล่างสุดของโรงไฟฟ้าที่เอาไว้ใช้งานทั่วไปได้ (ในตอนที่ผมไปมีการจัดนิทรรศการร่วมกับทาง NARIT (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ) ด้วย ซึ่งก็เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ขึ้นชื่อเรื่องศูนย์การเรียนรู้เช่นกัน)

ในโซนแรกเป็นส่วนโถงต้อนรับที่นำเข้าไปสู่นิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไฟฟ้าและการผลิต และการใช้งานไฟฟ้าของมนุษยชาติ อุปกรณ์จัดแสดงในโซนนี้จะเน้นไปที่ชิ้นงานประเภท Interactive คุณภาพสูง มีทั้งโมเดลและป้ายแสดงข้อมูลอย่างดี สามารถจับเล่นและทดสอบได้ด้วย งานออกแบบนับว่าคุมธีมได้ดีทีเดียว ไม่โดดเด่นหรือแหวกแนวจนเกินไป ซึ่งช่วยคงภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้าเอาไว้ได้ เราเดินต่อผ่านประตูกั้นเล็กๆ เข้ามาสู่บริเวณซึ่งถูกจัดเป็นโรงหนังขนาดย่อมสำหรับผู้เข้าชม 20-30 คน ส่วนนี้ใช้แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการไฟฟ้าและไฟฟ้าในประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตัวห้องน่าจะใช้เป็นเหมือนห้อง Orientation ได้ด้วยเช่นกันหากจำเป็น (ทางพิพิธภัณฑ์มีระบบหูฟังพิเศษแจกเพื่อฟังการบรรยายด้วยนะ)

เมื่อเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นถัดไปก็จะเจอโซนที่สอง สำหรับแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ของขนอม 1 ในรูปแบบ Special Projection ตรงจุดนี้ก็นับว่าทำได้ดีทีเดียว เพราะมีการเอาความมืดและระบบแสงมาเล่นกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้าได้อย่างลงตัว ตัวชิ้นงานที่ใช้เป็นคลิปวิดีโอก็ทำได้ดีเช่นกัน เพราะทีมงานเลือกที่จะเก็บอัตลักษ์ทางวัฒนธรรมของความเป็นภาคใต้เอาไว้อย่างครบถ้วน การตกแต่งภายในของห้องนี้ดูว่างไปหน่อย ถ้าเทียบกับห้องฉายภาพยนตร์ของโซนก่อนหน้า ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป้าหมายของผู้ออกแบบจะเป็นการเน้นให้ผู้ชมโฟกัสไปที่ตัว Special Projection หรืออย่างไร แต่ในใจก็รู้สึกได้ว่ามันโล่งไปเหมือนกันนะ

ป้ายโลหะของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังไอน้ำที่วางเด่นอยู่ในห้อง

บริเวณถัดมานี่นับว่าเป็นจุดโปรดของผมเลย เพราะเป็นแผงควบคุมของโรงไฟฟ้าที่ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี แถมมีการแปลงห้อง Control Room นี้ให้เป็น Interactive Experience Space ไปด้วยในฐานะเซอร์ไพรส์ใหญ่ประจำโซน ใครที่มาเยี่ยมชมนี่ห้ามพลาด ผมเชื่อว่าสาย Tech geek ที่ชื่นชอบ Retro panel นี่น่าจะอยู่กับเจ้าแผงควบคุมนี้ได้นานทีเดียวเลย

ห้องควบคุมของโรงไฟฟ้าขนอม 1

โซนที่สามนั้นอยู่ติดกับโซนที่สอง โดยจำเป็นต้องลงบันไดอ้อมลงมาหน่อย ที่นี่เป็นห้องกังหันปั่นไฟ ซึ่งถูกดัดแปลงใหม่ให้เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการด้านการผลิตไฟฟ้าที่มาพร้อมระบบ Projection Mapping อย่างดี และระบบเสียงแบบ Surround ร่วมกับโมเดลและป้ายข้อมูลของส่วนจัดแสดง อุปกรณ์แทบทุกอย่างในห้องขนาดใหญ่นี้ถูกเก็บไว้ในสภาพเดิม เว้นแต่งานสีใหม่และระบบแอร์ที่ดังกระหึ่มไม่แพ้กัน (เพื่อให้ระบบฉายภาพและเครื่องมือมัลติมีเดียสามารถเอาชีวิตรอดได้ในอากาศที่ร้อนสุดๆ ของไทย) ผมมองว่าโซนนี้น่าจะเป็นแลนด์มาร์กหลักของศูนย์การเรียนรู้นี้เลย

เทคโนโลยี Projection Mapping ที่ใช้กังหันปั่นไฟเป็นฉากหลังได้อย่างลงตัว

โซนที่สี่เป็นส่วนจัดแสดงกลางแจ้งบริเวณ ‘ดาดฟ้าเรือ’ และโครงสร้างภายนอกของขนอม 1 ที่ใช้สำหรับนิทรรศการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของบริเวณโรงไฟฟ้าและธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่โดยรอบ จุดนี้สามารถมองเห็นวิวได้โดยรวมแบบพาโนรามา 270 องศา จึงกลายเป็นมุมถ่ายรูปชั้นดีไปโดยปริยาย ปัญหาคือบริเวณนี้ไม่ได้ถูกปิดด้วยหลังคาตลอด (เพราะจะทำให้เสียบรรยากาศมาก) วันไหนอากาศไม่เป็นใจก็คงต้องเตรียมร่มมาเผื่อกันครับ อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือส่วนจัดแสดงหม้อไอน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก (ถ้ามีระบบไฟดีๆ ตอนกลางคืนนี่จะดูเหมือนหลุดมาจากหนัง Sci-Fi กึ่ง Steampunk เลย)

ปล่องควันสีขาวแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้

เราต้องเดินลงบันไดกลับเข้ามาในตัวส่วนโรงไฟฟ้าสำหรับโซนที่ห้า ซึ่งนี่น่าจะเป็นส่วนหลักที่เล่าเรื่องราวในงานที่ป๊าทำได้พอสมควร ใช่แล้ว นิทรรศการส่วนนี้ทั้งหมดยกให้กับงานด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ที่ EGCO มุ่งหน้าพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่ยุคสมัยของป๊ามาจนถึงปัจจุบัน หลายๆ อย่างในนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปสมัยที่มีการจัดค่าย EGCO ไทยรักษ์ป่ายุคแรกอยู่เหมือนกัน สมัยนั้นค่ายนี้ดังมากพอตัวเลยในกลุ่มกิจกรรมประเภทอนุรักษ์ และเอาเข้าจริง บุคลากรหลายๆ คนที่ป๊าร่วมงานด้วยในค่ายก็ทำงานที่โรงไฟฟ้าขนอมด้วยเหมือนกันนี่แหละ การที่องค์กรสีเขียวแห่งนี้สามารถพัฒนามาจนมีภาพลักษณ์ระดับโลกได้ก็อาจจะด้วยการทำงานที่ขนอมของป๊า และความพยายามหลายสิบปีในการประชาสัมพันธ์ด้วย หลากหลายปัจจัยนั้นดูจะเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดูจะแหวกกฎหลายอย่างในการพัฒนาของประเทศนี้ไปพอสมควร (จะด้วยความเป็น ‘เอกชน’ ไหมนะ)

ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์รอบข้างโรงไฟฟ้าขนอม นับว่าเป็นอะไรที่หาดูได้ยากมากในพื้นที่ประเภทเดียวกันนี้

เมื่อเดินลึกเข้าไปอีกนิดเราจะเจอกับโซนที่หก ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงที่ลงทุนสร้าง Mockup ส่วนหนึ่งของบ้านเรือนผู้คนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามาใช้เป็นพาวิลเลียนที่รายรอบสองข้างทางเดินหลัก ที่สุดปลายทางจะมี Projection เล็กๆ ที่ใช้เล่าเรื่องราวของชุมชนแห่งนี้ ในฐานะคนกรุง นิทรรศการขนาดย่อมนี้ช่วยให้ผู้ชมจากต่างพื้นที่สามารถเข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้ดีทีเดียว และอาจจะเป็นตัวจุดประกายให้ไปเดินเล่นต่อในชุมชนขนอม น่าเสียดายที่ความยาวของโซนนี้ไม่อาจเทียบได้กับส่วนจัดแสดงลักษณะเดียวกันของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้ซักเท่าไร เนื่องด้วยพื้นที่อันจำกัด

โซนที่เจ็ด ซึ่งเป็นโซนสุดท้าย ตั้งอยู่บริเวณที่ติดกับส่วนโถงกิจกรรมพิเศษ ส่วนนี้เป็นพื้นที่จัดแสดงเกี่ยวกับอำเภอขนอมโดยรวม เป็นการเอาข้อมูลจากโซนที่ 6 มาต่อยอดในรูปของแผนที่ขนาดใหญ่ที่ใช้ลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวและจุดน่าสนใจในอำเภอขนอมเอาไว้นั่นเอง

โดยภาพรวมแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังนับว่ามีความใหม่และทันสมัยมาก ตัวโครงการถูกพัฒนาประมาณปี 2560 และพึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งก็ดันมาชนกับการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 พอดี ทำให้การเข้าไปเยี่ยมชมนั้นทำได้ลำบากพอตัว

ภายในพิพิธภัณฑ์นั้นเต็มไปด้วยอุปกรณ์ Retro อายุอานามมาากกว่าผม กระจัดกระจายอยู่ตามโซนต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ได้มีการจัดเตรียม Virtual Tour ขึ้นมาไว้ให้เรียบร้อย สำหรับใครที่สนใจจะลองสำรวจนิทรรศการก็สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ทางการได้ทาง https://www.egco.com/khanomlearningcenter/ 

ส่วนตัวแล้ว ที่นี่อาจจะอยู่ไกลเมืองไปหน่อยในฐานะ ‘พิพิธภัณฑ์’ ทำให้การจะมาเยี่ยมชมนั้นมักจะต้องจัดเป็นทริปกันมาเลย ซึ่งผมเชื่อว่าคุ้มนะ สำหรับโรงเรียนหรือหน่วยงานที่มีแผนจะหาที่ทัศนศึกษาใหม่ๆ ในช่วงหลังโควิด แต่ถ้าเป็นโรงเรียนใน กทม. ก็จะโหดร้ายทารุณหน่อยในการเดินทาง

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ใคร่จะผจญภัยและหามุมถ่ายรูปสวยๆ ผมต้องขอบอกเลยว่าขนอมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประเภท unseen ที่หาดูยากมาก ก็แหงล่ะครับ คนปกติที่ไหนจะเลือกไปเที่ยวโรงไฟฟ้ากัน ถ้าไปก็คงจะเห็นภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร้างๆ น่ากลัวอย่างเชอร์โนบิลหรืออะไรประมาณนั้นในหัวก่อนเลย แต่ขนอมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับ ภาพจำนี้โดยสิ้นเชิง ถ้าผมไม่ไปเห็นด้วยตาตัวเองก็คงไม่สามารถเล่าได้ เพราะสถานที่แห่งนี้นั้นตั้งอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี (เหมือนพวกพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางของญี่ปุ่น) ล้อมรอบไปด้วยทะเลหาดสวยน้ำใส และป่าเขาเขียวชอุ่ม ร่วมกับหมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ถัดไปไม่ไกล โรงไฟฟ้าขนอมจึงเป็นเสมือน Tourist Pocket ในตัวมันเอง ที่คุณสามารถใช้เวลาเป็นวันมาเที่ยวในพื้นที่และชุมชนรอบๆ ได้ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังที่หมายอื่นๆ ข้างเคียงครับ (การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวยังคงจำเป็นอยู่นะ) นี่หมายความว่าถ้าคุณผู้อ่านวางแผนดีๆ การจะเที่ยวทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันในเวลาไม่กี่วันก็เป็นอะไรที่ทำได้ครับ ได้ทั้งความรู้ อาหารทะเล และดูโลมาไปด้วย ถ้าคุณโชคดีพอ

ไม่แน่ว่าหลังโควิดจบลง ชุมชนขนอมอาจจะพัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายธรรมชาติสไตล์ชิกๆ หน่อย ก็คงไม่ไกลจากความเป็นจริงมากนัก

อนาคตของขนอม และรอยจารึกในประวัติศาสตร์การไฟฟ้าไทย

โรงไฟฟ้าขนอมในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนผ่านยุคมาแล้วมากมายในระยะเวลากว่า 40 ปี เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าให้กับภาคใต้ของไทยมาอย่างไม่หยุดยั้ง และถ้านับจากวันที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ขนอม 4 จะยังทำงานไปอีก 20 ปีเป็นอย่างน้อย นี่หมายความว่าถึงจุดหนึ่ง โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะต้องมีการสร้างใหม่หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบผลิตพลังงานที่ใหม่พอสำหรับยุคอนาคตอีกสองทศวรรษข้างหน้าแน่ๆ

ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าทำเลที่ตั้งของขนอมเป็นอะไรที่เรียกได้ว่าจุดยุทธศาสตร์สำคัญเลยทีเดียว และเหมาะกับโรงไฟฟ้าสีเขียวมากๆ อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ขนอมในอนาคตอาจจะกลายเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน ถ้ามนุษยชาติสามารถวิจัยจอกศักดิ์สิทธิ์ด้านพลังงานนี้ได้สำเร็จ หรือโรงไฟฟ้าพลังไฮโดรเจนก็เป็นได้ นี่เป็นอะไรที่คนรุ่นผมอาจจะต้องเข้ามาจัดการ (ด้วยความหวังที่ว่าประเทศไทยจะพ้นจากกับดักพัฒนาไปไหนไม่ได้เสียที) ไม่แน่ว่าขนอม 5 อาจจะกลายเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าอัจฉริยะหรืออะไรทำนองนั้นได้เหมือนกัน หรือในกรณีที่ดีที่สุด พื้นที่นี้อาจจะกลายเป็นฟาร์มพลังงานหมุนเวียนและศูนย์กลางธนาคารแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ในรูปแบบที่อีลอน มัสก์พยายามผลักดันอยู่ก็เป็นได้ เป็นการก้าวกระโดดของการใช้เทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งขนอม 1 เคยบุกเบิกเอาไว้

อนาคตของโรงไฟฟ้าขนอมและอีกหลากหลายโรงไฟฟ้าของไทย ยังคงเป็นอะไรที่พวกเราในฐานะประชาชนคนทั่วไปควรจะจับตามองเอาไว้ ในยุคที่ธรรมชาติเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว และพลังงานทางเลือกยังคงต้องงัดข้อกับพลังงานสายไดโนเสาร์อยู่เช่นนี้ วันที่ไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีการปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์จะมาถึงเร็วเพียงใด พวกเรานี่แหละ คือหนึ่งในผู้ตัดสิน

บทส่งท้าย

เรามีเวลาบอกลาทีมงานในศูนย์เรียนรู้ไม่มากนัก ก่อนที่จะต้องเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางของเรา ณ จังหวัดกระบี่ ฝนที่พรำมาตลอดคืน บัดนี้ได้ซาลงไปหมดแล้ว ทิ้งไว้เพียงเมฆแผ่นเป็นปื้นๆ ที่แต่งแต้มท้องฟ้าชายทะเลสีครามแห่งนี้เป็นระยะ หลายๆ อย่างดูจะต่างไปจากเมื่อคืนมากทีเดียว ผมมองเห็นสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดท่ามกลางโรงไฟฟ้าแห่งนี้ค่อยๆ ทยอยออกมาหากิน ทีมอาจารย์และนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พากันชี้ดูนกเหยี่ยวตัวเขื่องที่โฉบออกมาหากินพร้อมกับแสงแดดที่สาดส่องพื้นที่แห่งนี้ให้สว่างมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นทะเลที่โถมเข้าฝั่งยังคงรุนแรง เช่นเดียวกับสายลมจากทะเลที่พัดเข้าฝั่งอย่างเต็มที่ นำพาเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง

เสาเล็งเป้าสำหรับวางสายเคเบิลใต้ทะเล ลมบนนี้นี่แรงดีจริงๆ

ตลอดสองข้างทางยังคงมีนกป่าส่งเสียงเจื้อยแจ้วแข่งกับเสียงลม เรือประมงค่อยๆ แล่นออกจากท่าไปหาปลา พร้อมกับชาวบ้านที่เริ่มต้นใช้ชีวิตในวันใหม่ที่อากาศดีนี้กันอย่างขะมักเขม้น สิ่งที่ผมเห็นในนิทรรศการ บัดนี้ค่อยๆ เกิดขึ้นจริงต่อหน้าต่อตาเป็นที่เรียบร้อยผ่านชุมชน ผู้คน และธรรมชาติที่รายล้อมอยู่รอบขนอม

เรือประมงค่อยๆ แล่นเข้าเทียบท่าบริเวณคลองขุนนม โดยมีเมฆหมอกสีเทาเป็นฉากหลัง

รถของเราค่อยๆ แล่นออกไปสู่ถนนใหญ่ พร้อมด้วยปล่องระบายควันสีขาวแดงที่ค่อยๆ ลับสายตาหายไป ป๊ายังคงจดจ้องอยู่กับตารางเวลาและจีพีเอส การเดินทางครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อ ในวันที่ตัวผมนั้นได้ประสบการณ์ใหม่มาบันทึกเอาไว้ในความทรงจำ

โรงไฟฟ้าขนอมได้สร้างทั้งพลังงานและดูแลระบบนิเวศที่มันตั้งอยู่เอาไว้ได้เป็นอย่างดี นี่คือความลงตัวของธรรมชาติและมนุษย์ในระดับที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จริงอยู่ที่ตัวโรงไฟฟ้ายังคงใช้พลังงานฟอสซิลอย่างแก๊สธรรมชาติ แต่ความพยายามในการถนอมขนอมเอาไว้ในรูปของโครงสร้างทางธรรมชาติ วัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่ คือเอกลักษณ์ที่ถ่องแท้ของ ‘ขนอม’ อย่างมิอาจปฏิเสธได้

สิ่งสุดท้ายที่ผมฝากไว้คงจะเป็นรอยเท้า ที่ไม่นานก็จะเลือนหายไป ภายใต้เกลียวคลื่นที่ถาโถมอย่างไม่หยุดยั้ง

หมายเหตุ

  • บทความนี้ถูกบันทึกขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับหน่วยงาน, องค์กร, หรือบุคคลากรของทางโรงไฟฟ้าขนอม

  • ภาพถ่ายทั้งหมดถูกจัดทำโดยผู้เขียน ด้วยกล้องจากสมาร์ตโฟน (iPhone 12 mini)

อ้างอิง

https://www.egco.com/th/khanom-learningcenter

https://www.egco.com/khanomlearningcenter/

https://khanom.egco.com/th/our_power_plant.php

https://www.osti.gov/biblio/7039580

https://jglobal.jst.go.jp/en/detail?JGLOBAL_ID=200902057161927361

https://www.dbpia.co.kr/Journal/articleDetail?nodeId=NODE00705582

Tags: , ,