“ผมก็จะยุบของผม […] กำหนดการยุบสภาฯ ก็ภายในเดือนมีนาคม ส่วนกำหนดการเลือกตั้งปัจจุบันก็ตามที่ใครอะ… กกต. ได้ประกาศไว้ คือวันที่ 7 พฤษภาคมมั้ง ใช่ไหม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ให้เวลา กรอบเวลาหลายๆ ส่วนได้ดำเนินการต่อไปเพื่อเกิดความเรียบร้อยมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา
ทำไมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงต้องกำหนดวันเลือกตั้งเบื้องต้นเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม และทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงต้องประกาศว่า “ผมก็จะยุบของผม ภายในเดือนมีนาคม”
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดการระบุวันเลือกตั้งไว้ 2 สาเหตุ
1. กรณีครบวาระสภาผู้แทนราษฎร
2. นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 102 กำหนดไว้ว่า “เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุด…” ในขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 กำหนดว่าภายใน 5 วันหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปบังคับใช้ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน
ดังนั้น หากรัฐบาลประยุทธ์จะอยู่ครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กกต. จะต้องประกาศวันเลือกตั้งหลังจากครบวาระภายใน 5 วัน นั่นคือวันที่ 24-29 มีนาคม 2566 และจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วัน ปกติแล้วการเลือกตั้งมักจะกำหนดวันเป็นวันอาทิตย์ ดังนั้นกำหนดการเลือกตั้งโดยช้าที่สุดคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566
แต่หากพลเอกประยุทธ์ยุบสภาฯ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 130 กำหนดไว้ว่า กกต. ต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วันหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯ แต่ระยะเวลาในการเลือกตั้งจะแตกต่างออกไป คือ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน หลังจากพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ หากพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภาฯ ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 การเลือกตั้งจะเกิดช้าสุดไม่เกินวันที่ 21 พฤษภาคม 2566
แล้ว กกต. เชื่อมั่นได้แค่ไหนในการเลือกตั้ง 2566 ?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต. ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และช่วยขยายเวลาการทำงานให้ กกต. หลังจากเปิดให้ประชาชนและพรรคการเมืองรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 4-13 ตุลาคม 2561 ตามระเบียบของ กกต. อย่างช้าที่สุดต้องประกาศเขตเลือกตั้งภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 แต่ กกต. ก็ไม่สามารถประกาศการเลือกตั้งได้ คสช. จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 โดยระบุว่ามีประชาชนและพรรคการเมืองร้องเรียนมาว่าการรับฟังความเห็นยังไม่เพียงพอ จึงสมควรผ่อนผันและขยายการทำงานให้ กกต.
คสช. ให้อำนาจการแบ่งเขตเลือกตั้งกับ กกต. ส่งผลต่อคะแนนอย่างไรบ้าง
พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 กำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งไว้ว่าให้รวมอำเภอต่างๆ เข้าเป็นเขตเลือกตั้ง แต่หากมีความจำเป็นสามารถแยกตำบลออกจากอำเภอได้ แต่จะแบ่งตำบลออกจากกันไม่ได้ และการแบ่งเขตต้องคำนึงถึงชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางและต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ในกรณีที่ กกต. คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบ หรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณา หรือแบ่งเขตเลือกตั้ง ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหรือมติใดๆ ของ กกต. ที่ออกไว้ ก็สามารถดำเนินการต่อไปโดยชอบด้วยกฎหมายให้เป็นไปตามมติของ กกต.
หมายความว่าในการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ กกต. เห็นว่ามีความเร่งด่วนก็สามารถตัดสินใจได้ โดยมีอำนาจอิสระทุกอย่างไม่ต้องอิงตามกฎเกณฑ์ใดๆ และไม่ต้องรับฟังเสียงพรรคการเมือง หรือประชาชนหน้าไหนโดยชอบด้วยกฎหมาย
รวม 3 สิ่งที่ควรจับตา กกต. ในการเลือกตั้ง 2566 เพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใสที่สุด
1. จับตาการแบ่งเขตเลือกตั้ง
อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า กกต. มีอำนาจอิสระโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างชอบธรรม (?) ผ่านการมอบอำนาจจาก คสช. การแบ่งเขตเลือกตั้งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นตัวแปรสำคัญสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งแต่เริ่มต้น ในกรณีที่มีผู้จงใจออกแบบเขตเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง หรือความต้องการของคนในพื้นที่ โดยสามารถเรียกเทคนิคการแบ่งเขตเลือกตั้งนี้ว่า ‘Gerrymandering’ หรือการจงใจแบ่งเขตเลือกตั้งให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร หรือผู้ได้ประโยชน์ให้ชนะการเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคการเมือง หรือกลุ่มคนอื่นๆ จะมีโอกาสชนะน้อยลง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผลการเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่ง พรรคที่ 1 ได้คะแนนร้อยละ 70 พรรคที่ 2 ได้คะแนนร้อยละ 30 พรรคแรกควรจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. มากกว่าพรรคที่ 2
แต่หากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อให้พรรคที่ 2 อาจเป็นการลากเส้นเขตโดยให้ประชาชนผู้โหวตพรรคที่ 1 ที่กระจายตัวไปทั่วจังหวัด หลายเขตให้มาอยู่เขตเดียวกันโดยกระจุกให้มากที่สุด เพื่อตัดคะแนนที่นั่งในเขตอื่น หรือพื้นที่หนึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคการเมืองหนึ่ง หากผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้พรรคการเมืองนี้ชนะก็สามารถออกแบบเขตเลือกตั้งแทรกแซงแบ่งอำเภอนั้นออกเป็น 2 เขตเลือกตั้งได้ เพื่อให้คะแนนเสียงกระจายตัวออกไปจนไม่สามารถรวมคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งของเขตได้
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่ามีเขตเลือกตั้งใน 11 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย ที่ร่างไม่เหมือนเขตเลือกตั้งทั้ง 3 แบบที่ กกต. ประกาศมาครั้งแรก จนถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ ยกตัวอย่างการแบ่งเขตที่ไม่ชอบมาพากลครั้งที่ผ่านมา คือการแบ่งเขตของจังหวัดสุโขทัย ที่พบว่า จุดเชื่อมต่อระหว่างอำเภอทุ่งเสลี่ยมกับอำเภอบ้านด่านลานหอย เป็นพื้นที่แคบกว้างประมาณ 200-300 เมตร เป็นภูเขา ไม่มีเส้นทางคมนาคมผ่าน แต่กลับถูกรวมเข้าเป็นเขตเลือกตั้ง
ล่าสุด กกต. ได้ประกาศจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้ง 2566 พบว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ในกรณีรวมคนไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาด้วย ทำให้กว่า 6 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. ที่เปลี่ยนไป สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าการคำนวณของ ส.ส. ของ กกต. ในการเลือกตั้ง 2566 อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการแบ่งเขตได้ เพราะหากคำนวณโดยไม่นำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมารวม จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก ควรได้ ส.ส. น้อยลงจังหวัดละ 1 คน ในขณะที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดปัตตานี ควรได้ ส.ส. เพิ่มอีกจังหวัดละ 1 คน
วันที่ 12 มกราคม 2566 ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในประเด็นนี้ไว้ว่าปัจจุบันประชาชนมีความสับสนว่า เขตเลือกตั้งหนึ่งๆ มีขอบเขตอย่างไรบ้าง กรณีของจังหวัดกระบี่ที่เมื่อสอบถาม กกต.จังหวัด ได้รับคำตอบว่ายังไม่ชัดเจน ต้องรอพรรคการเมืองบอกมาก่อน จึงสงสัยว่าสรุปแล้วการแบ่งเขตขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่?
2. กกต. ไม่รายงานผลเลือกตั้งตามเวลาจริง เสี่ยงล็อกผล พร้อมกับระบุว่าค่าการรายงานผลโดยตรง 20 ล้านบาท แพงเกินไป ในขณะที่มีงบประมาณจัดการเลือกตั้งกว่า 5,900 ล้านบาท
ภายหลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการไม่รายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ กกต. จึงได้ออกเอกสารชี้แจงว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2566 ได้จัดให้มีการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการตามมาตรา 120 วรรคสอง เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผ่านทางระบบ ECT Report ที่เน้นความถูกต้องและรวดเร็ว
โดยประชาชนจะเห็นคะแนนแรกเมื่อกรรมการนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนเสร็จ และได้ตรวจสอบความถูกต้องในแบบรายงาน ส.ส. 5/18 และนำไปติดหน้าหน่วยเลือกตั้งให้ประชาชนได้ดูและตรวจสอบ (โดยภายใน 5 วันนับแต่วันเลือกตั้งก็มีการสำเนาแบบรายงาน ส.ส. 5/18 เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานด้วย)
“ภายใน 5 วันนับแต่วันเลือกตั้ง” การใช้เวลาการนับคะแนนกว่า 5 วันจึงค่อยรายงานผล ส่งผลให้ภาคประชาชนและหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีความโปร่งใสเกิดขึ้นหรือไม่? ในขณะที่ กกต. กล่าวว่าใช้งบประมาณสูง และกลัวจะเกิดความผิดพลาดแบบการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ได้ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ถ้า กกต. ไม่พร้อมรายงานผลคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ สตาร์ทอัพไทยพร้อมจะทำให้ดูนะครับ”
3. จับตาดูกรรมการให้ฟาวล์เลือกตั้ง
เนื่องจาก กกต. มีอำนาจในการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง ที่เราคุ้นชินกันในชื่อการแจกใบเหลืองใบแดง และล่าสุดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการแจกใบส้มเพิ่มเข้ามาอีกด้วย ซึ่ง กกต. มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการแจกใบส้มให้กับ สุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 จากพรรคเพื่อไทย กรณีใส่ซองทำบุญให้กับพระจำนวน 2,000 บาท จนทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ และสุรพลไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ เพราะคดียังอยู่ชั้นศาล ท้ายที่สุดศาลตัดสินยกฟ้อง จนศาลสั่งให้ กกต. ต้องจ่ายค่าเสียหายให้สุรพลกว่า 62 ล้านบาท ซึ่ง กกต. ยังดึงเรื่องอยู่จนถึงวันนี้
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. จะมีความพร้อม ความโปร่งใส และความรอบคอบมากขึ้นหรือไม่? เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2562 เมื่อถามถึงการทำงานของ กกต. ต่างก็มีเรื่องที่คลางแคลงใจ ไม่โปร่งใส จนหลายฝ่ายหมดความเชื่อมั่นใน กกต.
ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งปี 2562 ประธาน กกต. บอกยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผิด ระบบรายงานคะแนนล่ม ผลคะแนนที่ส่งออกมาให้สื่อมวลชนหายเป็นช่วงๆ จนส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามต่อความโปร่งใสระหว่างนับคะแนน คะแนนผู้สมัครบางคนถูกปรับลดลง เช่น จังหวัดอุดรธานี เขต 3 เวลาประมาณ 21.30 น. ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มีรายงานคะแนน 302,305 คะแนน ต่อมาคะแนนถูกปรับลดลงเหลือ 33,428 คะแนน หรือกรณีจังหวัดสุโขทัย เขต 2 เวลาประมาณ 21.00 น. ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐมีรายงานคะแนน 305,081 คะแนน ต่อมาคะแนนถูกปรับลดลงเหลือ 38,060 คะแนน การนับคะแนน 100% ของผู้สมัครบางคนกลับน้อยกว่า 94% บัตรเสียถึง 2 ล้านใบ และเลือกตั้งล่วงหน้าแจกบัตรผิดเขต รวมไปถึงบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ประเทศนิวซีแลนด์ที่นับคะแนนไม่ทันจนกลายเป็นบัตรเสีย
ในฐานะเป็นหนึ่งในประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็หวังว่าการเลือกตั้งปี 2566 กกต. จะเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากอดีต และพัฒนาปรับปรุงขึ้นบ้าง แม้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ยังมีหลายสิ่งที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ แต่อย่างน้อยที่สุดประชาชนยังมีกันและกัน เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งมีความสะอาด โปร่งใส เราต้องช่วยกันจับตาการเลือกตั้ง ทั้งการเฝ้าดูการนับคะแนนในแต่ละเขต วิธีการออกกฎเลือกตั้ง การแบ่งเขต ต้องมาช่วยสอดส่องกันว่า มีการใช้อำนาจของ กกต. ที่ขาดความรอบคอบ และเป็นธรรมหรือไม่
ที่มา
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1050840
https://prachatai.com/journal/2018/11/79845
https://library.parliament.go.th/th/khasanghawhnakhnaraksakhwamsngbaehngchati-pii-2561
https://www.ect.go.th/samutprakan/ewt_news.php?nid=19615&ewt=ZGJfMTE5X2VjdF90aA==
https://voicetv.co.th/read/F8NtkIl9X
Tags: เลือกตั้ง 66, การเลือกตั้ง 2566, เลือกตั้ง, คสช., ม.44, ประยุทธ์, กกต.