สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการสอบสวนเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มภายใน 7 วัน
วันนี้ (8 เมษายน 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แถลงความคืบหน้าต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากการตรวจสอบกรณีอาคาร สตง.พังถล่มพบข้อสงสัยหลายประการที่ค่อนข้างสำคัญ ทั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปหาสาเหตุที่แน่ชัดได้จึงมีการตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 4 สถาบัน ทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในกำกับของกระทรวงมหาดไทย จัดทำและนำเสนอ ‘โมเดล’ ของแต่ละสถาบันเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้อาคารดังกล่าวพังถล่ม โดยจะใช้เวลา 90 วันในการสรุปผล
สำหรับเหตุผลที่ต้องใช้เวลา 90 วันเพื่อหาสาเหตุการพังถล่มของอาคาร สตง.นั้น นายกฯ ชี้แจงว่า มีการสอบถามกับคณะทำงานว่า สามารถร่นระยะเวลาการทำงานให้สั้นลงได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า การพังถล่มของอาคารอาจมีหลายปัจจัยประกอบกัน จึงไม่สามารถชี้สาเหตุการพังถล่มของอาคาร สตง.ว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งในทันที เพื่อความแน่ชัดในการสืบหาสาเหตุ คณะทำงานจึงต้องใช้เวลา 90 วันเพื่อตรวจสอบ
ทั้งนี้นายกฯ ระบุว่า ในระหว่างการจัดทำโมเดลหาสาเหตุ 90 วัน หากมีการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ แล้วพบว่า มีการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบ 90 วัน
“ในระหว่าง 90 วันที่จะได้รับโมเดลออกมา มีการดูระหว่างทางว่า มีสิ่งใดที่ทำแล้วผิดกฎหมาย และไม่จำเป็นว่าสิ่งนั้นต้องเป็นหรือไม่เป็นสาเหตุของตึกถล่ม แต่หากดูแล้วเห็นว่าผิดมาตรฐานหรือผิดกระบวนการก็ถือว่าผิดในทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการทำควบคู่กันไป และสามารถดำเนินคดีได้เลย เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ผลสรุปออกมา 100% ที่ว่าจะทราบเลยว่าทั้งตึกเป็นเพราะอะไรถึงถล่ม ต้องรอ 90 วัน” แพทองธารระบุ
สำหรับอาคารในกรุงเทพฯ ที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพในการรองรับแผ่นดินไหวนั้น นายกฯ ยืนยันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของอาคารมีความครอบคลุม จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลว่า ตึกจะพังถล่มและอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ ยังคงรับแรงสั่นสะเทือนได้หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาคารดังกล่าวมีการก่อสร้างตามข้อกฎหมายหรือไม่
“ตึกทุกตึกตามกฎหมายที่ออกมามีความครอบคลุมอย่างดี ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนหวาดกลัวว่า แล้วตึกของเราจะเป็นอย่างไร ตึกทุกตึกเราจะเห็นเลยว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ไม่มีตึกถล่มเพิ่มเติมมีแต่ตึกนี้ (อาคาร สตง.) ตึกเดียว” นายกฯ กล่าว
อย่างไรก็ตามอาคารต่างๆ ทั้งของหน่วยงานราชการและเอกชน จะมีการทบทวนการอนุมัติการก่อสร้างให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยอาจเพิ่มเรื่องความปลอดภัยและแผ่นดินไหวเข้าไปด้วย รวมไปถึงการตัดขั้นตอนที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อให้การก่อสร้างอาคารในโครงการต่างๆ มีความคล่องตัว ที่สำคัญคือยังต้องเพิ่มมาตรการเพื่อไม่ให้อาคารที่ก่อสร้างเกิดเหตุซ้ำรอยอาคาร สตง.ที่กำลังเป็นประเด็น
Tags: ตึกสตง, แผ่นดินไหว