‘การโดนยิงแอด’ หรือการซื้อโฆษณาเพื่อยิงไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะบนแฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่หลายคนเริ่มคุ้นเคยมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์จากหลากหลายแง่มุม บ้างมองว่าเป็นเรื่องตลกขำขัน บ้างรำคาญ ไปจนถึงมองว่าการยิงแอดเป็นการรุกล้ำข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป จนมีการเรียกร้องให้ออกนโยบายควบคุมการโฆษณาบนโลกออนไลน์อย่างจริงจังเสียที

 

อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์จากเหล่านักวิทยาศาสตร์ว่า ‘การยิงแอด’ อาจจะพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการ รุกล้ำเข้าไปในความฝันของมนุษย์

 

นักวิทยาศาสตร์สามคนนำโดย อดัม ฮาร์ ฮอโรวิตซ์ (Adam Haar Horowitz) นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ โรเบิร์ต สติกโกลด์ (Robert Stickgold) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และ แอนโทนิโอ ซาดรา (Antonio Zadra) นักวิจัยเรื่องการนอนและความฝัน จาก มหาวิทยาลัยในมอนทรีอัล ได้ร่วมกันตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ ‘การแฮ็ก’ ความฝัน ซึ่งเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า และเตือนผู้คนให้จับตาดูเทคโนโลยีของการโฆษณา เพราะจากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 77% ของนักการตลาดวางแผนที่จะใช้การฉายโฆษณาในฝัน ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Dreamtech Marketing ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเกิดขึ้นภายในอีกสามปีข้างหน้า

 

มีการค้นพบว่า บทวิจัยการศึกษาการตลาดหลายฉบับกำลังทดสอบวิธีการใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคอย่างเปิดเผยผ่านการนอนหลับ และการแฮ็กความฝันผู้บริโภคด้วยการนำเสนอสิ่งเร้า (stimuli) ก่อนหรือระหว่างการนอนหลับเพื่อส่งผลต่อเนื้อหาความฝัน โดยพวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า Dream Incubation หรือ การฟูมฟักความฝัน 

 

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามยังยกตัวอย่างของ Dream Incubation ด้วยแคมเปญโฆษณาของ Molson Coors บริษัทเครื่องดื่มเบียร์ของสหรัฐอเมริกาในการแข่งขัน Super Bowl ในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า พวกเขาสัญญาว่าจะให้เบียร์ฟรีเพื่อแลกกับการมีส่วนร่วมในการศึกษา ‘การกระตุ้นความฝัน’ ที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอที่มีกระป๋องเบียร์เต้นรำ ปลาพูดได้ และป๊อปสตาร์ชื่อดังอย่าง เซน มาลิก (Zayn Malik) 

 

ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ Molson Coors เรียกการทดลองศึกษาครั้งนี้ว่า ‘การฟูมฟักความฝันอย่างมีเป้าหมาย’  (Targeted Dream Incubation) โดยชี้ให้เห็นว่า บริษัทต่างๆ เริ่มมองเห็นถึงช่องทางในการยิงโฆษณาเข้าไปในความฝันของผู้บริโภคอย่างจริงจังแล้ว

 

ทั้งนี้ ฮอโรวิตซ์ สติกโกลด์ และ ซาดรา ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยประณามผู้โฆษณาที่พยายามริเริ่มแผนการในการแฮ็กความฝันในเชิงพาณิชย์นี้ และมีนักวิทยาศาสตร์อีกสี่สิบคนลงนามร่วมในเอกสารดังกล่าว ทั้งยังทำการย้ำเตือน คณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการโฆษณาในสหรัฐอเมริกาว่า ควรปรับปรุงกฎ และนโยบายสำหรับการโฆษณาที่ล้าหลัง และอ่อนแอเสียใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการการแฮ็กความฝันเพื่อการโฆษณาได้

 

“แผนการโฆษณาในฝันของ Molson Coors ไม่ได้เป็นเพียงลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ในแคมเปญการตลาดเท่านั้น มันเป็นสัญญาณว่าสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ อาจกลายเป็นความจริงได้อย่างรวดเร็ว” กลุ่มนักวิจัยระบุในบทความ

 

ท้ายที่สุด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการก่อนที่จะสายเกินไป เพราะในขณะที่การฟูมฟักความฝันมีประโยชน์จริง เช่น การรักษาผู้ป่วยโรค PTSD (โรคผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง) แต่ต้องพยายามควบคุมให้ดี ไม่เช่นนั้นในอนาคตเราอาจได้พบกับบริษัทเทคโนโลยีที่ผลิตนาฬิกา อุปกรณ์สวมใส่ แอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ติดตามการนอนหลับของเรา และขายข้อมูลนั้นเพื่อหากำไร ผ่านการแฮ็กความฝัน 

 

 

 

 

ที่มา:

https://futurism.com/scientists-marketers-ads-dreams

https://dxe.pubpub.org/pub/dreamadvertising/release/1

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7590944/

https://aeon.co/essays/dreams-are-a-precious-resource-dont-let-advertisers-hack-them

Tags: , , , ,