เมื่อวานนี้ (26 เมษายน 2566) ในงานเสวนา ‘รัฐบาลใหม่’ ไทยอยู่จุดไหนบนเวทีโลก? จัดขึ้นโดย Nation World News ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรติ สิทธีอมร อดีตผู้แทนการค้าไทย คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ และตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ไทยไม่สามารถแก้ปัญหาจากวิกฤตการณ์ในเมียนมาได้เพียงลำพัง หากแต่ต้องดึงประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นำเผด็จการมาเข้าร่วม เช่น จีนและรัสเซีย รวมถึงไม่เห็นด้วยมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) ต่อเมียนมา เพราะกระทบต่อประชาชนตัวเล็กตัวน้อย
โดยในงานเสวนามีคำถามถึงตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องบทบาทของไทยต่อวิกฤตการณ์เมียนมา โดยมุ่งเน้นไปที่บทบาทและวิธีการยุติความรุนแรง
เกียรติตอบคำถามดังกล่าวว่า ไทยไม่สามารถหนีจากวิกฤตการณ์ในเมียนมาพ้นได้ และผลกระทบเกิดขึ้นหลายมิติ ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงการยุติความรุนแรงและความสงบเพียงเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังต้องเจอปัญหาผู้ลี้ภัยอีกด้วย
“เราเป็นผู้ที่จะต้องรับภาระคนที่เป็นผู้ลี้ภัยเป็นช่วงๆ จะสังเกตได้ว่า มีการถล่ม ทิ้งระเบิดในจังหวัดหรือพื้นที่ชายแดนติดกับไทย และทุกครั้งที่เกิดขึ้น คนก็จะทะลักเข้ามาในฝ่ายประเทศไทย หลายครั้งที่เราใช้ดูแลคนเหล่านี้ คือ ‘Non-refoulement’ (หลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย) ค่านิยมของสหประชาชาติ ความตกลงระหว่างประเทศ ก็คือว่า ผู้ไหนที่ได้รับอันตราย เรามีหน้าที่ดูแล”
นอกเหนือจากนั้น เกียรติยังเน้นย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของเมียนมา เพราะนำมาสู่ความรุนแรง เริ่มตั้งแต่การสังหารนักการเมือง การยัดข้อหาและความผิดจนมีโทษร้ายแรง คือการประหารชีวิต รวมถึงเสริมว่า การกระทำของรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับไม่ได้ และท่าทีของไทยอ่อนเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องมีชาติมหาอำนาจมาช่วยเหลือ
“การกระทำเช่นนี้ในประชาคมโลก ล้ำเส้นทุกเส้นที่สังคมโลกไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา ท่าทีของไทยเบามาก แต่ผมใช้ท่าทีของผมบนเวทีที่ผ่านมาหลายเวที แล้วเราได้มีการเรียกคณะกรรมาธิการให้ผลักดันให้มีท่าทีที่เข้มข้นกว่านี้ อาเซียนทำได้มากกว่านี้ 5-point plan ทำได้มากกว่านี้
“ส่วนคำตอบ ทำโดยลำพังไม่ได้ ไทยต้องดึงขาใหญ่ขึ้นมาช่วย เช่น ประเทศจีนเป็นต้นครับ”
เกียรติให้เหตุผลเสริมในการดึงชาติมหาอำนาจในคำถามที่สองว่า เพราะข้อตกลง ‘5-point plan’ ของชาติอาเซียนไม่มีประสิทธิภาพ และการคว่ำบาตรไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ก่อนปิดท้ายว่า จุดยืนของไทยไม่แข็งแรงพอ และเป็นเหตุผลที่ชาติต่างๆ ต้องรวมกำลังกัน
“5 point-plan ของเราติดชะงัก มันขยับไม่ได้ ต้องมานั่งประชุมกันว่าเอาอย่างไรดี แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการ Sanction กระทบคนตัวเล็กตัวน้อย ผู้นำไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย ฉะนั้น ต้องมีส่วนร่วมกับประเทศที่มีความหมายต่อผู้นำ (เมียนมา) ซึ่งผู้นำเกรงใจจีนและรัสเซีย
“(จุดยืนของไทย) ชัดเจนไม่มากพอ อ่อนเกินไปมาก เราทำได้มากกว่านี้ ไม่ใช่โดยลำพัง ต้องหาประเทศอื่นเป็นพันธมิตรมาช่วย มากดดัน”
และคำถามสุดท้ายในงานเสวนาครั้งนี้ “ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคนี้ควรมีคุณสมบัติอย่างไร”
โดย พลอยนภัส โจววณิชย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เป็นผู้เริ่มตอบคำถามก่อนว่า คุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือต้องเป็นนักรบ นักเจรจา และต้องมีแผนเชิงรุก ไม่ใช่แค่ประนีประนอมเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงจากพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงลักษณะที่เหมาะสมของรัฐนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือมีกระดูกสันหลัง เชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้องของสากล คือสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตย
“เมื่อมีกระดูกสันหลัง ยืนอยู่บนหลักการนี้แล้ว หลักการนั้นจะคุ้มครองประเทศเรา และคุ้มครองนโยบายประเทศเราบนเวทีโลก ให้ยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีบนเวทีโลก ขอเพียงเท่านี้ แล้วจะกอบกู้ทศวรรษที่สูญหายของการต่างประเทศเรากลับมาได้”
ด้าน วรนัยน์ วาณิชกะ ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้า พูดถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 ข้อ คือมีทัศนคติแบบสากล (Global Mindset) มีความรู้ และเจรจารู้เรื่อง
“ไม่ได้หมายถึงคุณต้องพูดภาษาอังกฤษเป็น แค่พูดภาษาใดภาษาหนึ่งให้มันรู้เรื่อง โดยเฉพาะภาษาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ คุยภาษานี้ให้รู้เรื่อง คุณสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกนี้ได้”
ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า การยึดผลประโยชน์แห่งชาติก่อนพรรคการเมืองและนักการเมือง เข้าใจยุทธศาสตร์ชาติและโลก และการเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของนายกรัฐมนตรี คือหัวใจของการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
“นายกรัฐมนตรีคือผู้เคาะและตัดสินใจ เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศจะเก่งอย่างไรก็ตาม ต้องให้นายกฯ เคาะ เราต้องเป็นผู้ที่แนะนำและเสนอแนะยุทธศาสตร์ของชาติที่ถูกต้องให้ผู้บริหารประเทศ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี”
ส่วน นพดล ปัทมะ รองคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เห็นว่า ตำแหน่งนี้ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายต่างประเทศชัดเจน และมีวิธีคิดที่ตระหนักได้ว่า ผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร รวมถึงทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีบัวแก้วควรเข้าใจกันเป็นอย่างดี
“ความรู้ในด้านต่างประเทศสำคัญไหม สำคัญครับ แต่ไม่ได้สำคัญที่สุด มาหาอาจารย์หรือตำราอ่านก็ได้ แต่วิธีคิดหรือมายด์เซ็ตที่ด้านต่างประเทศต้องเข้าใจ ต้องรู้ว่าผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ที่ไหน ในเรื่องอะไร”
ในขณะที่ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า คุณสมบัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในดวงใจ ได้แก่ ฉลาด เข้าใจสถานการณ์ในบ้าน และเป็นประชาธิปไตย
“อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาจากกลุ่มที่เป็นประชาธิปไตย เรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจากการที่อยู่ในระดับนี้ได้ ต้องมาจากเสียงโหวตของประชาชน ต้องมาจากเจตจำนงของประชาชน ถ้าไม่ได้มาจากประชาชน คุณพูดไม่ได้ว่าทำเพื่อประชาชน”
และ เกียรติ สิทธีอมร ปิดท้ายคุณสมบัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการเสวนาครั้งนี้ คือภาษาดี เจรจาเป็น เข้าใจบริบทการเมืองโลก และไม่หลงประเด็น
“มีหลายครั้งที่ผมเคยเจอ ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศหลัก ประเทศมหาอำนาจ ใช้ค่านิยมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ผมตั้งคำถามต่อยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำไมเมื่อครั้งที่อียิปต์ปฏิวัติรัฐประหาร คุณถึงรับรัฐบาลของเขา
“การต่างประเทศเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ แต่บางครั้งจะมีการหยิบยกค่านิยมอันเป็นที่ยอมรับของโลกมาใช้ แม้ว่าตัวเองไม่ได้เชื่อหรือปฏิบัติ 100% คนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องรู้ทันโลก ทันเกม และสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้”
Tags: จีน, รัสเซีย, พรรคประชาธิปัตย์, นโยบายต่างประเทศ, เลือกตั้ง 2566, Democracy Strikes Back, เกียรติ สิทธีอมร, การต่างประเทศไทย, วิกฤตการณ์เมียนมา