วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านทางดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) โดยปรับเปลี่ยนเกณฑ์ผู้รับดังนี้

รัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 1 หมื่นบาท ให้แก่

1. คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

2. มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท

โดยจะให้สิทธิใช้ครั้งแรกเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากโครงการเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับขยายกรอบการใช้งานเป็นระดับอำเภอ

“วันนี้ ผมขอบอกข่าวดีกับพี่น้องประชาชน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เป็นแค่ความฝัน แต่เป็นความจริงครับ” นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นกล่าวกับสื่อมวลชน

นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลหาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินดิจิทัลไปในระบบเศรษฐกิจ มูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งเงินนี้จะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชาชนกว่า 50 ล้านคน และอีกหนึ่ง 1 แสนล้านบาท ในกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมย้ำว่า ทุกอย่างที่แถลงในวันนี้จะยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย และต้องมีมติในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่เกิดจากการที่รัฐบาลได้ฟังความคิดเห็นจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน โดยขอให้ปรับเงื่อนไขของดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น

ทั้งนี้ การใช้เงินดังกล่าวเป็นการเพิ่มขีดความสามารถภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากร ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

สำหรับผู้ที่ไม่เข้าข่ายได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐากล่าวต่อว่า รัฐบาลจะออกโครงการ E-refund รองรับคนกลุ่มนี้ กล่าวคือ ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยให้ใบกำกับภาษีมาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ร้านค้าเข้าระบบดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย

โดยสรุป นโยบายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน คือ

1. กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน

2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ E-goverment ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

“ย้ำอีกครั้ง นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ

“ผมขอให้ประชาชนได้รับสิทธิร่วมกัน ใช้จ่ายอย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้สร้างความเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา” นายกรัฐมนตรีกล่าวปิดท้าย

Tags: ,