หลังจากชาวฮ่องกงหลายแสนคนออกมาเดินขบวนประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลฮ่องกงจะยอมถอนร่างฉบับนี้หรือไม่ เราอาจได้เห็นกันในสัปดาห์นี้

เสียงคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังมาจากผู้คนทุกวงการในฮ่องกง นอกจากทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา และนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยแล้ว ในวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) แม้กระทั่งพวกนักธุรกิจ ซึ่งปกติมีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล ก็ยังเข้าร่วมชุมนุมที่สวนสาธารณะวิกตอเรียพาร์ค ก่อนเดินขบวนไปที่หน้าอาคารสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีกำหนดอภิปรายร่างดังกล่าวในวันพุธ

สาเหตุหลักที่ชาวฮ่องกงออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 15 ปีในครั้งนี้ เป็นเพราะไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของจีน

ครั้งหลังสุดที่ฮ่องกงมีผู้เข้าร่วมเดินขบวนเกิน 500,000 คน คือ ตอนที่ประท้วงร่างกฎหมายความมั่นคงเมื่อปี 2003 ในครั้งนั้น รัฐบาลตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อ

เปิดร่างกฎหมายเจ้าปัญหา

ที่ผ่านมา ฮ่องกงไม่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาของฮ่องกง ในวันข้างหน้า ผู้ร้ายหนีคดีที่รัฐบาลปักกิ่งต้องการตัวจะถูกส่งข้ามพรมแดนไปรับการไต่สวนบนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรก

นอกจากไม่มีข้อตกลงกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาในเรื่องนี้กับเขตปกครองอื่นๆ ที่ปักกิ่งถือเป็นเขตอธิปไตยของจีนด้วย นั่นคือ ไต้หวัน และมาเก๊า ปัจจุบัน ฮ่องกงมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอื่นๆ รวม 20 ประเทศ

รัฐบาลฮ่องกงภายใต้หัวหน้าคณะผู้บริหาร คือ นางแคร์รี หลำ ชี้แจงเหตุผลในการผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายที่เรียกว่า Fugitive Offenders Ordinance ฉบับนี้ว่า จำเป็นต้อง ‘อุดช่องโหว่’ เพราะกฎหมายเดิมเอื้อให้พวกอาชญากรที่ทำผิดในจีน ไต้หวัน มาเก๊า หนีมากบดานในฮ่องกง โดยอ้างกรณีหนุ่มฮ่องกงคนหนึ่งซึ่งฆ่าแฟนสาวชาวฮ่องกงขณะไปเที่ยวด้วยกันที่ไต้หวัน จากนั้นหนีกลับบ้านในฮ่องกง

ผู้บริหารเกาะฮ่องกง ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า มีจุดยืนนิยมปักกิ่ง เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยแจกแจงว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายใหม่ ไม่ใช่ว่าต่างชาติขอมาก็จะส่งตัวไปทันที แต่มีศาลฮ่องกงกลั่นกรอง และยังอุทธรณ์คำวินิจฉัยได้ด้วย

นอกจากนี้ ร่างดังกล่าวจะยกเว้นการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีมีความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาจะถูกดำเนินคดีด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือศาสนา หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน ที่สำคัญ ผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษประหารชีวิตจะไม่ถูกส่งตัว

ผู้ต้องหาที่เข้าข่ายถูกส่งตัวจะมีแต่ผู้ร้ายในคดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป อีกทั้งจะไม่ครอบคลุมความผิดในเรื่องเงินๆ ทองๆ อีก 9 ข้อหาด้วย

ทำไมคนฮ่องกงต่อต้าน

ก่อนหน้าวันนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันอาทิตย์ นักวิชาชีพและนักวิชาการได้ออกมาเดินขบวนโดยสงบ แสดงการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันพฤหัสฯ (6 มิ.ย.)    ผู้เข้าร่วมมาจากสภาทนายความ (Bar Association) สมาคมนิติศาสตร์ (Law Society) และหอการค้า รวมทั้งนักศึกษาและประชาชน ผู้จัดการประท้วงบอกว่า คนเข้าร่วมมีประมาณ 2,500 – 3,000 คน

เดนนิส กว็อก ส.ส.ฮ่องกง ผู้จัดการชุมนุม บอกว่า ร่างฉบับนี้คุกคามหลักการปกครองด้วยกฎหมายของฮ่องกง

เหตุผลหลักของการคัดค้านนั้น พุ่งเป้าไปที่กระบวนการยุติธรรมของจีน ซึ่งไม่มีหลักประกันในเรื่องการไต่สวนและพิพากษาอย่างเป็นธรรม เพราะเหตุว่า กระบวนการยุติธรรมของจีน ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ จนถึงศาล ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐบาล

นักสิทธิมนุษยชนแสดงความวิตกมาโดยตลอดว่า ผู้ต้องหาคดีอาญาในจีนมักถูกทรมาน ถูกควบคุมตัวตามอำเภอใจ ถูกบังคับให้รับสารภาพ และถูกกีดกันไม่ให้พบทนาย

ขณะเดียวกัน มีความกังวลว่า ศาลฮ่องกงที่ต้องวินิจฉัยคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน อาจถูกจีนกดดัน เพราะในระยะหลัง จีนได้ขยายบทบาทเข้ามาใกล้ชิดฮ่องกงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ต่างชาติไม่ยอมรับ

ไม่เพียงชาวฮ่องกงเท่านั้นที่คัดค้าน ปฏิกิริยาจากนานาชาติก็ปรากฏชัดเจน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ และรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษกับเยอรมนี ต่างออกถ้อยแถลงทักท้วง ในขณะที่ผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวม 11 ประเทศ ได้ขอเข้าพบนางแคร์รี หลำเพื่อแสดงการคัดค้านอย่างเป็นทางการ

คริส แพทเทน อดีตผู้ว่าการเกาะฮ่องกงของอังกฤษคนสุดท้าย บอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะบั่นทอนหลักนิติรัฐ บั่นทอนเสถียรภาพและความปลอดภัยของฮ่องกง และบั่นทอนสถานะของดินแดนเกาะแห่งนี้ในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ

วาระพิจารณาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะเริ่มขึ้นในวันพุธ (12 มิ.ย.)  ว่ากันว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงชุดปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายนิยมจีน จึงคาดกันว่า สภาอาจลงมติให้ผ่านในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ดี ด้วยเสียงคัดค้านที่แข็งขัน ทั้งภายในและภายนอก จึงต้องรอดูว่า ฝ่ายบริหารของฮ่องกงจะถอนร่างกฎหมายกลับไปทบทวนใหม่ เปิดรับฟังและปรึกษาหารือกับกลุ่มประชาสังคม อย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง หรือไม่.

 

อ้างอิง:

AFP via France24, 6 June 2019

Reuters, 6 June 2019

 

PHOTOGRAPHER: Tyrone Siu/ Reuters

 

Tags: , , ,