กระแสการประกาศเอกราชของประเทศสกอตแลนด์ ถูกยกมาพูดถึงบนหน้าสื่ออีกครั้ง หลังวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ฮัมซา ยูซาฟ (Humza Yousaf) นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคชาติสกอต (Scottish National Party: SNP) ประกาศข้อเสนอ ‘การสร้างรัฐธรรมนูญสมัยใหม่เพื่อเอกราชของสกอตแลนด์’ โดยอ้างว่า กฎหมายสูงสุดนี้จะนำมาสู่อำนาจในมือประชาชนอย่างแท้จริง และช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมถึงความเท่าเทียมได้ดียิ่งขึ้น
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ยูซาฟให้เหตุผลว่า เพราะรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการไร้ความสามารถรับรองหลักการถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอิสระของรัฐบาลสกอตแลนด์ในการปฏิบัติงานโดยตรง สืบเนื่องจากลักษณะของรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจาย (Uncodified Constitution)
อธิบายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรไม่ได้ถูกรวมกันในฉบับเดียวดังเช่นประเทศอื่นๆ ในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาหรือไทย ที่ประมวลเนื้อหารัฐธรรมนูญอยู่ในฉบับเดียว (Codified Constitution)
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรจึงมีความซับซ้อน ขอบเขตกว้างขวาง และเลือนลาง เพราะเนื้อหารัฐธรรมนูญ สามารถพิจารณาได้ตั้งแต่กฎหมายทั่วไป อนุสัญญา คำตัดสินของศาลที่มีมาแต่เดิม (Precendents) รวมถึงพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์
นอกจากนี้ ลักษณะคลุมเครือดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ ดังนั้นการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ จึงเป็นโอกาสอันดีในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการสร้างกฎหมายสูงสุดที่มีเนื้อหาชัดเจนและรัดกุม
เป้าหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน
ดังที่กล่าวข้างต้นว่า เป้าหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ทั้งเป็นแนวทางว่า สกอตแลนด์จะมีรูปแบบการปกครองอย่างไร แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขสำคัญ คือ ‘สกอตแลนด์ต้องได้รับเอกราชแล้วเท่านั้น’
และคุณประโยชน์อันลึกซึ้งที่หลายคนคาดไม่ถึงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ สกอตแลนด์จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสกอตแลนด์ยังมั่นหมายว่า รัฐธรรมนูญตามแผนร่างจะช่วยสร้างและเป็นต้นแบบให้กับประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอ้างจากแผนงานร่างการประกาศเอกราชของ นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) อดีตนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างประเทศให้มั่นคง ทั้งในด้านระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย สังคม และเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสกอตแลนด์เพื่อเอกราชเป็นอย่างไร?
อ้างอิงจากแผนร่างของยูซาฟ สำหรับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ หากสกอตแลนด์ได้รับเอกราช รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไปก่อนในระหว่างการเตรียมการ
สำหรับขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ จะเริ่มต้นด้วยรัฐสภาและกลุ่มตัวแทน เช่น ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงอ้างอิงประเพณีทางรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักการ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน’ (Popular Sovereighty) ซึ่งทางการสกอตแลนด์เน้นย้ำว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญในขั้นตอนนี้ จะเปิดกว้างและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ
รัฐธรรมนูญฉบับถาวรของสกอตแลนด์มีผลบังคับใช้ ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากประชาชนในการทำประชามติเท่านั้น แต่หากผลประชามติได้รับเสียงคัดค้านมากกว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเป็นอื่น
นอกจากนี้ แผนร่างยังระบุว่า วิธีการข้างต้นสะท้อนการยอมรับของทั่วโลกถึงการมีส่วนร่วมของพลเมือง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขหรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญในระดับสากล โดยกระบวนการเหล่านี้อ้างอิงแนวทางจากกลุ่มประเทศเนเธอร์แลนด์ เอกวาดอร์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และชิลี
เนื้อหารัฐธรรมนูญของสกอตแลนด์ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแก่นสำคัญ คือการสนับสนุนการคุ้มครองกฎหมายสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคอย่างเข้มข้น และสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) รวมถึงมีเนื้อหาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติสำหรับประมุขแห่งรัฐ การได้มาซึ่งสัญชาติสกอตแลนด์ และบทกำหนดระบบสองสภาของรัฐสภา
นอกจากนี้ เนื้อหายังระบุและคุ้มครองสิทธิในด้านอื่นๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) นั่นคือสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยปราศจากค่าใช้จ่าย สิทธิแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม การละเว้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือสกอตแลนด์พยายามใช้ต้นแบบแนวคิดจากประเทศที่ร่ำรวยและมีความเป็นอยู่ดีกว่าสหราชอาณาจักรภายใต้แนวคิดรัฐสวัสดิการ ได้แก่ กลุ่ม 10 ประเทศยุโรปและสแกนดิเนเวีย ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์
กระแสตอบรับแผนร่างเพื่อการประกาศเอกราชในฐานะ ‘ประเทศสกอตแลนด์’
แม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นด้วยกับแผนการประกาศเอกราชดังกล่าว แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สกอตแลนด์อาจละทิ้งระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักร และหันมาใช้วิธีเลือกประมุขแห่งรัฐที่มาจากการเลือกตั้งเสมือนไอร์แลนด์ หลังยูซาฟตอกย้ำประเด็นดังกล่าว ทันทีที่พระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสร็จสิ้น
นอกจากนั้น สาธารณชนบางกลุ่มมองว่า แผนร่างนี้มีเนื้อหาหลายอย่างที่ดู ‘เกินจริง’ เนื่องจากรัฐบาลสกอตแลนด์ไม่ระบุวิธีการชัดเจนในการประกาศเอกราช อีกทั้งยังมีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอของยูซาฟเป็นกลยุทธ์ดึง ‘คะแนนเสียง’ จากสาธารณชน โดยเฉพาะกลุ่ม ‘Yes’ หรือผู้สนับสนุนเอกราชของสกอตแลนด์ เพราะพรรค SNP ของเขา กำลังเผชิญวิกฤตจากปัญหาเรื่องอื้อฉาวทางการเงินที่ทำให้คะแนนความนิยมลดน้อยลง
และประเด็นเหล่านี้ถือเป็นการกดดันต่อกลุ่มพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักรอย่างพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และพรรคแรงงาน (Labour Party) ในการลงประชามติครั้งที่สองที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังทั้งสองพรรคต่างลังเลและไม่ชอบใจในกระบวนการดังกล่าว
ดังนั้น จึงเป็นงานที่ยุ่งยากสำหรับยูซาฟ ต่อการพยายามสร้างฐานเสียงสนับสนุนเอกราชสกอตแลนด์อันล้นหลาม ที่อาจกลายเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ของใครหลายคน รวมถึงโอกาสของการทำประชามติยังมีน้อยมาก เพราะศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักร (The Supreme Court of United Kingdom) มีคำพิพากษาว่า การทำประชามติเพื่อประกาศเอกราชต้องได้รับการยินยอมจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรก่อน ขณะที่ ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนปัจจุบัน ปฏิเสธข้อเรียกร้องประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ทันควัน
อ้างอิง
https://www.the101.world/uk-nhs/
https://www.bbc.com/news/uk-scotland-61797726
https://www.bbc.com/news/uk-scotland-65951500
https://www.bbc.com/news/uk-scotland-65948652
https://www.bbc.com/thai/international-63728840
https://www.euronews.com/2023/03/28/rishi-sunak-says-no-to-new-scotland-independence-request
Tags: เสรีประชาธิปไตย, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร, สแกนดิเนเวีย, ฮัมซา ยูซาฟ, การประกาศเอกราช, เอกราช, เอกราชสกอตแลนด์, รัฐธรรมนูญ, สกอตแลนด์