วันนี้ (2 พฤษภาคม 2567) ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่า การเริ่มจัดทำประชามติจะเกิดขึ้นภายหลังการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 แล้วเสร็จ จึงขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไขการทำประชามติ

ชูศักดิ์อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า ให้มีการจัดทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง โดยแก้ไขกฎหมายประชามติปี 2564 ให้เรียบร้อยก่อน เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จ คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้จัดทำประชามติครั้งที่ 1 ออกมา

สำหรับการแก้ไขกฎหมายประชามติจะมุ่งแก้ไขไปที่หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) มาตรา 13 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ที่ระบุว่า ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้เป็นเพียงให้มีจำนวนเสียงผ่านครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

อย่างไรก็ตาม ชูศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า ในการแก้ไขกฎหมายประชามตินี้ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นว่า การแก้ไขกฎหมายนี้จะเสนอผ่านรัฐสภาหรือผ่านบทเฉพาะกาลการปฏิรูปประเทศ ซึ่งตนและพริษฐ์มองว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการพิจารณาแบบปกติของรัฐสภา เพราะบทเฉพาะกาลจะสิ้นลงแล้ว

ด้านพริษฐ์ในฐานะตัวแทนจากพรรคก้าวไกลและผู้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ สรุป 3 ประเด็นหลักภายหลังการประชุมไว้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน ตัวแทนจากรัฐบาลมีการสื่อสารผิดพลาดในเรื่องของกรอบเวลาการจัดทำประชามติที่ระบุว่า ประชามติครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากต้องมีการแก้ไขกฎหมายประชามติให้แล้วเสร็จเสียก่อน แปลว่าตราบใดที่กฎหมายประชามติยังแก้ไม่เสร็จ ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการทำประชามติครั้งที่ 1 ได้

ประเด็นที่สอง ในปัจจุบันมี 2 ร่างแก้ไขจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาเรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้มีข่าวว่าจะมีร่างของคณะรัฐมนตรีด้วย จึงมองว่าหากคณะรัฐมนตรี เสนอร่างแก้ไขกฎหมายไม่ทัน สามารถเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมได้ในชั้นกรรมาธิการ

ประเด็นที่สาม พรรคก้าวไกลยังมีข้อกังวลกับคำถามประชามติ และได้สื่อสารกับรัฐบาลว่า ต้องการให้พิจารณาทบทวนคำถามใหม่ให้คำถามประชามติเป็นคำถามที่เปิดกว้าง เพราะจะเพิ่มโอกาสเห็นชอบประชามติเพื่อแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ

“เราเข้าใจดีว่าจุดยืนรัฐบาล คือไม่ต้องการให้มีการแก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) แต่เรามองว่าการตั้งคำถามประชามติสามารถเปิดกว้างกว่านี้ได้ ที่ยังคงรักษาจุดยืนตัวเอง เพราะหากประชามติผ่านการเห็นชอบแล้ว รัฐบาลยังคงมีสิทธิในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไปล็อกไม่ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการแก้ไข หมวด 1 และหมวด 2 อยู่ดี” พริษฐ์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรอบเวลาในการทำประชามติครั้งแรกว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใด พริษฐ์ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่ารัฐสภาจะพิจารณาการแก้ไขกฎหมายประชามติแล้วเสร็จเมื่อไร ตนจึงอยากให้มีการเปิดประชุมวิสามัญให้เร็วที่สุด

ขณะที่ชูศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมมองของตนคิดว่าการแก้ไขกฎหมายประชามติจะใช้เวลาแก้ไขไม่นานมาก คาดว่า 6 เดือนหลังจากนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อนำไปจัดทำประชามติครั้งแรกให้เกิดขึ้น

Tags: , , ,