วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2566) 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย ไอลอว์ (iLaw), คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และกลุ่มประชาชนอีกหลายกลุ่ม เข้าพบกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมกับนำรายชื่อประชาชนกว่า 211,904 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามประชามติ
การนัดหมายพูดคุยเป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่คณะรัฐมนตรีกำลังจะตัดสินใจภายในสิ้นปีนี้ (2566) ว่า จะมีการทำ ‘ประชามติครั้งพิเศษ’ เพื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เช่น จะมีการตั้งคำถามอย่างไร และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดได้หรือไม่
ภายหลังการพูดคุยหารือ สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. คำถามประชามติต้องยึดหลักการ ‘ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ’ โดนเสนอให้รูปแบบคำถามประชามติต้องเป็นไปตามหลักการ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ และไม่ตีกรอบไม่ให้แก้ไขบางหมวด เพราะรูปแบบคำถามจะส่งผลโดยตรงต่อผลประชามติ
2. ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า ส.ว.จะขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะหากคำถามประชามติเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และได้รับเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้น ก็เป็นเรื่องยากที่เหล่า ส.ว.จะปฏิเสธได้ แต่ในทางกลับกัน หากคำถามไมได้เขียนไว้อย่างชัดเจนตามหลักการข้างต้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ ส.ว.สอดแทรกเงื่อนไขในชั้นของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับกระบวนการต่อไป
3. สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เนื่องจากปัญหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นอกเหนือจากตัวเนื้อหาที่มีปัญหาในหลายด้าน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากเช่นกัน คือการลืมประชาชนในสมการ ซึ่งทำให้เกิดการขาดความชอบธรรมในความรู้สึกของประชาชน ดังนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
หากมีข้อกังวลว่า การที่ สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำให้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนรายประเด็นหรือไม่ เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือแรงงานร่วมด้วยนั้น สามารถทดแทนได้โดยการกำหนดให้ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สามารถ ‘แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง’ ให้เข้ามาทำงานสนับสนุน โดยใช้กลไก ‘คณะยกร่าง’ หรือ ‘อนุกรรมาธิการเฉพาะด้าน’ ขึ้นมาทำงานในรายละเอียดเชิงเทคนิคได้
4. หลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติ) ต้องไม่เป็นข้ออ้างถ่วงเวลา กล่าวคือ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 กำหนดว่า ในการทำประชามติที่จะ ‘ผ่าน’ ต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด ทำให้มีข้อเสนอว่าควรจะแก้ไขหลักเกณฑ์นี้เสียก่อน เพื่อไม่ให้ประชามติตกไป เพราะคนนอนหลับทับสิทธิอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตาม แม้หลักเกณฑ์นี้จะเป็นปัญหาจริง แต่ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการยืดเวลาของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกไป เนื่องจากกระแสสังคมในปัจจุบัน ประชาชนตื่นตัวเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นทุนเดิม หากจัดทำประชามติโดยตั้งคำถามเปิดกว้างที่ประชาชนเห็นด้วย ก็ไม่เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจำนวนมากจะออกมาใช้สิทธิลงคะแนน แต่หากคำถามประชามติมีปัญหา ก็อาจจะส่งผลให้สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิน้อยลงจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติ
สุดท้ายนี้ หลังจากให้ความเห็น กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นเรื่องคำถามประชามติ ที่รวบรวมจากประชาชนกว่า 500 คน ในเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ มอบให้กับคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้นำไปพิจารณาด้วย
Tags: รัฐธรรมนูญ, iLaw, conforall