กรุงเทพมหานคร แถลงถึงข้อกังวลของประชาชนที่มีต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) หลังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการวางผังที่เอื้อกับกลุ่มทุน จนเกิดเป็นข้อถกเถียงระหว่างประชาชน ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนเกี่ยวกับร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 โดยยืนยันว่า หลักการในการปรับผังเมืองครั้งนี้ไม่ได้เอื้อกลุ่มทุน หากแต่เป็นการเอาปัญหาสาธารณะมาแก้ไข เช่น ความต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่สูงขึ้น มีพื้นที่ทางเดินเท้าที่มากขึ้น ไม่มีสิ่งกีดขวางมาเกะกะ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้น

ทั้งนี้ หากต้องเอาพื้นที่ของราชการมาทำแก้ไขปัญหาไม่น่าเพียงพอ ดังนั้นต้องมีการปรับผังเมือง โดยหากปรับผังสีแล้วเอกชนได้พื้นที่เพิ่ม เอกชนก็จำเป็นต้องนำพื้นที่บางส่วนคืนสาธารณะหรือทำเป็นพื้นที่สีเขียว

ส่วนประเด็น ‘การเวนคืนที่ดิน’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนกังวลใจ วิศณุยกตัวอย่างว่า แต่เดิมก่อนมีการปรับผังถนนมีความกว้าง 6 เมตร หากปรับเป็นถนนแบบ ก. ความกว้างจะเป็น 12 เมตร กล่าวคือจะไม่ได้เวนคืนที่ดิน แต่จะเป็นการบังคับให้อาคารถอยร่นออกไปเพื่อให้พื้นที่ไม่แออัด ทั้งนี้ การปรับผังสีทุกคนได้ประโยชน์ทั้งหมด เอกชนได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) เอกชนก็ต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาเป็นประโยชน์สาธารณะ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างผังฯ นี้จะประกาศใช้ในภายในปี 2568 ตามแผนหรือไม่ วิศณุตอบว่า ในส่วนนี้เป็นอำนาจนอกของ กทม.แล้ว กทม.เป็นแค่กรรมการที่ปรึกษาผังเมือง และต้องส่งต่อไปคณะอื่นๆ ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงมหาดไทยที่มีปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าจะประกาศใช้

สำหรับกรณีที่ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ ออกมาตั้งประเด็นว่า เหตุใดจึงมีพื้นที่ผังสีแดง ซึ่งเป็นที่ดินใช้ประโยชน์ทางพาณิชยกรรมเพียงจุดเดียว แล้วถูกล้อมไปด้วยพื้นที่ผังสีเหลือง นพนันท์ ตาปนานนท์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เนื่องจากเมืองมีการขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างเมืองจากที่เมื่อก่อนเป็นโครงสร้างศูนย์กลางเดียว กลายเป็นเมืองที่มีศูนย์กลางเมืองที่มากขึ้น เพราะหากเมืองยังเป็นศูนย์กลางเดียว จะทำให้เกิดปัญหาการจราจร ดังนั้น จึงต้องมีการปรับผังเมืองโดยวางผังให้ผังสีพาณิชยกรรมกระจายตัวไปทั่วเมือง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ต้องจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ตอบว่า ตามกฎหมายต้องมีการรับฟังความเห็นก่อนจัดทำ 1 รอบ โดยที่ผ่านมา จัดประชุมไป 5 ครั้ง คนเข้าร่วมประมาณ 1,400 คน และหลังมีการร่างผังฯ แล้วก็มีการจัดประชุมมาแล้วกว่า 7 ครั้ง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าทำตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผังเมืองกำหนดตามประกาศของคณะกรรมการผังเมืองว่าด้วยการจัดประชุมและการมีส่วนร่วม ที่ออกประกาศมาเมื่อปี 2565 นอกจากนี้ จะมีการขยายเวลาเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปถึงถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อรับฟังความเห็นของภาคประชาชน

Tags: , , ,