คริส เฮมส์เวิร์ธ (Chris Hemsworth) นักแสดงชื่อดัง ถูกวิจารณ์ว่า สนับสนุน ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ หลังเขาและภรรยา เอลซา พาทากี (Elsa Pataky) นางแบบและนักแสดงหญิงชาวสเปน ถ่ายโฆษณาโปรโมตการท่องเที่ยวในกรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirate: UAE) ประเทศที่มีประวัติฉาวโฉ่ด้านสิทธิมนุษยชน
เฮมส์เวิร์ธเป็นนักแสดงชื่อดังจากบท ธอร์ (Thor) เทพเจ้าสายฟ้า ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่จากจักรวาลมาร์เวล (Marvel) ขณะที่พาทากีเป็นนางแบบ และนักแสดงจากภาพยนตร์แฟรนไชส์อย่าง Fast & Furious โดยทั้งคู่คบหาดูใจและแต่งงานกันในปี 2010
ในวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เฮมส์เวิร์ธและพาทากีปรากฏตัวในโฆษณาโปรโมตการท่องเที่ยวของกรุงอาบูดาบี โดยวิดีโอที่มีความยาวประมาณ 1 นาที เผยให้เห็นทั้ง 2 คนกำลังแสดงหนังแอ็กชัน และทันทีที่เฮมส์เวิร์ธเอ่ยปากว่า อยากพักร้อนระหว่างกำลังห้อยโหนตัวจากตึกสูง โฆษณาก็ตัดไปที่ภาพของทั้งคู่กำลังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งพายเรือคายัก ขี่ม้ากลางทะเลทราย เล่นเซิร์ฟ รวมถึงแหล่งพักผ่อนหย่อนใจอย่างสปา
ทว่าวิดีโอดังกล่าวได้รับเสียงวิจารณ์จากเหล่าแฟนคลับและองค์กรสิทธิมนุษยชน เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชน สะท้อนจากรายงานการปราบปรามเสรีภาพในการพูด, การประท้วงอย่างสันติ, การจับกุมอย่างไร้ที่มาที่ไป, การคุมขัง และการทรมานนักโทษทางการเมือง
ดังกรณีกลุ่ม ‘UAE 94’ หรือนักโทษทางการเมือง 69 รายที่จับกุมในข้อหาก่อการร้าย หลังใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อประท้วงรัฐบาล อีกทั้งยังถูกคุมขังอย่างไร้กำหนด ขณะที่แรงงานต่างชาติต้องเผชิญกับระบบแรงงานทาสอย่าง ‘คาลาฟา’ (Kalafa) ที่ผูกมัดไม่ให้หลบหนีออกจากนอกประเทศ จนนำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน และการเลือกปฏิบัติต่อคนต่างแดน
“พวกนายยังรวยกันไม่พออีกหรือ เอาเงินไป และเพิกเฉยเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ตายเถอะ”
“โฆษณาของรัฐที่แทบไม่มีสิทธิมนุษยชนเลยหรือ?”
“UAE คือหนึ่งในประเทศสุดท้ายบนโลกใบนี้ที่ฉันอยากไปเที่ยว” เหล่านี้คือคอมเมนต์ส่วนหนึ่งจากโพสต์ในอินสตาแกรม (Instagram) ที่ตำหนิการกระทำของนักแสดงชื่อดัง
ก่อนหน้านี้เฮมส์เวิร์ธเคยแสดงความคิดเห็นชื่นชม UAE ในรายการ Conde Nast Traveller ว่า เขาตกหลุมรักประเทศนี้แล้ว จากปกติที่ต้องอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย หรือเดินทางไปมาระหว่างยุโรปบ่อยครั้ง แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเลือกที่จะไปเที่ยวและใช้วันหยุดพักผ่อนใน UAE แทน
ทั้งนี้ฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch: HRW) เคยรายงานว่า รัฐบาล UAE กำลังใช้กลยุทธ์ลงทุนเพื่อปกปิดประวัติฉาวโฉ่ของประเทศ โดยแสดงให้นานาชาติเห็นว่า ประเทศมีความก้าวหน้าและพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน หนึ่งในนั้นคือ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP 28 (Climate Change Conference) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม แม้ในความเป็นจริง ประเทศยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอลซิลอยู่ก็ตาม
ไม่ใช่แค่เฮมส์เวิร์ธที่ตกประเด็นการฟอกขาวภาพลักษณ์ให้ประเทศในตะวันออกกลาง เพราะ เดวิด เบ็กแฮม (David Beckham) อดีตดาวนักเตะของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United) และสโมสรเรอัลมาดริด (Real Madrid) เคยเผชิญเสียงวิจารณ์จากการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของประเทศกาตาร์ (Qatar) ถึง 10 ปี ในช่วงฟุตบอลโลก 2022 โดยภายหลังเบ็กแฮมออกมายอมรับกับเดอะเทเลกราฟ (The Telegraph) สื่ออังกฤษว่า เขาไปในดินแดนตนที่ไม่รู้อะไรเลย ทั้งยังรู้ตัวว่า จะถูกตั้งคำถามและวิจารณ์จากสาธารณชน แต่ก็หวังว่า พลังของฟุตบอลจะช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้น
อ้างอิง
- https://www.mirror.co.uk/travel/asia-middle-east/chris-hemsworth-criticism-abu-dhabi-34058711
- https://www.hrw.org/world-report/2024/country-chapters/united-arab-emirates
- https://www.theguardian.com/film/2024/nov/07/chris-hemsworth-criticised-abu-dhabi-tourism-ad-uae-ntwnfb