วันที่ 11 พฤศจิกายน 2023 สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) รายงานว่า นายจ้างคนหนึ่งถูกปรับชดเชยค่าเสียหายจำนวน 100 หยวน (ประมาณ 500 บาท) และต้องขอโทษพนักงานต่อสาธารณชน หลังศาลตัดสินว่า เขาใช้คำพูดด่าทอลูกจ้างอย่างรุนแรง เพราะไม่พอใจต่อพฤติกรรมที่เข้าข่าย ‘อู้งาน’ ของผู้เสียหาย 

เสี่ยวคัง (Xiaogang) ชายวัย 23 ปี เข้าทำงานที่สถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งในเมืองหนานชาง (Nanchang) มณฑลเจียงซี (Jiangxi) ในปี 2022 โดยหน้าที่ของเสี่ยวคัง คือการรับสมัครและสอนนักเรียนในสถาบันติวเตอร์ เขาได้รับค่าจ้าง 3,000 หยวน (ประมาณ 1.5 หมื่นบาท) ต่อเดือน

ทว่าเรื่องราวชุลมุนเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2023 เมื่อเสี่ยวคังเล่นเกมออนไลน์ระหว่างทำงาน ขณะที่ หลิว นายจ้างของเสี่ยวคัง สังเกตเห็นและไม่พอใจกับพฤติกรรมดังกล่าว เรื่องราวจึงบานปลาย จนทั้งสองมีปากเสียงต่อกัน 

“บางที งานที่เหมาะกับนายที่สุดคือกล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัยในงานศพ” คำดูถูกเหยียดหยามบางส่วนของนายจ้างต่อพนักงาน

แม้เสี่ยวคังจะยอมรับความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ปรากฏว่าหลิวให้ทางเลือก 2 ทางเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่าง ‘ลาออกโดยสมัครใจ’ หรือ ‘ถูกเลิกจ้าง’ ขณะที่เสี่ยวคังเล็งเห็นว่า การกระทำดังกล่าวคือการแก้แค้น โดยเชื่อว่า นายจ้างอาจไม่พอใจตนเอง เพราะแสดงท่าทีที่ไม่เคารพในอดีตที่ผ่านมา 

กระทั่งเสี่ยวคังตัดสินใจแจ้งตำรวจ เขาหวังจะได้รับคำขอโทษจากหลิว โดยมีหลักฐานคือข้อความเสียง ซึ่งรายงานเปิดเผยข้อมูลบางส่วนว่า ความขัดแย้งครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลข้อมูลเด็กนักเรียนในสถาบันที่ทำให้อีกฝ่ายเสียชื่อเสียง รวมถึงการใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม

ในตอนแรก พนักงานหนุ่มยอมไกล่เกลี่ย และตกลงยุติข้อพิพาทตามความช่วยเหลือของตำรวจ แต่เรื่องราวกลับไม่จบภายใน 2 เดือน ท่ามกลางความลำบากขัดสนของเขา เพราะถูกลดเงินเดือนจากนายจ้าง 

ท้ายที่สุด เสี่ยวคังตัดสินใจลาออกจากสถาบันกวดวิชา และยื่นฟ้องต่อศาลในเดือนสิงหาคม โดยอ้างว่า อดีตเจ้านายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตี และหลิวต้องขอโทษเขาต่อสาธารณชน พร้อมจ่ายค่าปรับ 1,000 หยวน สำหรับค่าจ้างที่หายไป รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่มีการลงรายละเอียดในหน้าสื่อ

ขณะเดียวกัน นายจ้างปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความไม่ใส่ใจในหน้าที่การงาน และทัศนคติที่ย่ำแย่ของอดีตพนักงาน อย่างไรก็ตาม ศาลตัดสินว่า เขาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกน้อง และข้อพิพาทสมควรยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยผ่านกฎหมายมากกว่าการใช้ถ้อยคำรุนแรง

หลิวจึงถูกศาลลงโทษให้ขอโทษผ่านสาธารณชนด้วยข้อความไม่ต่ำ 50 ตัวอักษรในภาษาจีน และจ่ายค่าเสียหายตามการฟ้องร้อง เพื่อชดเชยความบอบช้ำทางจิตใจของลูกน้อง

“เป้าหมายหลักของผมคือการได้รับคำขอโทษ การที่เขาโกหก ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับตำรวจทำให้ผมไม่มีความสุข แม้คำนวณในค่าเสียเวลาหรือมูลค่าทรัพย์สิน ผมอาจเป็นฝ่ายที่ไม่ได้อะไรเลย แต่ในเชิงศีลธรรม สิ่งที่ผมได้มาครั้งนี้ประเมินค่าไม่ได้เลย” เสี่ยวคังให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น

ความเห็นของสาธารณชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“การอู้งานสามารถลงโทษได้ตามกฎระเบียบและข้อบังคับของบริษัท แต่การใช้คำพูดรุนแรงโจมตีผู้อื่น ต้องได้รับบทลงโทษทางกฎหมาย” 

คอมเมนต์หนึ่งในโลกออนไลน์สนับสนุนการกระทำของเสี่ยวคัง  โดยระบุว่า เป็น ‘การปฏิรูปวัฒนธรรมการทำงานของ Gen Z’ ท่ามกลางเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสภาวะ ‘Work-Life Balance’ และต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานในรูปแบบเก่า ซึ่งสร้างความเป็นพิษให้กับคนในสังคม เพราะการกดขี่จากระบบอาวุโส และการบังคับให้ทำงานหนักเพื่อความสำเร็จของตนเองและประเทศชาติ

ทว่าสาธารณชนบางส่วนเกิดความกังวล โดยกลัวว่าเสี่ยวคังอาจจะได้รับผลกระทบจากองค์กรอื่นๆ ในจีนที่มีวัฒนธรรมการทำงานอันเป็นพิษที่คล้ายคลึงกัน

“ดูเหมือนว่า เสี่ยวคังจะชนะในตอนแรกก็จริง แต่ในอนาคต เขาจะต้องเผชิญค่าใช้จ่ายราคาสูงจากการกระทำดังกล่าว” ความคิดเห็นหนึ่งทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

อ้างอิง

https://www.forbes.com/sites/jackkelly/2021/01/12/chinas-toxic-work-culture-results-in-deaths-and-suicide/?sh=54c7b71673aa

https://www.scmp.com/news/people-culture/trending-china/article/3241078/china-gen-z-staffer-gets-apology-us14-payout-boss-over-slacker-slur-delighting-many-online-who-hail

Tags: , , , , , , , , ,