เมื่อวานนี้ (23 ตุลาคม 2023) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) รายงานถึงความคิดเห็นในหมู่สาธารณชนจีน หลังภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ‘When Marx Met Confucius’ หรือการพบกันระหว่าง คาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) กับขงจื๊อ ถูกฉายออกมาในหน้าสื่อ

When Marx Met Confucius ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์หูหนาน โดย กัว โมเรา (Guo Moruo) นักกวีผู้ยึดมั่นในลัทธิคอมมิวนิสม์ (Communism) เป็นผู้ประพันธ์ 

ทั้งนี้ บทละครดังกล่าวมีเนื้อหาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่าง คาร์ล มาร์กซ์ บิดาแห่งโลกสังคมนิยม กับขงจื๊อ นักปราชญ์ความคิดของจีน ในรูปแบบการตั้งคำถามแบบโสเครติส (Socrates) ขณะที่ก็ทิ้ง ‘ลูกเล่น’ ให้เรื่องราวไม่น่าเบื่อ ผ่านการนำเสนอด้วยการ์ตูน การแรป และดนตรีดั้งเดิม 

ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับตรารับรองจากประธานาธิบดี อีกทั้งผ่านการคัดกรองเนื้อหาในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party: CCP) ครั้งล่าสุด ซึ่งมี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำคนสำคัญของจีน เป็นประธาน 

อย่างไรก็ตาม การพบกันระหว่างมาร์กซ์กับขงจื๊อในครั้งนี้กลับสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนจีน เมื่อปรากฏเนื้อหาบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า สองนักปรัชญาสนับสนุนความคิดของอีกฝ่าย และเสนอให้รวมความคิดของพวกเขาเข้าด้วยกัน แม้ว่าในความเป็นจริง ความคิดของทั้งสองฝ่ายต่างกันอย่างสิ้นเชิง

มาร์กซ์: ผมอยู่จีนมานานกว่า 100 ปี ผมอยู่จีนมานานแล้วด้วยซ้ำ ปรัชญาของพวกเราทั้งสองคนควรรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเสถียรภาพ

ขงจื๊อ: ผมเห็นด้วย ผมหวังว่าเราจะบรรลุความสุขอันสูงส่งเพื่อมวลมนุษยชาติ”

บทละครส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องของมาร์กซ์และขงจื๊อในภาพยนตร์ โดยมีการเปรียบเปรยว่า แนวคิดสังคมนิยมคือจิตวิญญาณ ขณะที่ลัทธิขงจื๊อคือรากฐานของสังคม และทั้งสองความเชื่อต่างมีศัตรูร่วมกันคือ ‘คุณค่าสากล’ หรือแนวคิดจากโลกตะวันตก

ความคิดเห็นของสาธารณชนในโซเชียลมีเดียจีน

“มันน่าเบื่อมาก” แอ็กเคานต์ @Your_Ah_Q_Spiritual_Victory_Method แสดงความคิดเห็น ก่อนที่คอมเมนต์หนึ่งจะตอบกลับว่า “ฉันเห็นแต่การกดขี่ในเนื้อเรื่อง”

“ฉันไปดูรายการ In the Night Garden ดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่ถูกบั่นทอนสติปัญญา” แอ็กเคานต์ @Captive_snail_003 เปรียบเทียบรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กสัญชาติอังกฤษกับภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ

“เมื่อประวัติศาสตร์เกิดขึ้นครั้งแรก ส่วนใหญ่มักเป็นโศกนาฏกรรม แต่หากซ้ำรอยครั้งที่สอง นั่นเป็นเรื่องตลก ฉันหวังว่าเรื่องตลกเช่นนี้ควรยุติลงได้แล้ว” แอ็กเคานต์ @absolute_zero_9 แสดงความคิดเห็น

“#WhenMarxMeetConfucius ทำให้ฉันเห็นว่า วรรณกรรมและงานศิลปะร่วมสมัยมันเห่ยขนาดไหน” @10_hours_of_charging ตัดพ้อ

“ถ้าฉันจำไม่ผิด คนที่เชื่อในมาร์กซ์เมื่อหลายทศวรรษก่อน เป็นฝ่ายทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับขงจื๊อไม่ใช่หรือ” ยูสเซอร์เนม Phuket New Forest อธิบาย โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ (Cultural Revolution) ในปี 1966-1976 เมื่อชนชั้นนำที่สมาทานแนวคิดมาร์กซิสม์ในเวลาดังกล่าว กวาดล้างความเชื่อเก่าแก่ภายใต้แนวคิดขงจื๊อ เพราะเชื่อว่าเป็น ‘กับดัก’ ที่ทำให้สังคมจีนไม่พัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่

“แต่ฉันก็จะดูต่อไปนะ หมายถึง ‘การพบระหว่างพระเยซูกับหง ซิ่วเฉวียน’ (When Jesus met Hong Xiuquan)” คอมเมนต์หนึ่งทิ้งท้ายอย่างติดตลก โดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงในหน้าประวัติศาสตร์จีน เมื่อ หง ซิ่วเฉวียน หัวหน้ากบฏไท่ผิง (Taiping Rebellion) ผู้พยายามโค่นล้มราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) อ้างตนว่า เขาเป็นน้องชายของพระเยซู

นอกจากการตำหนิคุณภาพงานของภาพยนตร์เรื่องนี้ สาธารณชนยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อื่นๆ ในทางทฤษฏีว่า ขงจื๊อเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่และชนชั้น ขณะที่มาร์กซ์พูดถึงเรื่องความเท่าเทียมและการปลดแอก บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า ในความเป็นจริง ขงจื๊อคงไม่ยอมกินข้าวกับภรรยาและลูกของมาร์กซ์อย่างเท่าเทียมแน่นอน

จาก ‘การพบกันระหว่างมาร์กซ์กับขงจื๊อ’ สู่แนวคิดทางวัฒนธรรมของ สี จิ้นผิง

“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าขงจื๊อตัวปลอมเห็นด้วยกับมาร์กซ์ หรือแม้แต่ทั้งมาร์กซ์และขงจื๊อ เห็นด้วยกับสี จิ้นผิง” โจว เคซิน (Zhou Kexin) นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นในบิตเทอร์วินเทอร์แม็กกาซีน (Bitter Winter Magazine) 

เขาเผยว่า นี่คือหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลจีนที่ ‘คลุมถุงชน’ แนวคิดมาร์กซิสม์และลัทธิขงจื๊อเข้าด้วยกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ขณะที่ สี จิ้นผิงก็ต้องการสร้างแนวคิดที่ต่างจากโลกตะวันตก ผ่านการปลุกปั้น ‘แนวคิดสังคมนิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน’ (Socialism with Chinese Characteristics) ด้วยการผสมกลมกลืนแนวคิดสังคมนิยมและความเชื่อดั้งเดิมของจีน

ทั้งหมดนี้สะท้อนได้จากเนื้อเรื่องที่มีคำว่า ‘การทำลายล้างประวัติศาสตร์’ (Historical Nihilism) ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์นิยมใช้คำศัพท์ดังกล่าวในการโจมตีกลุ่มอื่นๆ (ชาติตะวันตก) ที่ตีความประวัติศาสตร์และตัดสินเรื่องราวของจีน แตกต่างจากวาทกรรมหลักของชาติด้วยการมองผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก หรือกรอบสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของสี จิ้นผิง นั่นคือ ‘ภารกิจทางวัฒนธรรม’ หลังผู้นำจีนได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในการประชุมแห่งชาติครั้งล่าสุดในวันที่ 7-8 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในชาติ ขณะที่เชิดชูอุดมการณ์สังคมนิยมยุคใหม่ เพื่อทำให้จีนกลับไปสู่ยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

ตามรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) มีการเปิดเผยว่า รัฐบาลจีนจะใช้ ‘การทูตสื่อ’ (Media Diplomacy) เพื่อเอาชนะใจผู้คนในประเทศ และนานาชาติ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเพิ่มเติม

“สี จิ้นผิงต้องการผูกลัทธิมาร์กซิสม์เข้ากับค่านิยมดั้งเดิมกับจีนเพื่อให้ได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนมากขึ้น ขณะที่พยายามกำจัดความคิดของตะวันตกจากประชาชน (…)” เติ้ง อู่เวิน (Deng Yuwen) แสดงความคิดเห็นกับเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ โดยเสริมว่า สี จิ้นผิง มีท่าทีก้าวร้าวขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ อย่างชัดเจน

อ้างอิง

https://www.scmp.com/news/china/politics/article/3237821/china-officials-hasten-implement-xis-doctrine-culture-and-propaganda

https://www.rfa.org/english/news/china/china-marx-confucius-10232023200659.html

https://bitterwinter.org/Vocabulary/xi-jinping/

http://english.scio.gov.cn/topnews/2023-10/11/content_116737031.htm

Tags: , , , , , ,