เมื่อวานนี้ (19 กันยายน 2567) KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรออกบทวิเคราะห์ ‘เมื่อสินค้าจีนบุก ไทยเตรียมรับมืออย่างไร’ ชี้ให้เห็นแนวโน้มการเข้ามาของสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในมุมมองของการขาดดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
KKP Research ระบุปัจจัยที่เร่งให้สินค้าจากจีนเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วคือ พัฒนาการของแพลตฟอร์ม E-commerce จีน ที่มีการขยายธุรกิจส่งออกข้ามประเทศ ซึ่งเติบโตมากถึง 15% ในปี 2564 ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนชะลอตัวลง ทำให้ต้องหันมาพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยใช้กลยุทธ์ส่งออกสินค้าคงคลังที่ผลิตเหลือไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรมีสัดส่วนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น
นอกจากนั้น ปัจจัยภายในของไทยก็มีส่วนในการดึงดูดสินค้าจากจีนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น การคิดอัตราภาษีระดับต่ำ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)
KKP Research ยังประเมินอีกว่า พัฒนาการของการค้าระหว่างไทยกับจีนสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่
- กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่ส่งผลต่อการขาดดุลมากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นสินค้าที่ซื้อได้ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce
- กลุ่มสินค้าเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากเดิมที่ไทยเคยเกินดุลการค้าจากการส่งออกฮาร์ดดิสก์จำนวนมาก แต่ภายหลังเมื่อสินค้าประเภทเครื่องจักรจากจีนเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ แล็บท็อป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ดุลการค้าลดลง ซึ่งสะท้อนว่า ไทยเริ่มมีปัญหาด้านการแข่งขันกับสินค้าจีนมากขึ้น
- กลุ่มสินค้ายานยนต์ เริ่มเห็นความเสี่ยงในอนาคตจากประเภทยานยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภท ขณะเดียวกันดุลการค้าในรถยนต์สำเร็จรูปก็เริ่มลดลงอย่างชัดเจน
- กลุ่มเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม พบว่า มีการขาดดุลกับจีนมากขึ้นทุกปี สาเหตุจากกำลังการผลิตที่เกินความต้องการภายในจีน ทำให้ผู้ผลิตจีนต้องระบายสินค้ามายังประเทศอื่น ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ด้วยราคาที่ถูกกว่าจึงทำให้ผู้ผลิตในไทยแข่งขันไม่ได้และต้องลดกำลังการผลิตลง
- กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก เปลี่ยนจากเกินดุลการค้าเป็นขาดดุลการค้า สาเหตุมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีและการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของจีน จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่น
ในบทวิเคราะห์ยังระบุเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในไทยหลายกลุ่มต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากผู้ผลิตจีน เพราะไม่สามารถรู้ราคากับสินค้าจีนได้ จึงจำเป็นต้องปิดโรงงานผลิตไป และผู้ประกอบการรายเล็กและกลาง (SMEs) หลายรายหันมานำเข้าสินค้าจากจีน ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวลคือ การเข้ามาบุกตลาดไทยโดยตรงของผู้ผลิตจีนผ่านแพลตฟอร์มของจีนเอง ทำให้ผู้ค้าคนกลางของไทยถูกตัดออกจากรูปแบบธุรกิจนี้ ไม่สามารถซื้อของมาขายโดยตรงได้
ขณะเดียวกัน เงินที่ผู้บริโภคจ่ายสินค้าให้กับแพลตฟอร์มต่างชาติ จะออกไปยังผู้รับค่าสินค้าในต่างประเทศโดยตรง ไม่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาครัฐไม่อาจเก็บภาษีจากการทำธุรกิจที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศได้
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจไทยมีอย่างน้อย 5 ด้าน ประกอบด้วย
- รายได้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และแรงงานไทยตกต่ำ โดยการเติบโตของรายได้ของภาคอุตสาหกรรมไทยที่วัดจากมูลค่าจีดีพี (GDP) ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.5% ในปี 2558-2562 เหลือเพียง 1% ในปี 2565-2567
- หนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขการปิดตัวของโรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2567 ที่ปิดไปแล้วกว่า 852 แห่ง
- ดุลการค้ามีแนวโน้มขาดดุลในระยะยาว ในช่วงปี 2558-2562 ดุลการค้าไทยเคยเกินดุลที่ 5-8% ของ GDP ขณะที่ดุลการค้าในช่วงหลังลดลง มีขนาดการเกินดุลเพียง 1-2% ทั้งจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย
- เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศที่ลดลง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูกกว่าจากจีน
- รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษี รายได้ไม่หมุนเวียนในประเทศ เนื่องจากการชำระเงินให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ ถูกจ่ายตรงไปยังธุรกิจในต่างประเทศ ทำให้รายได้ไม่หมุนเวียนในประเทศ และธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศ จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้
อย่างไรก็ตาม KKP Research เสนอวิธีการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องกีดกันสินค้าจากจีนในวงกว้าง เพราะไทยยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง กรณีของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยเพิ่มกฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น และการปราบปรามการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อจัดการและป้องกันสินค้าหลบเลี่ยงภาษี การกำหนดโควตานำเข้าเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศปรับตัวต่อการแข่งขัน และออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับ E-commerce โดยสั่งห้ามการทำธุรกรรมการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม หากต้องการทำธุรกรรมต้องเข้ามาจดทะเบียนในประเทศและใบอนุญาตพิเศษสำหรับ E-commerce
“เราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาดังกล่าวถูกเร่งให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการไทยรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน อย่างที่ผู้ประกอบการไทยไม่ทันตั้งตัว
“หากมองวิกฤตการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนให้เป็นโอกาส ก็นับว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต สร้างนวัตกรรมไปแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อการอยู่รอด โดยภาครัฐต้องสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็จะช่วยให้ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน” KKP Research ระบุ
Tags: เศรษฐกิจ, จีน, ไทย, สินค้านำเข้า, KKP, Ecommerce, การแข่งขัน