วันนี้ (12 กันยายน 2566) ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายนโยบายทางด้านการเมือง หลังคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ว่าไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรม ไร้เป้าหมาย พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เกรงใจพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐประหาร จนไม่กล้าแม้แต่จะพูดคำว่า ‘รัฐประหาร’ ออกมาในคำแถลงนโยบาย

เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า นอกจากนโยบายทางการเมืองจะมีความสำคัญในการกำหนดรูปธรรม เป็นเป้าหมายและตัวชี้วัดว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจ คือนโยบายดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมือง และความสัมพันธ์ทางอำนาจของรัฐบาลแต่ละชุดได้ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มองปัญหาทางการเมืองและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร

ชัยธวัชจำแนกนโยบายทางด้านการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่ออกเป็น 7 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการดำเนินงานของประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง

2. การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์

3. รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ

4. รัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ CEO)

5. รัฐบาลจะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย

6. รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

7. พัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน ดังนี้ 1) เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ 2) ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์ 3) ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ 4) ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต และ 5) นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“นโยบายข้อแรกเลย ผมกำลังสงสัยว่าการที่ท่านนายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นแรกนั้นรัฐบาลกำลังส่งสัญญาณอะไร รัฐบาลกำลังจะบอกว่าปัญหาทางการเมืองที่สำคัญมากขณะนี้ คือสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกคุกคามจนกลายเป็นประเด็นสำคัญ และภารกิจแรกที่นายกฯ กล่าวถึงในนโยบายฉบับนี้ใช่หรือไม่?

“ขณะที่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ถูกกล่าวถึงเลย คือเพื่อนสมาชิกหลายพรรคที่ผ่านการรัฐประหารมาสองครั้ง ต่างทราบดีว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปี เรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือปัญหาการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องนี้ไม่ถูกนำมาพูดถึงเลย ไม่ต้องพูดถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนย่ำแย่ลง ไม่ต้องพูดถึงมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหลายฉบับที่หมิ่นเหม่จะไปกระทบกับหลักการปกเกล้าไม่ปกครองในสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเสี่ยงทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะได้

“ถ้าผมปิดตาฟังในพารากราฟแรกว่ารัฐบาลจะทำอะไร ผมนึกว่านี่เป็นคำแถลงของรัฐบาลประยุทธ์ 3” เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่า

ในประเด็นที่สองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ชัยธวัชตั้งคำถามว่า สิ่งที่เคยกล่าวว่าในการประชุม ครม.นัดแรกจะมีการพิจารณาให้จัดลงประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีแล้วใช่หรือไม่ พร้อมกล่าวถึงนโยบายข้อที่สามในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องการทำคืออะไรกันแน่ เพราะไม่มีการพูดถึงประชาชนเป็นเป้าหมายหลักแม้แต่ครั้งเดียว เช่น กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย สิทธิประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองเท่ากัน

“นโยบายกองทัพสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องการรัฐประหาร เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย กองทัพกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบอบอำนาจนิยมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่แก้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร การปฏิรูปการเมืองที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้ไม่มีหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย

“สังคมไทยเคยพลาดโอกาสสำคัญในการปฏิรูปกองทัพมาแล้วหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 เพราะตอนนั้นเราต่างคิดว่าเมื่อทหารที่ลุกขึ้นมาทำการรัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากองทัพไปแล้ว กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างไม่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด แต่มาถึงวันนี้เราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่าความคิดนั้นผิด

“อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่ายินดีครับว่า ในรัฐบาลชุดนี้เรามีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกรัฐมนตรี นี่หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่พลเรือนกำลังจะอยู่เหนือกองทัพใช่หรือไม่ หรือเอาเข้าจริงแล้ว การส่งพลเรือนมานั่งกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ จะกลายเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่า รัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง จะไม่แตะกองทัพ นโยบายการทหาร นโยบายความมั่นคงจะคงอยู่ในมือกองทัพรวมถึงเครือข่ายของคณะรัฐประหารต่อไป”

ชัยธวัชอธิบายต่อว่า ทำไมเขาถึงตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะเมื่อตอนหาเสียงแกนนำพรรคจัดตั้งรัฐบาลเคยกล่าวไว้ว่า มีนโยบายปฏิรูปกองทัพ นอกจากนี้เลขาธิการพรรคก้าวไกลยังตามไปดูเอกสารที่พรรคเพื่อไทยเคยส่งให้ กกต.ซึ่งมีเนื้อหาว่า “จะปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เข้ารับราชการโดยสมัครใจ

“ปรากฏว่าพอตอนแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวานนี้ ความมุ่งมั่นชัดเจนของแกนนำรัฐบาลหายไปไหน จากปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการ เปลี่ยนเป็นร่วมกันพัฒนากองทัพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หากจะเสนอการแก้ไขกฎหมายป้องกันการต่อต้านรัฐประหารหายไปเลย ไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่ารัฐประหารสักคำในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกหลังการรัฐประหารปี 2557”

“ทำไมหรือครับ คำว่ารัฐประหารมันน่าแสลงใจมากจนพูดถึงกันไม่ได้หรือครับ หรือนายกฯ เศรษฐาและรัฐบาลชุดนี้เกรงใจพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยหรือครับ”

นอกจากนี้ ชัยธวัชยังตั้งคำถามทิ้งท้ายด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า จะยกเลิกเกณฑ์ทหารจริงหรือไม่ เพราะการเลิกกับการลดสองสิ่งนี้ต่างกัน “ถ้านโยบายคือการลดการเกณฑ์ทหารเท่านั้น ผมก็สงสัยว่านโยบายนี้มีอะไรใหม่ เพราะต่อให้ไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ทุกวันนี้ กองทัพก็ดำเนินการเรืองนี้มาอยู่แล้ว”