วันนี้ (20 กรกฎาคม 2565) ที่มูลนิธิกระจกเงา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งภายหลังจากเยี่ยมชมการทำงานของมูลนิธิกระจกเงาว่า ไม่นึกว่ามูลนิธิกระจกเงาจะใหญ่โตขนาดนี้ และคิดว่าการจัดการของมูลนิธิกระจกเงาถือเป็นพลังของภาคประชาสังคม เพราะหาก กทม.ทำงานเพียงฝ่ายเดียว คงไม่ได้มีกำลังขนาดนี้
ทั้งนี้ การเข้าเยี่ยมชมมูลนิธิกระจกเงาทำให้ได้เห็นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ การรีไซเคิลขยะ การนำแรงงานผู้สูงอายุมาทำงานเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ชีวิต ไม่ให้อยู่แบบติดบ้าน ติดเตียง อีกทั้งยังมีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้สูงอายุ และพบว่าการบริหารจัดการหลายอย่างสุดยอดจนภาครัฐตามไม่ทัน
“การจัดการขยะให้เป็นรายได้ของ กทม. ขยะคือรายจ่าย แต่ของมูลนิธิกระจกเงา ขยะคือรายได้ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากพี่หนู” (หนูหริ่ง — สมบัติ บุญงามอนงค์)
ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาในส่วนของคนไร้บ้าน คนจนเมือง ผู้สูงอายุ ยังได้มองเห็นปัญหาเรื่องการบริโภคของเมือง ที่มีการซื้อเสื้อผ้า แล้วในที่สุดก็ไม่มีที่ไป ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาก็ทำโครงการให้มีการบริจาคเสื้อผ้ากลับคืน เป็นการแบ่งปัน
“ผมคิดว่าคำสำคัญคือเมืองแบ่งปัน การแก้ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน ไม่ใช่แค่เอาเงินไปให้ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ และถมเท่าไรก็ไม่เต็ม หากแต่ต้องสร้างงานที่มีศักดิ์ศรี ตลาดต้องการ มีคุณค่ากับตลาด แล้วเราอาจจะมีเทรนนิงเพิ่ม เช่น นวดแผนไทย ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ ชัชชาติทิ้งท้ายว่า การร่วมมือกันของภาคประชาสังคมจะทำให้เกิดพลังบวกในการสร้างงานในพื้นที่ และหากฝ่ายรัฐร่วมกับภาคประชาสังคมได้ก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้น
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.กับมูลนิธิกระจกเงาได้ทำงานร่วมกันหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในสวน หรือโครงการจ้างวานข้าของมูลนิธิกระจกเงาก็เข้ามาช่วยทำความสะอาดในงาน ‘กรุงเทพกลางแปลง’
“สิ่งที่เราอยากทำต่อ คือทำโมเดลการเรียนรู้ร่วมกัน ในการเปิด ‘บ้านอิ่มใจ’ สำหรับคนไร้บ้านขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่เพิ่มสวัสดิการ ทั้งนี้ แต่เดิม บ้านอิ่มใจต้องนอนค้างคืนก่อนถึงจะได้สวัสดิการ แต่เรากลับหัวกลับหางโดยการให้สวัสดิการก่อน ให้งาน ให้สังคม ให้อาบน้ำ มีที่นอนด้วย รวมถึงการแยกขยะ ซึ่งโดยปกติ กทม.จะมีการจ้างงานหลายส่วน เช่น การแยกขยะ ซึ่งถ้าเราจ้างในส่วนนี้ จ้างงานให้คนไร้บ้าน ถ้าได้ 4 วันก็ทำให้เขาหลุดออกระบบ ถ้าเข้ามามีบ้าน มีสวัสดิการ ก็เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
ด้าน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า มูลนิธิกระจกเงาถือเป็นภาคประชาสังคม เป็นศูนย์หน้าในการปะทะปัญหา และประชาชนจำนวนมากต้องติดต่อขอความช่วยเหลือ ทำให้ได้เห็นสภาพปัญหา ทั้งเรื่องคนไร้บ้าน คนจนเมือง และสังคมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ สมบัติเสนอแนะไปยัง กทม.ว่า ควรต้องมีการกันงานบางส่วน และออกแบบงานบางประเภทให้กับผู้สูงอายุที่เป็นคนจนและต้องการทำงาน โดยถ้าไม่กันเรื่องเหล่านี้ไว้ คนเหล่านี้อยู่ที่บ้าน จะอาจสูญเสียการพึ่งพาตัวเองเรื่องเศรษฐกิจ
“ถ้าเอางานมาแก้ปัญหา เอางานติดตัวมาด้วย ก็จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ผมเชื่อว่า ถ้าผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน มาช่วยสังคมแยกขยะ การจัดการพลาสติก การจัดการกระดาษ การจัดการสิ่งของ จะจ้างงานได้มหาศาล เปลี่ยนภาระกลายเป็นพลัง ขับเคลื่อนสังคม”
สำหรับมูลนิธิกระจกเงา เปิดรับสมัครทั้งในส่วนของอาสาสมัครและจ้างงานผู้สูงอายุ โดยหากผู้สูงอายุทำงานเต็มวัน จะได้ค่าตอบแทน 500 บาทต่อวัน หากทำงาน 6-7 ชั่วโมง และหากทำงานกับพนักงานเขต กับสำนักงานเขตต่างๆ ของ กทม.ราว 4 ชั่วโมง จะได้ประมาณ 400 บาท โดยเหตุที่เป็น 400 บาท เพราะได้ศึกษามาแล้วว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้นไม่สามารถอยู่ได้จริง และหากคนกลุ่มนี้สามารถทำงานได้เกินสัปดาห์ละ 4 วัน จะสามารถเช่าบ้านอยู่ได้ ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้ในที่สุด
Tags: สมบัติ บุญงามอนงค์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, มูลนิธิกระจกเงา