วันนี้ (16 เมษายน 2565) หลังจากการหาเสียงที่ตลาดใหม่ทุ่งครุ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงกรณีถูกกล่าวหาว่า ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกใบอนุญาตการบินให้สายการบินเอกชนกว่า 40 ราย โดยไม่ตรวจสอบคุณภาพ จนทำให้ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ปักธงแดง ให้ประเทศไทยไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในปี 2558

ชัชชาติชี้แจงว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการบินในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยระหว่างปี 2551–2562 ผู้โดยสารจากการเดินทางทางอากาศเพิ่มจาก 58 ล้านคน เป็นกว่า 120 ล้านคน และเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจการบินเติบโตทั่วโลก ทั้งนี้ การออกใบประกาศอนุญาตสายการบิน มีอยู่ 2 ใบ ใบแรกคือ Air Operating License หรือ AOL ให้สายการบินขึ้นทะเบียนว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดไหม โดยกฎหมายประกาศชัดเจนว่า หากบินแบบประจำ ต้องมีทุนจดทะเบียนเท่าไร มีเส้นทางในประเทศ สายรองอย่างไร ผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร มีกรรมการพิจารณา มีอธิบดีกรมการบินพลเรือน รองอธิบดีกรมการบินพลเรือนฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง และคนนอกสองคน ผู้เชี่ยวชาญ เป็นกรรมการพิจารณา ซึ่งหากถูกต้องตามกฎหมาย ก็ส่งให้รัฐมนตรีอนุมัติ ซึ่งการอนุมัติเป็นไปตามข้อกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่การให้โควตา แต่เป็นการขึ้นทะเบียน ถ้าเป็นไปตามคุณสมบัติทั้งหมด และเป็นไปตามกฎหมาย หากรัฐมนตรีไม่อนุมัติก็มีความผิด

“ถามว่าทำไมช่วงนั้นอนุมัติเยอะ ยืนยันว่าไม่ได้เยอะ เพราะเป็นไปตามความต้องการตลาด เพราะผู้โดยสารเยอะขึ้น โลว์คอสต์แอร์ไลน์ก็มากขึ้น และไม่ได้เป็นการอนุมัติสายการบินประจำอย่างเดียว แต่มีทั้งสายการบินเช่าเหมาลำ ใบอนุญาตเฮลิคอปเตอร์ การต่อใบอนุญาตเดิม ที่ได้อนุมัติไปก็เป็นไปตามหลักการ มีกรรมการกลั่นกรอง ไม่ได้คิดเอง ถ้าเกิดไม่ทำ ก็มีความผิด เพราะทั้งหมด มีระเบียบกำกับไว้”

อย่างไรก็ตาม หากได้ใบ AOL เป็นใบแรก ก็ยังไม่สามารถขึ้นบินได้ สายการบินยังต้องขออนุมัติใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate: AOC) เป็นใบที่สอง เพื่อพิจารณาเรื่องความปลอดภัย สำหรับ AOC ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนของกระทรวงฯ แล้ว แต่เป็นขั้นตอนของกรมการบินพลเรือน ซึ่งมีอธิบดีกรมการบินพลเรือนเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งผู้ที่ได้ใบ AOL เป็นใบแรก แต่ไม่ได้ใบ AOC เป็นใบที่สอง ก็มีจำนวนมาก เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งในส่วนของใบที่สองนั้น กระทรวงคมนาคมไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องที่กรมการบินพลเรือนเป็นผู้พิจารณา

ชัชชาติกล่าวอีกว่า สำหรับ AOC นั้น เป็นเรื่องที่ ICAO เป็นผู้พิจารณามาตรฐานโดยตรง โดยในปี 2554 นั้นไม่มีปัญหา และก็ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจาก ICAO ว่าจะมีการตรวจสอบ แต่ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือนแจ้งว่าพร้อมสำหรับการตรวจสอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น มีการยุบสภา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างปลายปี 2556–2557 และเกิดการรัฐประหารหลังจากนั้น ตนต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 กระทั่งในปี 2558 ICAO ได้เปลี่ยนวิธีการตรวจเข้มข้นขึ้น ซึ่งกรมการบินพลเรือนอาจไม่ได้รองรับหรือเตรียมเรื่องการตรวจใหม่ จึงทำให้เกิดปัญหา

“สรุปก็คือ AOL ปฏิบัติตามกฎรอบแรก เป็นไปตามตลาดที่เติบโตมากขึ้น ส่วน AOC เป็นเรื่องของกรมการบินพลเรือน เป็นข้อที่ ICAO ติงปี 2558 ต้องปรับปรุง อันนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต เป็นเรื่องทำตามระเบียบ ถ้าทุจริต คงไม่อยู่จนถึงวันนี้ ผมคงโดนไปนานแล้ว”

ชัชชาติยังกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์อย่างมากจากตลาดการบิน และการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้น โดยมีสนามบินนับสิบแห่งที่ไม่เคยมีเครื่องบินมาลง แต่เมื่ออนุมัติสายการบินเพิ่ม มีการบินสายรอง ก็มีการใช้งานสนามบินเพิ่มขึ้น เช่น สนามบินสกลนคร ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ไม่เคยนั่งเครื่องบิน ก็ได้นั่งเครื่องบิน เพราะตั๋วเครื่องบินมีราคาถูกลง มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น และตลาดการบินใหญ่ขึ้น มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นถึง 280 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมาจากการอนุมัติสายการบิน

ส่วนปัญหาในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหลายคนวิเคราะห์ว่าขาดทุนจากการอนุมัติสายการบินให้เปิดใหม่อย่างรวดเร็วนั้น ชัชชาติยืนยันว่า อันที่จริงแล้ว เรื่องดังกล่าว การบินไทยควรจะได้ประโยชน์ เพราะตลาดใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาของการบินไทยนั้นเริ่มประสบปัญหาขาดทุนตั้งแต่ปี 2551 ไม่ได้มีปัญหาจากการออกใบอนุญาตเหล่านี้

“หลายท่านที่กรุณาให้ความเห็นก็คงหวังดี แต่ไม่ได้เข้าใจรายละเอียดมาก ผมยืนยันว่าไม่มีเรื่องทุจริต ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ มีกรรมการกลั่นกรองตามขั้นตอน ถ้าเขาผ่าน ก็ให้ ถ้าไม่ให้ อาจโดนกล่าวหาว่ามีนอกมีในด้วยซ้ำ”

ทั้งนี้ ประเทศไทย ถูก ICAO ปักธงแดงการบิน ทำให้สายการบินในไทยไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่ได้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพบข้อบกพร่องมากกว่า 572 ข้อ และมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย 33 ข้อ โดยต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี ไทยถึงจะสามารถปลดธงแดงได้สำเร็จในวันที่ 6 ตุลาคม 2560

Tags: , , ,