กระแส ‘การคลอดลูกที่บ้าน’ (Home Birth) กำลังเป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ เพราะการคลอดลูกในโรงพยาบาลสำหรับบางครอบครัว ถือเป็นเรื่องวุ่นวาย มีค่าใช้จ่ายที่สูง รวมถึงไม่อิสระ 

แต่การคลอดลูกที่บ้านต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่แพทย์อนุโลม เช่น แม่ของเด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีอัตราการแท้งต่ำ ไม่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อนใดๆ การคลอดลูกที่บ้านจึงกลายเป็นตัวเลือกของบางครอบครัวไปโดยปริยาย เพราะความสะดวกสบายและได้ใช้เวลากับคนรักอย่างใกล้ชิด

ใครจะรู้ว่าการคลอดลูกที่บ้านจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนเป็นคดีความ เมื่อเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า เคลซีย์ คาร์เพนเตอร์ (Kelsey Carpenter) หญิงสาวชาวแคลิฟอร์เนียถูกจำคุกด้วยข้อหา ‘ฆาตกรรม’ และ ‘ทำอันตรายต่อเด็ก’ (Child Endangerment) หลังจากเคียร่า (Kiera) ลูกคนที่ 3 เสียชีวิตระหว่างการคลอดที่บ้านในปี 2020

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอคลอดลูกที่บ้าน เพราะลูก 2 คนก่อนหน้าก็ถือกำเนิดด้วยวิธีเช่นเดียวกัน เธอเตรียมตัวสำหรับการคลอดลูกครั้งนี้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่ซื้อหนังสือเกี่ยวกับการทำคลอดที่บ้าน และซื้อข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็ก รวมถึงติดต่อพยาบาลผดุงครรภ์ หากแต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น น้ำคร่ำของเคลซีย์แตกก่อนกำหนด 2 สัปดาห์ เธอจึงต้องคลอดลูก ตัดสายสะดือเอง พยายามให้นมลูก แต่ด้วยสภาวะเสียเลือดเป็นจำนวนมากทำให้เธอสลบไประหว่างนั้น 

ฝันร้ายของคนเป็นแม่ได้เดินทางมาถึง เมื่อเธอตื่นขึ้นมาพบว่า เคียร่าไม่หายใจแล้ว แม้ว่าจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำ CPR เพื่อช่วยชีวิตก็ตาม เคลซีย์จึงแจ้งตำรวจในเมืองซานดิเอโก้ (San Diego) แต่ทันทีได้รับแจ้งเหตุ เธอกลับถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมด้วยความอาฆาตมาดร้าย การทำให้เด็กเป็นอันตราย การทำคลอดเองโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการใช้ยาเสพติด และหากเธอยอมรับข้อกล่าวหาทั้งหมด จะมีโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

ความเห็นที่แตกเป็นสองฝ่าย: หลักฐานทางการแพทย์ของรัฐ VS ผู้เชี่ยวชาญ

จากการสอบสวน หลักฐานทางการแพทย์ชี้ว่า การเสียชีวิตของเด็กเป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารแมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และบูพรีนอร์ฟีน (Buprenorphine) 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale) เห็นต่างว่า ลูกของเคลซีย์เสียชีวิตในช่วงก่อนการเสียเลือดหรือระหว่างการคลอด และไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการใช้สารเสพติดดังกล่าวเกี่ยวข้อง

รวมถึงบูพรีนนอร์ฟีน คือสารได้รับการอนุญาตโดยสมาคมการแพทย์ชั้นนำและหน่วยงานด้านสุขภาพ สำหรับใช้ในกลุ่มคนตั้งครรภ์ที่เคยมีอาการติดยากลุ่มฝิ่น เคย์ซีย์ยอมรับว่า เคยมีประวัติการใช้ยาเสพติดในอดีต ซึ่งนั่นมาจากความต้องการเบี่ยงเบนความเจ็บปวดทางจิตใจ เพราะเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก

เมื่อคนเป็นแม่ที่สูญเสียลูกอย่างไม่ตั้งใจกลายเป็น ‘ฆาตกรติดยาที่ฆ่าลูก’ ในหน้าสื่อพิมพ์

แม้ว่าเคลซีย์จะได้รับการปล่อยตัวในตอนแรก แต่อัยการประจำเขตซานดิเอโก้ก็ตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อเธอ ในขณะที่สื่อพิมพ์ท้องถิ่นเริ่มพาดหัวข่าวว่า ‘คนติดยาสูญเสียลูกคนที่ 3’ จากลำพังที่ต้องรับมือสภาพบอบช้ำทางจิตใจจากการสูญเสีย เธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางโลกออนไลน์และในชีวิตจริง เช่น มีคนฉีดสเปรย์บนรถของเธอเป็นข้อความว่า ‘อีฆาตกรฆ่าเด็ก’ 

มากกว่านั้น เธอยังจมอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยความเครียดและความโศกเศร้า เธอเล่าว่า “ก่อนที่จะถูกจำคุก ฉันนอนกับเถ้ากระดูกของเคียร่าทุกคืนและเล่าความหวังของฉันทั้งหมดให้เขาฟัง เธอได้ความรักของฉันไป แม้จะเป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็ตาม แต่ฉันคิดถึงเธอมาก

“ฉันยังตกตะลึงและหวาดกลัวกับโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต อย่างการสูญเสียลูกอันเป็นที่รักและที่ต้องการ รวมถึงการถูกตั้งข้อหาเหล่านี้ด้วย… ฉันมีความคิดจะอุ้มชูเด็กคนนี้มาตลอด และอยากเป็นแม่ที่ดี ฉันเสียใจต่อการจากไปของเคียร่ามาตลอด” เคลซีย์แสดงความรู้สึก

‘การสูญเสียลูกแบบไม่ตั้งใจ’ สู่ ‘ข้อถกเถียงการทำแท้ง’: มองกระแส Pro-Life VS Pro-Choice ในสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าศาลสูงสุดของแคลิฟอร์เนียออกคำสั่ง ‘AB2223’ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า “บุคคลใดก็ตามจะไม่สามารถถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการทำแท้งโดยตั้งใจ การแท้งโดยบังเอิญ การตายระหว่างคลอด หรือการเสียชีวิตของเด็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิด” รวมถึงทนายของเคลซีย์พยายามอ้างกฎหมายดังกล่าวเพื่อยกฟ้องในคดีนี้

แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมก็เต็มไปด้วยความคิดเห็นว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ หลังจากศาลสูงสุดของสหรัฐฯ (The Supreme Court) ตัดสินให้คดี ‘Roe v Wade’ หรือการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายเป็นโมฆะไป ผู้หญิงทั่วสหรัฐฯ จึงตกเป้าหมายของรัฐเรื่องการเฝ้าระวังเรื่องการทำแท้ง ซึ่งรวมไปถึงการกระทำอื่นๆ ที่ตำรวจอ้างว่า ‘เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์’ ด้วย

ไม่เพียงเคลซีย์คนเดียวที่พบเจอสถานการณ์นี้ แต่ผู้หญิงคนอื่นๆ นับตั้งแต่วัยรุ่นชาวเนแบรสกา (Nebraska) และแม่ของเธอถูกตั้ง ‘ข้อหาทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย’ และ ‘ปกปิดการตายของบุคคลอื่น’ หลังจากเธอถูกกล่าวหาว่าได้รับยาเพื่อทำแท้ง รวมถึงหญิงสาวในเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) ถูกดำเนินคดี หลังจากลูกของเธอเสียชีวิตระหว่างการคลอด หรือแม้แต่การจับกุมตัวหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งในอลาบามา (Alabama) เพราะมีกัญชาไว้ในครอบครอง

“มันเป็นความคิดของคนอเมริกันว่า เราสามารถแก้ไขปัญหาสังคมทั้งหมด ด้วยการขังใครสักคนไว้ในคุกหรือเรือนจำ โดยเชื่อว่านั่นเป็นหนทางตอบสนองปัญหาด้านสุขภาพจิต ความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด หรือการไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้” ดานา ซัสแมน (Dana Sussman) รักษาการผู้อำนวยการบริหารของกลุ่ม Pregnancy Justice ผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับเคย์ซีย์ อธิบาย

เรื่องราวของคาร์เพนเตอร์ในครั้งนี้จึงมากกว่าความเข้าใจผิดของผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ยังสะท้อนความตกต่ำเรื่องสิทธิสตรีในสหรัฐฯ ที่พยายามแสดงตัวตนต่อประชาคมโลกว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพ’ อีกด้วย 

 

อ้างอิง:

https://www.parents.com/pregnancy/giving-birth/home/home-birth-facts/

https://www.independent.co.uk/news/world/americas/crime/kelsey-carpenter-home-birth-newborn-death-b2313434.html

https://www.theguardian.com/us-news/2023/apr/03/pregnancy-birth-murder-charge-kelsey-carpenter-san-diego?CMP=Share_iOSApp_Other



Tags: , , , , , , , , ,