ทักษะการพิมพ์ดีดเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของโลกยุคปัจจุบันที่คนส่วนมากควรมี หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ และด้วยโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะการพิมพ์ดีดอาจพัฒนาจากแค่ ‘ทักษะ’ กลายเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของคนรุ่นหลังไปเลย
การพิมพ์ดีดแบบสัมผัสอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องก้มหน้ามองแป้นพิมพ์ ยังเป็นทักษะเฉพาะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์เป็นเวลานาน แต่ว่าในโลกอนาคต เราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการพิมพ์ด้วยนิ้วมือแล้ว เพราะเราสามารถใช้สมองในการพิมพ์แทน
ถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของเทคโนโลยี BCI หรือ Brain-Computer Interface (ระบบการทำงานร่วมกันระหว่างคอมพิมเตอร์และสมอง) โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้พัฒนาระบบเซนเซอร์ปลูกถ่ายสมอง ที่ช่วยให้ชายเป็นอัมพาตทางมือสามารถพิมพ์ได้ถึง 90 ตัวอักษรต่อนาทีผ่านทางความคิดของเขา
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยของพวกเขาไปตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่งได้รับการนำเสนอที่ WE Summit ซึ่งเป็นการประชุมทางไกลทางวิทยาศาสตร์ จัดโดย Tencent หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนในวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ระบบการปลูกถ่ายสมองแบบเก่าช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านการย้ายเคอร์เซอร์ไปยังอักขระเฉพาะบนแป้นพิมพ์ดิจิทัลด้วยความคิด แต่เทคโนโลยีการปลูกถ่ายประสาทเทียมแบบใหม่นี้ ผู้ป่วยจะสามารถพิมพ์ได้โดยจินตนาการว่าตัวเองกำลังเขียนคำด้วยมือ ซึ่งใช้ AI ในการถอดรหัสสัญญาณประสาทเพื่อแสดงคำลงบนหน้าจอ
สำหรับเรื่องของความแม่นยำนั้น พวกเขาทำการรวบรวมและปลูกถ่ายระบบประสาทเทียมเข้ากับฟังก์ชัน Auto Correct (แก้ไขอัตโนมัติ) จึงส่งผลให้มีอัตราความแม่นยำในการพิมพ์ถึง 99% ด้วยอัตราความเร็ว 90 คำต่อนาที ซึ่งถือว่าน่าประทับใจมาก เมื่อเทียบกับว่าความเร็วเฉลี่ยในการพิมพ์ดีดปกติที่อยู่ประมาณ 40 คำต่อนาทีเท่านั้น โดยตอนนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่าชายผู้เข้าทดสอบเป็นนักพิมพ์ดีดด้วยใจที่เร็วที่สุดในโลก
“นี่เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะว่าเมื่อเราเข้าใจสมองด้วยวิทยาศาสตร์ของประสาทวิทยาจริงๆ ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เราน่าจะสามารถทำงานได้ดีขึ้น และหลากหลายยิ่งขึ้น” คริชนา ชีนอย (Krishna Shenoy) หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ กล่าวในการประชุมออนไลน์ WE Summit
นอกจากนี้ ชีนอยยังกล่าวอีกว่าความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดที่นักวิจัยด้านประสาทเทียมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือการทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่ต้องการในตลาดจริงๆ (Commercializing) เขายกตัวอย่างบริษัทต่างๆ เช่น Neuralink ของ อีลอน มัสก์ ที่กำลังพยายามผลักดันการปลูกถ่ายสมองให้เป็นมากกว่าแค่ยา (Medicine) และเข้าสู่ขอบเขตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ชีนอยหวังว่าจะมีบริษัทเอกชนสนใจจะลงทุนมากขึ้นในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของพวกเขา แต่ต้องยอมรับว่าการโน้มน้าวผู้คนให้ฝังเซนเซอร์ในสมองเป็นโจทย์หนึ่งที่ยังต้องสร้างความวางใจ และการทำศัลยกรรมประสาทเทียมก็มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น พวกเขาต้องหาวิธีในการลดราคาต้นทุนเทคโนโลยีนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Tags: Technology, BCI, Brain Implant, พิมพ์ดีด